ใจดี มีความสุข

29 ก.ย. 2558
ที่มา : หนังสือมองธรรมถูกทาง มีสุขทุกที่

โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตโต)

ชีวิตที่เป็นอยู่ถูกต้อง หรือ อยู่เป็นนั้น ต้องดำเนินไปด้วยดีหรืออยู่ให้ดี ครบทั้ง 3 แดน คือ แดนสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม แดนจิตใจ และแดนปัญญาทั้ง 3 แดนนี้ทำงานไปด้วยกัน เป็นชีวิตอันเดียว

ในยุคที่ผ่านมา จะเห็นว่า คนสมัยใหม่ตื่นเต้นสนใจแดนโน้นที แดนนี้ที ก่อนนี้ไม่นานนัก ก็เน้นแดนปัญญา พูดกันนักหนาในเรื่อง IQ

จนกระทั่งไม่กี่ปีมานี้เอง ก็หันมาจี้กันในแดนจิตใจ พูดกันนักถึง EQ แล้วก็ emotional intelligence ที่แปลกันว่า “ความฉลาดเชิงอารมณ์” หรือ “ปรีชาเชิงอารมณ์” หรืออะไรทำนองนี้ คือมาเน้นที่ emotion (ถ้าไม่ระวัง จะเหมือนกับมีแฟชั่นทางวิชาการ)

Emotion นั้นแปลกันมาว่า “อารมณ์” ซึ่งเป็นคำแปลที่ไม่อยากใช้ในที่นี้ เพราะ “อารมณ์” เป็นคำพระที่เอามาใช้ในภาษาไทย แต่ความหมายเพี้ยนไปจนสับสนกับความหมายเดิมขอใช้คำเผื่อเลือกว่า “ภาวะจิตใจ” หรือสั้นๆ ว่า “ภาวะจิต”

เราต้องการให้คนมีจิตใจดี ที่เขาเรียกว่ามี positive emotions (อารมณ์บวก) คือมีภาวะจิตดี หรือภาวะจิตกุศล เช่นมีความรักความปรารถนาดี เอื้อเฟื้อ ร่าเริงแจ่มใส กระตือรือร้น ฯลฯ ไม่ให้มีภาวะจิตอกุศล เช่น โกรธ เกลียด กลัว ริษยา เศร้า ซึม เป็นต้นที่เป็น negative emotions

เพื่อไม่ให้พร่า คลุมเครือ หรือฟั่นเฝือ เราควรรู้หลักในการพัฒนาจิตใจ ซึ่งท่านสอนไว้ชัดเจนว่า เราควรมีภาวะจิตดี หรือภาวะจิตกุศล ที่เป็นพื้นฐานไว้ประจำตัว 2 ชุด คือ

- ชุดพัฒนาในตัว 5 อย่าง กับ
- ชุดแผ่ออกนอกตัว 4 อย่าง

เรียกให้เป็นวิชาการว่า

ภาวะจิตดีเพื่อชีวิต 

กับ 

ภาวะจิตดีเพื่อสังคม

ชุดแรก เป็นภาวะจิตดีที่ควรมีประจำอยู่ในตัวตลอดเวลาเพื่อความอยู่ดีของตนเอง และเป็นพื้นฐานของการพัฒนาชีวิตต่อไป

ชุดนี้ พุทธศาสนาเน้นมากว่า เป็นเครื่องวัดความก้าวหน้าของการพัฒนาจิตใจ คนไหนที่ไปปฏิบัติธรรม ถ้ายังไม่ได้คุณสมบัติ ๕ อย่างนี้ ถือว่ายังไม่ประสบความสำเร็จ (ยังไม่ก้าวหน้าด้วยซ้ำ) ได้แก่

1. ปราโมทย์ คือ ความร่าเริงเบิกบานใจ ข้อนี้เป็นพื้นใจเลยทุกคนควรมีภาวะจิตนี้เป็นประจำ

ปราโมทย์นี้สำคัญมาก พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ปาโมชฺชพหุโล ภิกฺขุ ทุกฺขสฺสนฺตํ กริสฺสติ” แปลว่า ภิกษุผู้มากด้วยปราโมทย์ จะทำทุกข์ให้หมดสิ้นไป ทุกคนจึงควรมีจิตใจที่ร่าเริงเบิกบานอยู่เสมอ

