จากบล็อกเกอร์สู่ผู้ทรงอิทธิพลวงการแฟชั่น

24 มี.ค. 2554
15 มีนาคม พ.ศ. 2554

เรื่องราวของ สก๊อต ชูแมน ถ่ายทอดผ่านวิดีโอของอินเทล ในแคมเปญ "วิชวล ไลฟ์" ที่สร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ให้คนทั่วโลก

"ผมรู้สึกโชคดีมากที่ได้ใช้ชีวิตแบบ "วิชวล ไลฟ์"...ความสุขที่แท้จริงที่ผมได้รับคือการที่ผมได้ออกไปข้างนอกสัก 4–5 ชั่วโมง เข้าไปอยู่ในโลกที่ทุกคนอยู่ เพื่อเปิดโลกทัศน์ของตัวเอง เชื่อมโยงกับสิ่งที่เห็น และตอบสนองกับสิ่งที่ได้เห็น และสามารถนำมาสร้างสรรค์บล็อกที่ดีเพื่อแบ่งปันกับทุกคนต่อไป"

สก๊อต ชูแมน, The Satorialist

Intel Visual Life : The Satorialist เป็นหนังสั้นความยาว 7 นาที ที่ถ่ายทอดเบื้องหลังของ สก๊อต ชูแมน แฟชั่นบล็อกเกอร์ระดับโลก เจ้าของบล็อก The Satorialist ที่มีผู้เข้าชมอย่างล้นหลามกว่า 70,000 คนต่อวัน หนังสั้นเรื่องนี้ติดตามเบื้องหลังชีวิตจริงของชูแมนในหนึ่งวัน ตั้งแต่เข้าร้านทำผม เดินเล่นในย่านแมนฮัตตัน และเข้าไปพูดคุยกับผู้คนตามถนนเพื่อขอถ่ายรูป อินเทลได้ถ่ายทอดเรื่องราวการใช้ภาพและเทคโนโลยีเพื่อการสร้างสรรค์และเป็นแรงบันดาลใจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ “วิชวล ไลฟ์” (Visual Life) ของอินเทลที่ใช้ภาพในการสื่อสารการใช้เทคโนโลยีกับไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่

สก๊อต ชูแมน เป็นช่างภาพที่เรียนและฝึกฝนการถ่ายภาพด้วยตัวเอง บล็อก The Satorialist (thesartorialist.blogspot.com) ของชูแมนได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ที่ชื่นชอบแฟชั่นทั่วโลก และยังโด่งดังในหมู่บรรณาธิการและคนในวงการแฟชั่นเป็นอย่างมาก ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งสื่อที่มีอิทธิพลต่อการตอบรับแฟชั่นของคนทั่วโลก

ชูแมนริเริ่มการถ่ายภาพแฟชั่นลงบล็อก เขาเริ่มบล็อกครั้งแรกในปี 2005 หลังจากลาออกจากการเป็นเซลล์ของแบรนด์เสื้อผ้าเพื่อมาเลี้ยงดูลูกสาว เขาเริ่มถือกล้องติดตัวไปไหนมาไหนในนิวยอร์ค และถ่ายรูปผู้คนที่มีอะไรบางอย่างที่ดึงดูดสายตาเขา จากนั้นก็โพสต์รูปภาพลงในบล็อก แค่เพียงไม่นาน บล็อก The Sartorialist ก็กลายเป็นบล็อกยอดนิยมของบรรดาผู้ที่ชื่นชอบแฟชั่นและคนในวงการ รูปภาพของชูแมนมีทั้งรูปของแฟชั่นเซเลบริตี้อย่าง คาร์ล เลเกอร์เฟลด์ ไปจนถึงคนเดินถนนทั่วไปทั้งในปารีส นิวเยอร์ค ลอนดอน ฟลอเรนซ์ และมิลาน จากความนิยมที่ชูแมนได้รับ เขาจึงได้รับการติดต่อให้ทำงานกับ style.com และแมกกาซีน GQ ของอเมริกา และยังร่วมงานกับแบรนด์ดังๆ อีกมากมาย อาทิ Saks Fifth Avenue, GAP และBurberry ในปี 2009 The Sartorialist ได้รับการโหวตให้เป็นหนึ่งในผู้ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในวงการดีไซเนอร์จากนิตยสารไทม์ ชูแมนกล่าวว่าเขาอยากจะถ่ายภาพสตรีทแฟชั่นแบบนี้ต่อไปอีก 30 หรือ 40 ปี เขาบอกว่าภาพพวกนี้ "จะเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากจากนี้ไปอีก 100 ปี" เมื่อรสนิยมและแฟชั่นได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

