การผ่าตัดมะเร็งทำให้โรคแพร่กระจายจริงหรือ

19 เม.ย. 2554
การผ่าตัดมะเร็งทำให้โรคแพร่กระจายจริงหรือ

ในปัจจุบัน ข่าวสารต่างๆ ที่เราได้รับมีอยู่มากมาย โดยเฉพาะจากอินเตอร์เน็ท และ ข่าวสารเหล่านั้น เราก็ได้รับโดยไม่เห็นตัว หรือรู้จักตัวผู้เขียน การรับรู้ข่าวสารจากแหล่งดังกล่าว จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังอย่างมาก โดยเฉพาะข่าวสารทางด้านการแพทย์ มีการให้ข้อมูลด้วยวัตถุประสงค์ต่างๆกัน ในคนที่เจ็บป่วยและมีความเดือดร้อน ย่อมจะร้อนใจที่จะรับข่าวสาร เมื่อได้รับรู้เรื่องใดมา ก็มักจะเชื่อ ยิ่งถ้าได้ข้อมูลดังกล่าวหลายๆ ครั้ง หรือจากหลายๆทางก็ยิ่งรู้สึกเชื่อเข้าไปอีก อย่างเช่น เรื่องที่เป็นหัวเรื่องบทความนี้ “การผ่าตัดมะเร็งทำให้โรคแพร่กระจายจริงหรือ”

คนที่ป่วย และรู้ตัวว่าเป็นมะเร็งก็มีความกลัวเป็นต้นทุนอยู่แล้ว เมื่อทราบว่า หนึ่งในขั้นตอนการรักษา คือ การผ่าตัด ด้วยความไม่รู้ จึงเกิดความกลัวเพิ่มขึ้น เมื่อมีคนมาบอกว่า เป็นมะเร็งอย่าผ่าตัด เพราะโรคจะกระจาย จึงทำให้มีใจคิดที่จะเชื่อคำดังกล่าวมากขึ้น ลองมาดูซิว่า การผ่าตัดมะเร็งทำให้โรคแพร่กระจายจริงหรือ?

การผ่าตัด มีผลกับการเติบโตของเซลล์มะเร็งหรือไม่

การผ่าตัด จัดเป็นอันตรายอย่างหนึ่งที่เกิดกับร่างกายของเรา ทำให้เกิดบาดแผล แต่โดยทั่วไป เหตุที่ต้องทำการผ่าตัด เพราะการกระทำดังกล่าว จะใช้เพื่อการรักษาโรค และ เมื่อหมอทำการผ่าตัด แล้ว ก็จะซ่อมแซมบาดแผลดังกล่าวให้กลับใช้งานได้ดังเดิม หรือ ใกล้เคียงเดิม ด้วยความที่การผ่าตัดเป็นอันตรายต่อร่างกายที่มนุษย์ทำขึ้น โดยธรรมชาติร่างกายจะรับรู้ และ มีการตอบสนองต่ออันตรายนั้น ในเบื้องต้น ก็มีเรื่องของการรับรู้ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น

จากนั้น ก็มีกลไกการห้ามเลือดตามมาเพื่อให้บริเวณผ่าตัดนั้นหยุดการสูญเสียเลือด ซึ่งกระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ภายหลังจากการผ่าตัด ยังมีขบวนการอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย เช่น การซ่อมสร้าง หรือ การหายของแผลผ่าตัด ซึ่งจะมีเซลล์เยื่อบุผิว มาทำหน้าที่สมานผิวหนังหรือผิวเยื่อบุภายในร่างกายให้กลับเข้าที่ เซลล์เม็ดเลือดขาวมากำจัดเชื้อโรค เซลล์เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน มาสร้างเนื้อหรือ พังผืด ฯลฯ ขบวนการเหล่านี้มีอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่นาทีแรกของการได้รับบาดแผล และจะมีมากสุดในช่วง 7 วันแรก แต่จะยังมีต่อเนื่องไปเป็นเวลาแรมเดือน

ขบวนการดังกล่าวนั้น มีวัตถุประสงค์ในการทำให้เนื้อเยื่อของร่างกายกลับสู่สภาพเดิมโดยเร็ว ซึ่งในขบวนการเหล่านี้ จะมีตัวเร่งปฏิกริยา ซึ่งหลั่งออกมาจากสมอง และ ส่วนอื่นๆของร่างกาย เพื่อให้ขั้นตอนต่างๆ ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว และ มีประสิทธิภาพ เช่น การใช้สารอาหารมากขึ้น การมีเลือดหล่อเลี้ยงมากขึ้น การแบ่งตัวของเซลล์มากขึ้น ฯลฯ จุดนี้เอง จึงเป็นที่มาของประโยค หรือข้อความที่ว่า “การผ่าตัดมะเร็งทำให้โรคแพร่กระจายจริงหรือ?” เพราะขบวนการที่เร่งให้เซลล์ต่างๆ โตขึ้น ก็ย่อมสามารถเร่งให้เซลล์มะเร็งโตขึ้นด้วยเช่นกัน