2. ปีติ คือความอิ่มใจ ปลื้มใจ หมายความว่า เวลาทำงานทำการ ถ้าจิตของเราไม่ตั้งไว้ผิด ใจของเราไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่ไปมัวหวังเพ้อกับกาลข้างหน้า เราจะได้ความอิ่มใจจากงานที่ทำ เราทำงานไป งานก็เดินหน้าไป จิตของเราก็ปีติ อิ่มใจไปกับงานที่เดินหน้านั้นถ้าได้ผลสำเร็จสำคัญ ก็ปลื้มใจ

3. ปัสสัทธิ คือ ความผ่อนคลาย เรียบรื่น สงบเย็น ไม่เครียดข้อสามนี้ ตรงข้ามกับที่เราเป็นปัญหากันนักในปัจจุบัน อย่างที่บ่นกันว่าคนมักจะเครียด แสดงว่าดำเนินชีวิตผิด

เราบอกว่าโลกเจริญ ถ้าเจริญจริง คนก็ต้องมีชีวิตที่ดีขึ้น คือ ต้องดำเนินชีวิตถูก ใจต้องสบาย ไม่เครียด ต้องมีปัสสัทธิ

สามข้อนี้ตามกันเองโดยธรรมชาติ เมื่อมีปราโมทย์แล้วปีติก็เกิดได้ พอมีปีติ อิ่มใจ ปลื้มใจแล้ว ปัสสัทธิก็ตามมาเองโดยอัตโนมัติ คือจะรู้สึกผ่อนคลายสงบเย็น

มีแง่พิเศษว่า ปัสสัทธิ นี้เป็นข้อที่โยงระหว่างกายกับใจ คือพอเกิดปัสสัทธิแล้ว ความผ่อนคลายก็จะมีทั้งทางกายและทางใจ(ความเครียด ก็เช่นเดียวกัน ถ้าเกิดความเครียดแล้ว ก็จะเครียดทั้งกายและใจ)

4. สุข คือ ความฉ่ำชื่นรื่นใจ พอมีปัสสัทธิผ่อนคลายแล้วคนก็มีความสุข แล้วความสุขก็เป็นตัวเอื้อเปิดโอกาสให้จิตเป็นสมาธิ

5. สมาธิ คือ ภาวะจิตตั้งมั่น แน่ว อยู่ตัว ไม่มีอะไรรบกวน จะคิด จะพิจารณา จะทำอะไร ใจก็อยู่กับเรื่องนั้น ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วอกแวกหวั่นไหว เข้าที่ อะไรๆ รบกวนไม่ได้ อยู่กับสิ่งที่ต้องการได้ตามต้องการ

ดูง่ายๆ ว่า จิตที่เป็นสมาธิ ก็คือจิตที่อยู่กับสิ่งที่ต้องการได้ตามต้องการ และจิตนั้นไม่ถูกรบกวน หรืออะไรๆ มากวนมันไม่ได้

เป็นอันว่า คุณสมบัติ 5 อย่างนี้ ควรทำให้มีในจิตใจอยู่เสมอเป็นภาวะจิตที่ดี จะเรียกว่าสุขภาวะทางจิตก็แล้วแต่ คือ ปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ สุข สมาธิ

พอจิตเป็นสมาธิแล้ว ก็เป็น “กัมมนีย์” (หรือ กรรมนีย์แปลว่า ควรแก่งาน คือเป็นจิตที่เหมาะแก่การใช้งาน หรือใช้งานได้ดี ถ้าเอาไปใช้งานทางปัญญา ก็จะถูกต้องและดีที่สุด เป็นไปตามระบบของการพัฒนาชีวิต

ควรย้ำว่า ทุกคนอยากมีความสุข ถ้าความสุขมากับภาวะจิตดีข้ออื่นๆ ในชุดนี้ ครบทั้งห้าอย่าง ก็จะเป็นความสุขที่มีความปลอดภัยสูง และมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นความสุขที่มากและสูงขึ้นไปอีกไกลทีเดียว

ใจเรานี้ ต้องอยู่กับตัวเองข้างในด้วย และต้องนึกคิดต่อคนอื่นข้างนอกด้วย

ดังนั้น ในการพัฒนาจิตใจ ท่านจึงให้เรามีภาวะจิตดี หรือภาวะจิตกุศล ไว้เป็นพื้นฐานประจำตัวทั้งสองด้าน คือ ด้านประจำอยู่ข้างใน และด้านแผ่ออกไปข้างนอก

ด้วยเหตุนี้ จึงมีภาวะจิตดี 2 ชุด คือ ชุดพัฒนาในตัว 5 อย่างกับชุดแผ่ออกนอกตัว 4 อย่าง แล้วสองชุดนั้นก็เป็นปัจจัยหนุนกันและกันในการพัฒนาชีวิตของเรา