สก๊อต ชูแมน เคยให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ฮันทิงตัน โพสต์ ว่าเขาเริ่มบล็อกด้วยเหตุผลที่ว่า“สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการทำบล็อกรูปภาพคือคุณไม่จำเป็นต้องรู้ภาษาอังกฤษ ก็สามารถสนุกกับรูปภาพได้...อาจมีหลายคนที่อยากจะแบ่งปันความเห็นด้านแฟชั่น หรือฝันอยากเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ อยากย้ายไปอยู่ที่นิวยอร์คหรือมิลาน แต่ด้วยเหตุผลทางครอบครัวหลายๆ อย่าง พวกเขาไม่สามารถทำได้อย่างใจคิด และต้องติดอยู่ในวิสคอนซินหรือที่ไหนก็ตาม บล็อกนี้เป็นโอกาสให้พวกเขาได้สัมผัสแฟชั่น เขาสามารถเขียนคอมเมนท์ ติดตามแฟชั่นและแบ่งปันกับคนอื่นๆได้ ปัจจุบันบล็อก The Sartorialist (thesartorialist.blogspot.com) มีผู้เข้าชมกว่า 3 ล้านต่อเดือน และได้กลายมาเป็นบล็อกที่คนในวงการแฟชั่นต้องอ่าน

วิดีโอ Intel Visual Life : The Satorialist ได้สร้างกระแสในโลกไซเบอร์เป็นอย่างมากทั้งทางเว็บไซต์ YouTube และ Social Media ต่างๆ โดยวิดีโอใน YouTube มีผู้ชมกว่า 600,000 ครั้ง และวิดีโอนี้ยังได้รับการแชร์ผ่านเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลกอีกด้วย แคมเปญ Visual Life เป็นส่วนหนึ่งของการเปิดตัว อินเทล™ คอร์™ โปรเซสเซอร์ เจนเนอเรชั่น 2 ซึ่งเป็นชิปตระกูลล่าสุดที่ช่วยสร้างสรรค์ประสบการณ์ในการใช้คอมพิวเตอร์ได้อย่างฉลาดล้ำจนผู้ใช้สามารถสัมผัสได้ ไม่ว่าจะใช้คอมพิวเตอร์กับสื่อดิจิตอลต่างๆ เล่นเกม ดูหนัง หรือใช้ทำงานโดยทั่วไป แคมเปญนี้สามารถสื่อสารกับผู้ใช้เทคโนโลยีทั่วโลกได้เป็นอย่างดีด้วยการนำเสนอในรูปแบบของวิดีโอซีรี่ส์หลากหลายเวอร์ชั่นในโลกออนไลน์ วิดีโอแต่ละเรื่องล้วนสร้างกระแสให้เกิดการบอกต่อและแลกเปลี่ยนความเห็นในหมู่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่ได้ชมวิดีโอจากแคมเปญนี้อีกด้วย

เทคโนโลยีทำให้เรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นได้

แฟชั่นนิสต้าสามารถรับชมเรื่องราวเบื้องหลังความสำเร็จของ The Sartorialist ได้ทาง www.intel.com/visuallife/ หรือติดตามชมวิดีโอใหม่ๆ และแคมเปญที่น่าสนใจของอินเทลได้ที่ www.intel.com/th, blogs.intel.com, ทวิตเตอร์ @Intelthailand และ เฟสบุ๊ค IntelThailand
Read more ...

