10 ปี 'ตีแตก' รวยหุ้น 26 เท่า ฉบับ VI ดร.นิเวศน์

11 ต.ค. 2552

10 ปี 'ตีแตก' รวยหุ้น 26 เท่า ฉบับ VI ดร.นิเวศน์

วันพฤหัสบดี ที่ 18 กันยายน 2551

ย้อนมอง 10 ปีชีวิตการลงทุน ของ "ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร" Value Investor คนแรกๆ ของเมืองไทย 10 ปีพิสูจน์ให้เห็นว่า การย่ำตามรอย "วอร์เรน บัฟเฟตต์" เจ้าตำรับหุ้นมูลค่า คือเส้นทางที่ถูกต้อง การันตีด้วยดีกรี "รวยหุ้น 26 เท่า" ของเงินลงทุนก้อนแรก ที่สาวก VI ในวงการยกให้เป็น "เซียนหุ้นมูลค่า" 

ผลจากการลงทุนระยะยาวและมีเงินลงทุนในหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ด้วยสไตล์การลงทุนแบบ "หุ้นมูลค่า" (Value Investment) ของ "ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร" ทำให้มูลค่าหุ้นในพอร์ต (เฉพาะเงินลงทุนครั้งแรก) ซึ่งครบรอบ 10 ปีนับตั้งแต่เริ่มลงทุน เติบโตอย่างต่อเนื่อง จากเงินลงทุนกว่า 10 ล้านบาท เมื่อครั้งเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เพิ่มขึ้น 26 เท่าตัวในวันนี้ 

"ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร" นักลงทุนหุ้นมูลค่า อธิบายว่า ผลตอบแทนของพอร์ตลงทุนที่เพิ่มขึ้นนี้ เป็นการคำนวณเฉพาะเงินลงทุนก้อนแรกที่เริ่มลงทุนกว่า 10 ล้านบาทเท่านั้น เมื่อผลตอบแทนทบต้นไปเรื่อยๆ เป็นระยะเวลา 10 ปี ก็ทำให้พอร์ตลงทุนเงินก้อนแรกเติบโตเป็น 26 เท่ากว่า หรือเฉลี่ยราว 40% ต่อปี 

โดยไม่ได้คิดผลตอบแทนจากเงินลงทุนที่ได้ "ใส่เพิ่ม" เข้าไปอีกในช่วง 4-5ปีหลังมานี้ 

วันนี้พอร์ตลงทุนของดร.นิเวศน์ จึงไม่ได้มีมูลค่าแค่ 260 ล้านบาทเท่านั้น 

แต่สาวก VI ประเมินกันว่า มูลค่าของพอร์ตน่าจะสูงถึง 500-600 ล้านบาทไปแล้ว จากเงินลงทุนที่เขาได้ใส่เพิ่มเข้าไปอีกในช่วงปีหลังๆ บวกกับผลตอบแทนทบต้นที่เพิ่มขึ้น 

ไม่เพียงเท่านั้น สาวก VI คาดว่า ปัจจุบัน ดร.นิเวศน์ เก็บกินเงินปันผลจากหุ้นที่มีในพอร์ตกว่า 10 บริษัทราวๆ 10 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นผลตอบแทนจากปันผลประมาณ 10% ต่อปี 

"การลงทุนช่วง 10 ปีมานี้ เป็นเรื่องน่ามหัศจรรย์มาก เพราะผลจากการลงทุนทบต้นให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นถึง 26 เท่าตัว หรือคิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ย 40% ต่อปี แม้ผมจะขาดทุนไป 1 ปี แต่ไม่ได้ขาดทุนจริง เพราะเป็นการลงทุนระยะยาว เงินลงทุนทั้งหมดอยู่ในหุ้นตลอด 

เพียงแต่ปีนั้นกำไรลดลง เพราะก่อนหน้านั้นตลาดหุ้นได้เพิ่มขึ้นถึง 117% ผมได้กำไร 147% แต่มาปี 2546-2547 กำไรของพอร์ตลดลง เพราะราคาหุ้นได้ขึ้นไปมากในปีก่อนหน้า" เจ้าตำรับนักลงทุนหุ้นมูลค่าแบบของตลาดหุ้นไทย กล่าว 