ภาวะจิตดีชุดในตัวได้พูดไปแล้ว ที่นี้

ชุด 2 ที่แผ่ออกนอกตัว 4 อย่าง 

เราควรมีไว้ เพื่อการสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนมนุษย์ และเป็นพื้นฐานของการช่วยผู้อื่นให้พัฒนา พร้อมกันนั้นมันก็แสดงถึงการพัฒนาของตัวเราเองด้วย

ธรรม คือ คุณสมบัติ ที่พึงพัฒนาขึ้นไว้เป็นพื้นฐานในการสัมพันธ์ทางสังคม ก็คือภาวะจิตที่เรียกว่า พรหมวิหาร 4 ซึ่งคนไทยได้ยินชื่อกันจนคุ้น แต่ก็มักเข้าใจคลาดเคลื่อนไปไกลด้วย

ในที่นี้ จะพูดกันแค่ห้วข้อ และคำอธิบายย่อ ดังนี้

1. เมตตา คือ ความรัก ความปรารถนาดี อยากให้เขามีความสุข ความมีใจแผ่ไมตรี และใฝ่ทำประโยชน์แก่ผู้อื่น

2. กรุณา คือ ความสงสาร อยากช่วยเขาให้พ้นทุกข์ ใฝ่ใจจะปลดเปลื้องบำบัดความทุกข์ยากเดือดร้อนของผู้ประสบทุกข์

3. มุทิตา คือ ความชื่นบานพลอยยินดี เมื่อเขาอยู่ดีมีสุข ก็มีใจร่าเริง บันเทิงด้วย ชื่นชมต่อผู้ที่ทำความดีงามประสบความสุขความสำเร็จ พลอยเบิกบานยินดีด้วย มีใจส่งเสริมเมื่อเขาทำอะไรๆ ได้ดี มีสุข เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป

4. อุเบกขา คือ ความมีใจเป็นกลาง วางตัวตั้งอยู่ในธรรมตามที่ได้พิจารณาเห็นด้วยปัญญา คือมีจิตเรียบตรงเที่ยงธรรมดุจตราชู ไม่เอนเอียงด้วยรักหรือชัง พิจารณาเห็นกรรมที่สัตว์ทั้งหลายกระทำแล้ว อันควรได้รับผลดีหรือชั่ว สมควรแก่เหตุที่ตนประกอบพร้อมที่จะวินิจฉัยและปฏิบัติไปตามธรรม

รวมทั้งรู้จักวางเฉยสงบใจมองดู ไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงในเมื่อไม่มีกิจที่ควรทำ เพราะเขารับผิดชอบตัวได้ดีแล้ว เขาสมควรรับผิดชอบตนเอง หรือเขาควรได้รับผลอันสมกับความรับผิดชอบของตน

อุเบกขานั้นสำคัญนัก เป็นธรรมที่เชื่อมต่อด้านความรู้สึกกับด้านความรู้ จึงมาด้วยกันกับปัญญา เป็นตัวให้โอกาสแก่ปัญญาที่เข้ามาทำงาน จึงดูว่าเฉย เป็นกลาง ตั้งหลักไว้และตั้งหลักได้ คือเป็นเวลาที่ปัญญาจะมองได้แจ่มแจ้งชัดเจนนั่นเอง

ใครมีธรรมครบ 4 ข้อ ถ้าปฏิบัติถูกต้อง ก็จะมีใจที่แผ่กว้างขวางครอบคลุมสรรพสัตว์ หรือคนสัตว์ทุกถ้วนหน้า เป็นจิตใจที่สากล

ที่ว่าเป็นสากลครอบคลุมทั้งหมดนั้น นอกจากทั่วทุกตัวตนเสมอกันแล้ว ก็เพราะครบทุกสถานการณ์ ซึ่งมีวีธีดูง่ายๆ ดังนี้

1. เมตตา มีต่อคนสัตว์ ในสถานการณ์ที่เขาอยู่เป็นปกติ

2. กรุณา มีต่อคนสัตว์ ในสถานการณ์ที่เขาตกทุกข์เดือดร้อน

3. มุทิตา มีต่อคนสัตว์ ในสถานการณ์ที่เขาได้ดีมีสุขเจริญยิ่งขึ้น

4. อุเบกขา มีต่อคนสัตว์ ในสถานการณ์ที่เขาพึงรับผิดชอบกรรมที่เขาทำ

การที่เรามีธรรมชุดนี้ สาระก็อยู่ที่ต้องการให้เพื่อนร่วมโลกหรือร่วมสังคมมีความสุข ให้คนอื่นสัตว์อื่นทุกคนทุกตนเป็นสุขกับเราด้วย