"ปัญหา" ของ "พัฒนาการ" ในวงการลูกหนังปลาดิบ

12 มี.ค. 2554
ที่มา นสพ.มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 11 มีนาคม 2554

เมื่อต้นสัปดาห์สื่อแดนอาทิตย์อุทัยมีวาระเล็กๆ ให้ได้เฉลิมฉลองกันอย่างครึกครื้น เมื่อ

ยูโตะ นากาโตโมะ ฟูลแบ๊คทีมชาติญี่ปุ่น 

ทำประตูให้ต้นสังกัด อินเตอร์ มิลานได้เป็นครั้งแรกในเกมกัลโช่ เซเรียอา หลังย้ายจาก เชเซน่า สู่ถิ่นซาน ซิโร่ ด้วยสัญญายืมตัวเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

เป็นเหตุการณ์พิเศษที่หนังสือพิมพ์บางฉบับบอกว่า ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์วงการลูกหนังแดนปลาดิบ เนื่องจากนี่เป็นประตูที่นักเตะเลือดซามูไรทำได้ในการลงเล่นให้หนึ่งในทีมชั้นนำของลีกอิตาลี เพราะที่ผ่านมา แม้จะเคยมีรุ่นพี่รุ่นน้ายิงได้ ก็ไม่ใช่กับทีมใหญ่ขนาดนี้

ก้าวเล็กๆ ของนากาโตโมะยิ่งเหมือนการตอกย้ำความสำเร็จของทีมชาติญี่ปุ่นเจ้าของฉายา "ซามูไรสีน้ำเงิน" ในเวทีโลก ต่อจากการคว้าแชมป์ เอเชี่ยนคัพ มาครองเป็นสมัยที่ 4 เมื่อต้นปี ซึ่งมากกว่าทีมใดๆ ในประวัติศาสตร์การแข่งขัน

และถ้าย้อนไปไกลกว่านั้นก็คือ ฟุตบอลโลก 2010 ที่ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งญี่ปุ่นผ่านเข้ารอบสองในฐานะอันดับ 2 ของกลุ่มอี ทั้งที่มีคู่แข่งหินๆ อย่างเนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก และแคเมอรูน ก่อนไปแพ้ดวลลูกโทษปารากวัยอย่างฉิวเฉียดในรอบต่อมา

หลังสิ้นสุดเวิลด์คัพ มีนักเตะจากญี่ปุ่นได้ย้ายไปค้าแข้งในลีกบุนเดสลีก้าของเยอรมนีถึง 6 คน และหลังคว้าแชมป์เอเชี่ยนคัพก็ยิ่งมีสโมสรจากยุโรปสนใจดึงตัวแข้งปลาดิบไปร่วมทีมมากขึ้น ซึ่งกรณีของนากาโตโมะก็เป็นหนึ่งในนั้น

อัฟชิน ก็อตบี้ ผู้ช่วยโค้ชทีม ชิมิซุ เอส-พัลส์ ในเจ-ลีก 

ซึ่งพาทีมอิหร่านผ่านเข้าถึงรอบก่อนรองชนะเลิศเอเชี่ยนคัพ 2011 บอกว่า คุณสมบัติของนักเตะญี่ปุ่นที่ทำให้เป็นที่ต้องตาของสโมสรในยุโรปก็คือ เทคนิคดี ฉลาดเล่น ขยัน มีวินัย และเหนือสิ่งอื่นใดคือความทุ่มเทให้ทีม

ก็อตบี้แสดงทรรศนะด้วยว่า การได้ไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในลีกยุโรปช่วยพัฒนาฝีเท้าของเหล่าสตาร์ทีมชาติญี่ปุ่นได้ดี ขณะเดียวกันการ "อพยพย้ายถิ่น" ซึ่งเกิดต่อเนื่องเป็นระลอกในขณะนี้ยังช่วยเปิดโอกาสให้แข้งเยาวชนมีโอกาสเริ่มต้นพัฒนาตัวเองจากการเล่นในเจ-ลีกด้วยถือเป็นสถานการณ์ที่ "วิน-วิน" สำหรับทุกฝ่าย