คนส่วนใหญ่กลัวการผ่าตัด และเชื่อว่าการผ่าตัดแบบไหนจะมีผลต่อการกระจายของเซลล์มะเร็ง
คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าการผ่าตัด ไม่ว่าจะเป็นเจาะ เป็นผ่า เป็นตัด ล้วนจะได้รับผล ทำให้เซลล์มะเร็งแพร่กระจายทั้ง นั้น แต่ในความเป็นจริง การกระตุ้นให้เซลล์โตขึ้นนั้น มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของบาดแผลที่เกิดขึ้น กรณีที่มีบาดแผลขนาดใหญ่ การกระตุ้นจะมีมาก แต่หากเป็นการบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย เช่น เข็มแทง การกระตุ้นก็จะไม่มากนัก และอย่าลืมว่า การกระตุ้นดังกล่าวต้องใช้เวลา ไม่ใช่ บาดเจ็บปุ๊บ เซลล์โตปั๊บและ ถ้าหาก ไม่มีเซลล์มะเร็งเหลืออยู่ในร่างกาย หรือ เหลืออยู่น้อยมาก การกระตุ้นให้เกิดการกระจาย หรือ การโตขึ้นของเซลล์มะเร็งก็เป็นไปได้น้อย หรือ เป็นไปได้ยากเช่นเดียวกัน

คนเป็นมะเร็งทำไมต้องรับการผ่าตัด

การผ่าตัดในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นมะเร็งนั้น มีการผ่าตัดอยู่ 2 ช่วง

ช่วงแรก คือ การผ่าตัดเพื่อให้ได้ชิ้นเนื้อเพื่อมาพิสูจน์ว่าเป็นมะเร็งจริงหรือไม่ มักจะเรียกขั้นตอนนี้ว่า การเจาะเนื้อตรวจ การดูดเนื้อตรวจ การตัดเนื้อตรวจ หรือ สะกิดเนื้อเพื่อไปตรวจดู ฯลฯ แล้วแต่จะเรียก และ แล้วแต่ปริมาณ ชิ้นเนื้อที่นำออกไปมากหรือน้อยเพียงใด ใน

ช่วงที่ 2 คือ การผ่าตัด เพื่อให้เนื้อส่วนที่เป็นมะเร็งออกไปจากร่างกายทั้งหมด เป็นส่วนของการรักษา

ในขั้นตอนของการนำชิ้นเนื้อไปตรวจนั้น มีความจำเป็นอย่างมาก เพราะการรักษาผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็ง กับผู้ที่ไม่เป็นมะเร็งจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง การรักษามะเร็งเพื่อหวังให้ผู้ป่วยหาย 

จะต้องควบคุมไม่ให้มีมะเร็งเหลืออยู่ 

จะด้วยการผ่าตัด ให้ยา หรือ ฉายแสง ก็ตาม ล้วนแต่เป็นการรักษาที่เฉพาะเจาะจงอย่างเอาจริงเอาจัง และ ทำให้ผู้ป่วยอาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้ ซึ่งผิดกับกรณีที่ไม่ใช่มะเร็ง การรักษาก็ไม่ต้องมากเท่ากับการรักษาผู้ป่วยที่เป็นมะเร็ง 

ดังนั้นบางคนบอกว่า หากสงสัยมะเร็ง ลองหาวิธีการอื่นๆ รักษาดูก่อนไม่ดีกว่าหรือ อย่าเพิ่งไปผ่าตัด หรือ เจาะชิ้นเนื้อเลย ก็ถือว่าเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะหากรักษาด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ก็เท่ากับว่าเปิดเวลาให้มะเร็งค่อยๆ โตขึ้น ขณะเดียวกัน หากโรคนั้นไม่ใช่มะเร็ง ก็ไม่จำเป็นต้องรับการรักษาใดๆ ดังนั้น การลองรักษาด้วยวิธีอื่นๆ จึงเป็นการรักษาที่สูญเปล่า

การเจาะชิ้นเนื้อ อาจทำให้เกิดการกระตุ้นขบวนการต่างๆของร่างกายตามที่กล่าวมาในข้างต้นบทความ อาจกระตุ้นให้มะเร็งโตขึ้นได้ แต่การตรวจชิ้นเนื้อเพื่อพิสูจน์ทางพยาธิ หากพบว่าเป็นมะเร็งแล้ว แพทย์ก็มักจะให้การรักษาที่เฉพาะเจาะจงเลย ทันที โดยการผ่าตัด เพื่อนำก้อนมะเร็งออกทั้งหมด และ ติดตามด้วยการรักษาอื่นๆ เพื่อให้มีโอกาสที่มะเร็งจะกลับมาเป็นซ้ำน้อยที่สุด การเจาะชิ้นเนื้อเพื่อตรวจ จึงเป็นสิ่งจำเป็น และผลดี มากกว่าผลเสีย ระยะเวลาสั้นๆ หลังการเจาะชิ้นเนื้อ ไม่ได้ทำให้มะเร็ง โตขึ้น หรือ แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ดังคำกล่าวอ้างที่ได้ยินกันมา