ถ้ามีธรรมชุดนี้ ความสุขของเขา ก็เป็นความสุขของเราด้วย เช่น เมตตาคืออยากให้เขาเป็นสุข พอเห็นเขาเป็นสุข เราก็เป็นสุขด้วย จึงเป็นความสุขร่วมกัน

แล้วก็ชัดด้วยว่า ภาวะจิตดีเพื่อสังคมชุดนี้ กลับไปหนุนภาวะจิตดีเพื่อชีวิตให้พัฒนามากขึ้น เช่น เราช่วยเขาได้ เราก็ยิ่งอิ่มใจปลื้มใจ มีความสุข แล้วใจเราก็สงบ (ทั้งสี่ข้อนี้ ใช้ฝึกสมาธิได้หมด)

ทั้งนี้ ไม่ใช่สุขเรื่อยเปื่อย แต่ให้สุขในความดีงามถูกต้องชอบธรรม หรือมีสุขที่เป็นธรรม เฉพาะอย่างยิ่งให้เป็นความสุขที่เกื้อหนุนการพัฒนาชีวิตของเขาเอง และไม่ใช่สุขเฉพาะตัว แต่เอื้อให้ทั้งโลกเป็นสุข

ขอบคุณภาพจาก www.ligminchalearning.com
Read more ...

ทำไมญี่ปุ่นพัฒนาเร็วกว่าไทย?

6 ก.ย. 2558
โดย FBกานดา นาคน้อย https://goo.gl/JqIrY7

ก) คนญี่ปุ่นมีนิสัยละเอียดและคิดเป็นระบบ ไม่คิดแค่ซื้อมาขายไป ญี่ปุ่นมีตลาดขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าก่อนสหรัฐฯถึง 100 กว่าปี มีมา 300 กว่าปีแล้ว ไทยเพิ่งมี 10 ปีเอง

ข) คนญีปุ่นไม่ถือคติ"เลือดข้นกว่าน้ำ" ถ้ามีลูกไม่เก่งก็รับคนเก่งมาเป็นลูกบุญธรรมหรือลูกเขยเพื่อให้บริหารธุรกิจ แนวคิดนี้วิวัฒนาการมาเป็นการบริหารโดยมืออาชีพคล้ายแนวคิดตะวันตก

ค) นายทุนญี่ปุ่นอยากพัฒนาอุตสาหกรรมแบบตะวันตก เลยผลักดันการก่อตั้งมหาลัยก่อนไทยหลายทศวรรษ มีทั้งแบบเลียนแบบมหาลัยไอวีลีคและแบบวิทยาลัยศิลปศาสตร์ ไม่ได้เลียนแบบแค่สหรัฐฯ มีเลียนแบบประเทศยุโรปด้วย นายทุนอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเหมือนนายทุนอุตสาหกรรมอเมริกันในภาคเหนือที่เห็นมหาวิทยาลัยเป็นสถานที่สร้างคนสร้างแรงงานมีทักษะเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกสินค้า (นายทุนญี่ปุ่นไม่เห็นมหาลัยเป็นโรงงานผลิตคนรับใช้)

ส่วนนายทุนไทยคิดเหมือนนายทุนเกษตรกรรมอเมริกันในภาคใต้ที่มีทาส มีทาสแรงงานถูกก็ขยายการเกษตรเพื่อส่งออกสินค้าเกษตรไปอังกฤษ ไม่ยอมเสี่ยงลงทุนพัฒนาสินค้าอุตสาหกรรมแบบนายทุนอเมริกันภาคเหนือ

ง) คนญีปุ่นไม่นับถือผี แม้เคยเชื่อว่าจักรพรรดิเป็นลูกพระเจ้า มีวัฒนธรรมติดสินบนพระเจ้าตามศาลเจ้าเล็กน้อยแต่ไม่มากเท่าคนไทยติดสินบนภูติผีปิศาจ เป็นจารีตนิยมที่เชื่อในการทำงานพากเพียรมากกว่าคนไทยมาก

ขอบคุณภาพจาก http://www.wegointer.com/2014/06/yjapanese/
Read more ...

ความคิดเห็นล่าสุด

Recent Comments Widget