อย่างไรก็ตาม สภาวการณ์เดียวกันนี้เมื่อมองมุมกลับจากสโมสรในเจ-ลีก กลับกลายเป็นปัญหาใหญ่หลวงที่ไม่มีแววว่าจะคลี่คลายในเร็ววัน

เนื่องเพราะ "เหตุผล" อีกประการที่ทำให้สโมสรยุโรปสนใจดึงตัวนักเตะญี่ปุ่นไปร่วมทีมก็คือเรื่อง "ค่าตัว" ที่ถูกแสนถูก หรือที่สื่อญี่ปุ่นเรียกกันว่า "ย้ายทีมในราคาศูนย์เยน" นั่นเอง

ปัญหาดังกล่าวเป็นผลพวงจากยุคแรกเริ่มราวทศวรรษที่ 1990 ซึ่งเจ-ลีกตัดสินใจล้อการทำสัญญาของลีกเบสบอลอาชีพ ที่ได้รับความนิยมกว่ามากในตอนนั้น

ลีกเบสบอลของญี่ปุ่นนั้น โดยมากนักกีฬาจะเซ็นสัญญากับสโมสรหนึ่งๆ เพียงปีเดียว และพร้อมทุ่มเทให้กับต้นสังกัดอย่างสุดกำลัง โดยเป็นเหมือนสัญญาใจระหว่างนักกีฬากับสโมสร และสัญญาสุภาพบุรุษระหว่างสโมสรด้วยกันเองว่าจะไม่มีการทุ่มเงินมหาศาลดึงใครไปจากทีมไหนกลางคันเด็ดขาด

เมื่อเจ-ลีกนำระบบนี้มาใช้เมื่อราว15 ปีก่อน ทุกอย่างเป็นไปโดยราบรื่นเนื่องจากคราวนั้น มาตรฐานลูกหนังแดนอาทิตย์อุทัยยังห่างจากยุโรปมาก แต่เมื่อแผนพัฒนาเยาวชนทีมชาติอย่างต่อเนื่องผลิดอกออกผลเป็นผลงานที่เห็นจริงจับต้องได้ ลีกยุโรปที่ไม่ได้ร่วมทำสัญญาใจ แต่แรกเริ่มจึงสามารถดึงตัวนักเตะไปร่วมทีมได้โดยง่าย แถมในราคาที่ถูกสุดสุด อาทิกรณีของ

ชินจิ คากาว่า 

ที่ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ซื้อตัวจาก เซเรโซ่ โอซาก้า ในราคาเพียง 350,000 ยูโร (14.7 ล้านบาท) เมื่อปีที่แล้ว ขณะที่ราคาประเมินของกองกลางดาวรุ่งวัย 21 ปี ในขณะนี้อยู่ที่ 20 ล้านยูโร (840 ล้านบาท)

ซึ่งเป็นมูลค่าที่สามารถซื้อนักเตะทั้งเจ-ลีกได้ในปัจจุบัน!!

การสูญเสียนักเตะพรสวรรค์จำนวนมากมายให้กับสโมสรยุโรปแบบไม่คุ้มทุนไม่คุ้มค่าความเหนื่อยยากที่อุตส่าห์ปลุกปั้นกันมา กลายเป็นประเด็นให้สื่อญี่ปุ่นเรียกร้องความเปลี่ยนแปลง แม้ใจหนึ่งจะรู้สึกยินดีที่ได้เห็นนักเตะจากประเทศของตัวเองไปโชว์ศักยภาพในเวทีระดับโลกก็ตาม

แต่สำหรับสโมสรเจ-ลีกแล้วนี่ยิ่งเป็นสถานการณ์ที่เสียกับเสีย เพราะเมื่อเสียนักเตะดีๆ ไปหมด ก็ต้องเริ่มมองหากำลังเสริม และกลายเป็น "เทรนด์" ใหม่อิมพอร์ตแข้งออสเตรเลียเข้าลีกจำนวนมากมายในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม การขาดนักเตะท้องถิ่นระดับแม่เหล็กหลายคน อาจกระทบต่อความสนใจจากแฟนๆ ได้

แถมยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่ไม่เอื้ออำนวย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่ประเทศญี่ปุ่นกำลังเผชิญ หรือการที่ทีมในเจ-ลีกส่วนใหญ่ยังอยู่ในระบบเดิมคือ โดยมากมักมีบริษัทเอกชนเป็นเจ้าของ ทำให้ผู้บริหารไม่ใช่มืออาชีพด้านกีฬาอย่างแท้จริง จึงขาดแผนพัฒนาองค์กรที่ดี

ยังดีว่าแฟนๆ ของเจ-ลีกยังค่อนข้างเหนียวแน่น ดังปรากฏว่ายอดผู้ชมเกมลีกในสนามเมื่อฤดูกาล 2010 เฉลี่ยอยู่ที่นัดละ 18,500 คน ซึ่งถือว่าน่าพอใจมากๆ

แต่ด้วยความเป็นไปในปัจจุบัน จะยังคงประคองให้ทุกอย่างเดินหน้าไปเรื่อยๆ โดยไม่สะดุดได้หรือไม่นั้น ไม่มีใครบอกได้จริงๆ
Read more ...

ทำอย่างไรให้เป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์

9 มี.ค. 2554
1. ลืมๆคำวิจารณ์ของคนอื่นซะบ้าง

2. ไม่จำเป็นต้องสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ แต่จงเปลี่ยนแปลงโลกแม้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆก็ตาม

3. ลงแรง ลงเวลา ความตั้งใจและมานะลงมือทำเป็นสิ่งเดียวที่แยกผู้ประสบความสำเร็จออกจากผู้ล้มเหลว

4. วางแผนลงรายละเอียดระยะยาวให้น้อยลง ลงมือทำให้มากขึ้น

5. จงเป็นเพื่อนสนิทกับความล้มเหลว

6. เชื่อเถอะว่าทุกคนเกิดมามีความคิดสร้างสรรค์อยู่ในตัวกันทุกคน

7. อย่าได้พยายามจะเป็นจุดเด่นในคนหมู่มาก แต่จงหลีกหนีการทำตัวเหมือนคนหมู่มากแทน

8. ถ้ารู้จักที่จะยอมรับความล้มเหลว คุณก็จะไม่เจ็บ

9. คิดถึงเงินและผลตอบแทนให้น้อยๆ ทำสิ่งที่ใจอยากทำให้มากๆ

10. จงเป็นมนุษย์เจ้าปัญหาและ ตั้งคำถามให้มากๆ
Read more ...

ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ ๑

7 มี.ค. 2554
ราษฎรทั้งหลาย

เมื่อกษัตริย์องค์นี้ได้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระเชษฐานั้น ในชั้นต้นราษฎรบางคนได้หวังกันว่ากษัตริย์องค์ใหม่นี้จะปกครองราษฎรให้ร่มเย็น แต่การณ์ก็หาได้เป็นไปตามที่คิดหวังกันไม่ กษัตริย์คงทรงอำนาจอยู่เหนือกฎหมายเดิม ทรงแต่งตั้งญาติวงศ์และคนสอพลอไร้คุณความรู้ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญๆ ไม่ทรงฟังเสียงราษฎร ปล่อยให้ข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต มีการรับสินบนในการก่อสร้างและการซื้อของใช้ในราชการ หากำไรในการเปลี่ยนเงิน ผลาญเงินของประเทศ ยกพวกเจ้าขึ้นให้สิทธิพิเศษมากกว่าราษฎร กดขี่ข่มเหงราษฎร ปกครองโดยขาดหลักวิชา ปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามยถากรรม ดังที่จะเห็นได้จากความตกต่ำในทางเศรษฐกิจและความฝืดเคืองในการทำมาหากินซึ่งพวกราษฎรได้รู้กันอยู่โดยทั่วไปแล้ว รัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมายมิสามารถแก้ไขให้ฟื้นขึ้นได้