ยิ่งการผ่าตัดเพื่อรักษามะเร็งด้วยแล้ว มักจะเป็นการผ่าตัดเพื่อนำเนื้อเยื่อของร่างกายส่วนที่เป็นมะเร็งออกทั้งหมด หรือ เกือบทั้งหมดด้วยความระมัดระวังตามมาตรฐานของศัลยแพทย์ กรณีนี้ โอกาสที่มะเร็งที่เหลืออยู่จะกลับมาโตขึ้นใหม่ ก็ยิ่งน้อยไปอีก เพราะไม่มีเซลล์มะเร็งที่เหลือไว้เป็น พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ที่จะขยายตัวต่อไป อีกทั้งในปัจจุบัน การรักษามะเร็งมักจะมีการรักษาเสริมภายหลังการผ่าตัด เพื่อให้เซลล์มะเร็งที่อาจเหลืออยู่เพียงน้อยนิด ในร่างกายถูกทำลายไป ดังนั้น การผ่าตัดเพื่อนำมะเร็งออกทั้งหมด จึงไม่ทำให้มะเร็งแพร่กระจายออกไป หากมีการแพร่กระจาย มักจะเป็นการแพร่กระจายที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนทำการผ่าตัด และโตขึ้นมาในภายหลัง

บทสรุป

การผ่าตัด อาจกระตุ้นปฏิกริยาในร่างกายที่กระตุ้นการเติบโตของเซลล์ปกติ และ เซลล์มะเร็งได้ แต่การผ่าตัด เป็นสิ่งจำเป็น ในการวินิจฉัยและการรักษา ซึ่ง

การผ่าตัดที่ถูกต้อง และทันเวลา 

ไม่ทำให้ผลการรักษาเปลี่ยนไป การรั้งรอ ไม่ทำการผ่าตัดรักษา หรือวินิจฉัย ในเวลาที่เหมาะสมเสียอีก ที่เป็นเหตุให้มะเร็งมีโอกาสเติบโตขึ้น และ เป็นอันตราย ทำให้โอกาสรักษาหายมีน้อยลง
Read more ...

ทำงานเกินเวลาเพิ่มอัตราเสี่ยงโรคหัวใจ

10 เม.ย. 2554
โดยวอยซ์ทีวี เมื่ือ 6 เม.ย.2554

นักวิจัยอังกฤษ เผยการทำงานเกิน 11 ชั่วโมงเพิ่มอัตราการเกิดโรคหัวใจถึงร้อยละ 6

นักวิจัยของมหาวิทยาลัยยูซีแอล ในอังกฤษ เปิดเผยผลการวิจัยว่า การทำงานเกิน 11 ชั่วโมงต่อวันจะเพิ่มอัตราเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจถึงร้อยละ 67 ทั้งนี้ทีมวิจัยติดตามข้อมูลจากกลุ่มคนทำงาน 7,000 คน มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528

ผลจากการศึกษา พบว่าเกินกึ่งหนึ่งของคนทำงานเกิน 11 ชั่วโมงต่อวัน มีความเสี่ยงเกิดโรคหัวใจมากกว่าคนที่ทำงานในเวลาน้อยกว่า นอกจากนี้การทำงานล่วงเวลา ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นสาเหตุการเกิดโรคหัวใจ

นักวิจัยยังแนะนำว่า ถ้าแพทย์นำเวลาทำงานของคนไข้มาเป็นข้อมูลประกอบการรักษา อาจจะพบคนไข้ที่เป็นหัวใจจากเหตุทำงานมากเกินไปถึง 6,000 คน จากจำนวนผู้ป่วยโรคหัวใจทั้งหมดในอังกฤษประมาณ 125,000 คนในแต่ละปี

การศึกษาดังกล่าว ยังต้องหาคำตอบต่อไปว่าการลดชั่วโมงทำงาน จะทำให้สุขภาพหัวใจดีขึ้นด้วยหรือไม่ นอกจากนี้นักวิจัย ยังต้องศึกษาต่อไป เพื่อยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างชั่วโมงทำงานและโรคหัวใจ ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญาคาดว่าอาจจะมีปัจจัยเสริมที่ทำให้เกิดโรคเข้ามาเกี่ยว ข้องเช่น ความดันโลหิตสูงที่ตรวจไม่พบ,ความเครียด,อารมณ์ซึมเศร้า หรืออารมณ์โกรธ
Read more ...

ความคิดเห็นล่าสุด

Recent Comments Widget