การที่แก้ไขไม่ได้ก็เพราะรัฐบาลของกษัตริย์มิได้ปกครองประเทศเพื่อราษฎรตามที่รัฐบาลอื่นๆ ได้กระทำกัน รัฐบาลของกษัตริย์ได้ถือเอาราษฎรเป็นทาส (ซึ่งเรียกว่าไพร่บ้าง ข้าบ้าง) เป็นสัตว์เดียรัจฉาน ไม่นึกว่าเป็นมนุษย์ เหตุฉะนั้น แทนที่จะช่วยราษฎร กลับพากันทำนาบนหลังราษฎร จะเห็นได้ว่า ภาษีอากรที่บีบคั้นเอาจากราษฎรนั้น กษัตริย์ได้หักเอาไว้ใช้ปีหนึ่งเป็นจำนวนหลายล้าน ส่วนราษฎรสิ กว่าจะหาได้แม้แต่เล็กน้อย เลือดตาแทบกระเด็น ถึงคราวเสียเงินราชการหรือภาษีใดๆ ถ้าไม่มีเงินรัฐบาลก็ยึดทรัพย์หรือใช้งานโยธา แต่พวกเจ้ากลับนอนกินกันเป็นสุข ไม่มีประเทศใดในโลกจะให้เงินเจ้ามากเช่นนี้ นอกจากพระเจ้าซาร์และพระเจ้าไกเซอร์เยอรมัน ซึ่งชนชาตินั้นก็ได้โค่นราชบัลลังก์ลงเสียแล้ว

รัฐบาลของกษัตริย์ได้ปกครองอย่างหลอกลวงไม่ซื่อตรงต่อราษฎร มีเป็นต้นว่าหลอกว่าจะบำรุงการทำมาหากินอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ครั้นคอยๆ ก็เหลวไป หาได้ทำจริงจังไม่ มิหนำซ้ำกล่าวหมิ่นประมาทราษฎรผู้มีบุญคุณเสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้กิน ว่าราษฎรยังมีเสียงทางการเมืองไม่ได้ เพราะราษฎรโง่ คำพูดของรัฐบาลเช่นนี้ใช้ไม่ได้ ถ้าราษฎรโง่ เจ้าก็โง่เพราะเป็นคนชาติเดียวกัน ที่ราษฎรรู้ไม่ถึงเจ้านั้นเป็นเพราะขาดการศึกษาที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่ เพราะเกรงว่าเมื่อราษฎรได้มีการศึกษา ก็จะรู้ความชั่วร้ายที่พวกเจ้าทำไว้ และคงจะไม่ยอมให้เจ้าทำนาบนหลังคนอีกต่อไป

ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้ช่วยกันกู้ให้ประเทศเป็นอิสรภาพพ้นมือจากข้าศึก พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบและกวาดทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน เงินเหล่านี้เอามาจากไหน? ก็เอามาจากราษฎรเพราะวิธีทำนาบนหลังคนนั้นเอง บ้านเมืองกำลังอัตคัดฝืดเคือง ชาวนาและพ่อแม่ทหารต้องทิ้งนา เพราะทำนาไม่ได้ผล รัฐบาลไม่บำรุง รัฐบาลไล่คนงานออกอย่างเกลื่อนกลาด นักเรียนที่เรียนสำเร็จแล้วและทหารที่ปลดกองหนุนแล้วก็ไม่มีงานทำ จะต้องอดอยากไปตามยถากรรม เหล่านี้เป็นผลของกษัตริย์เหนือกฎหมาย บีบคั้นข้าราชการชั้นผู้น้อย นายสิบ และเสมียน เมื่อให้ออกจากงานแล้วก็ไม่ให้เบี้ยบำนาญ ความจริงควรเอาเงินที่พวกเจ้ากวาดรวบรวมไว้มาจัดบำรุงบ้านเมืองให้คนมีงานทำ จึงจะสมควรที่สนองคุณราษฎรซึ่งได้เสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้ร่ำรวยมานาน แต่พวกเจ้าก็หาได้ทำอย่างใดไม่ คงสูบเลือดกันเรื่อยไป เงินเหลือเท่าไหร่ก็เอาไปฝากต่างประเทศ คอยเตรียมหนีเมื่อบ้านเมืองทรุดโทรม ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก การเหล่านี้ย่อมชั่วร้าย

เหตุฉะนั้น ราษฎร ข้าราชการ ทหาร และพลเรือน ที่รู้เท่าถึงการกระทำอันชั่วร้ายของรัฐบาลดังกล่าวแล้ว จึงรวมกำลังตั้งเป็นคณะราษฎรขึ้น และได้ยึดอำนาจของกษัตริย์ไว้ได้แล้ว คณะราษฎรเห็นว่าการที่จะแก้ความชั่วร้ายนี้ได้ก็โดยที่จะต้องจัดการปกครองโดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลายๆ ความคิดดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น คณะราษฎรไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงราชสมบัติ ฉะนั้น จึงได้อัญเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร คณะราษฎรได้แจ้งความประสงค์นี้ให้กษัตริย์ทราบแล้ว เวลานี้ยังอยู่ในความรับตอบ ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนดโดยเห็นแก่ส่วนตนว่าจะถูกลดอำนาจลงมาก็จะชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองแบบอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกตั้งขึ้น อยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา ตามวิธีนี้ราษฎรพึงหวังเถิดว่าราษฎรจะได้รับความบำรุงอย่างดีที่สุด ทุกๆ คนจะมีงานทำ เพราะประเทศของเราเป็นประเทศที่อุดมอยู่แล้วตามสภาพ เมื่อเราได้ยึดเงินที่พวกเจ้ารวบรวมไว้จากการทำนาบนหลังคนตั้งหลายร้อยล้านมาบำรุงประเทศขึ้นแล้ว ประเทศจะต้องเฟื่องฟูขึ้นเป็นแม่นมั่น การปกครองซึ่งคณะราษฎรจะพึงกระทำก็คือ จำต้องวางโครงการอาศัยหลักวิชา ไม่ทำไปเหมือนคนตาบอด เช่นรัฐบาลที่มีกษัตริย์เหนือกฎหมายทำมาแล้ว เป็นหลักใหญ่ๆ ที่คณะราษฎรวางไว้ มีอยู่ว่า

๑.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่นเอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง

๒.จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก

๓.ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

๔.จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้)

๕.จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการดังกล่าวข้างต้น

๖.จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

ราษฎรทั้งหลายจงพร้อมใจกันช่วยคณะราษฎรให้ทำกิจอันจะคงอยู่ชั่วดินฟ้านี้ให้สำเร็จ คณะราษฎรขอให้ทุกคนที่มิได้ร่วมมือเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลกษัตริย์เหนือกฎหมายพึงตั้งตนอยู่ในความสงบและตั้งหน้าทำมาหากิน อย่าทำการใดๆ อันเป็นการขัดขวางต่อคณะราษฎร การที่ราษฎรช่วยคณะราษฎรนี้ เท่ากับราษฎรช่วยประเทศและช่วยตัวราษฎร บุตร หลาน เหลน ของตนเอง ประเทศจะมีความเป็นเอกราชอย่างพร้อมบริบูรณ์ ราษฎรจะได้รับความปลอดภัย ทุกคนจะต้องมีงานทำไม่ต้องอดตาย ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกัน และมีเสรีภาพพ้นจากการเป็นไพร่ เป็นข้า เป็นทาสพวกเจ้า หมดสมัยที่เจ้าจะทำนาบนหลังราษฎร สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนาคือ ความสุขความเจริญอย่างประเสริฐซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า “ศรีอาริยะ” นั้น ก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า

คณะราษฎร

๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕
Read more ...

ความคิดเห็นล่าสุด

Recent Comments Widget