ดร.นิเวศน์บอกว่า ในรอบ 50 ปีการลงทุนของ "วอร์เรน บัฟเฟตต์" สุดยอดเศรษฐีอันดับ 2 ของโลก ได้รับผลตอบแทนทบต้นประมาณ 30% ต่อปี แต่เขาได้ผลตอบแทนทบต้นราว 40% ต่อปี จึงรู้สึกมหัศจรรย์มาก 

แม้การลงทุนเป็นเรื่องยาก แต่ ดร.นิเวศน์ เชื่อว่า หากลงทุนในหุ้นตลอดเวลา ในทุกๆ 3 ปี ผลตอบแทนจะทบต้น และพอร์ตจะเติบโตเร็วเป็นเท่าตัว 

ในปี 2549 ผ่านไปสดๆ ร้อนๆ ดร.นิเวศน์ มีกำไรจากการลงทุน 30% เทียบกับตลาดหุ้นไทยที่ให้ผลขาดทุน 

แต่ก็ใช่ว่าผลตอบแทนจากการลงทุนจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงเช่นนี้เรื่อยไป เนื่องจากมูลค่าพอร์ตที่ใหญ่ขึ้นมาก จะทำให้การเติบโตได้ไม่มากนัก 

"จากนี้ไปผมหวังกำไรแค่ 15% ต่อปี ก็ถือว่าหรูแล้ว แต่ถ้ามองผลตอบแทนทบต้นย้อนหลังช่วงก่อนหน้า จะเห็นว่าทำกำไรได้สูงมาก" 

10 ปีที่ผ่านมา ดร.นิเวศน์ ยืนหยัดในหลักการลงทุนในหุ้นระยะยาว เลือกลงทุนในหุ้นที่ดี ถูกตัว แล้วถือเก็บไว้ โดยไม่ต้องทำอะไร 

"การลงทุนแบบนี้ เมื่อได้หุ้นถูกตัวแล้วอย่าไปยุ่งกับมัน เหตุที่ผมได้ผลตอบแทน 26 เท่าในเวลา 10 ปี ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในหุ้นเก่าๆ ที่โตขึ้นมาเอง ไม่ได้ไปทำอะไร แม้ตลาดหุ้นจะปรับตัวลดลง ก็ไม่ได้สนใจ เพราะหุ้นเราไม่ได้ตกหรือตกน้อยกว่า จึงไม่ต้องขายหรือเดือดร้อน ฉะนั้นยิ่งเราลงทุนระยะยาวจะไม่ขาดทุน เพราะมีต้นทุนที่ต่ำ ทำให้ได้กำไรหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ 

วอร์เรน บัฟเฟตต์ ใช้แนวทางลงทุนแบบนี้ ในชีวิตการลงทุนของเขา 50 ปี ซื้อหุ้นไม่กี่ตัว เช่นหุ้น โคคา-โคลา ซึ่งต้องนับว่าเป็นบริษัทที่มหัศจรรย์มาก เพราะเติบโตได้มาก คิดดูว่า หากชาวจีนร่ำรวยขึ้น กินโค้กกันพันล้านคน ลงทุนในหุ้นตัวนี้ก็จะมั่นใจได้ว่า ระยะยาวจะเติบโตไปอีกมาก" 

แต่การลงทุนแบบหุ้นมูลค่าก็ให้ผลขาดทุนได้ ถ้าหากไม่ "ถูกจังหวะ" .. 

"มีคนบอกว่า ผมโชคดีที่เข้าตลาดหุ้นในช่วงที่หุ้นตกและเกิดวิกฤติ พอร์ตจึงโตเร็ว แต่ถ้าดูช่วงที่ผมลงทุนจะเห็นว่า ตอนนั้นดัชนี 832 จุด แต่วันนี้หุ้นลงมาอยู่ที่ 600 จุดกว่า แสดงว่าดัชนีหุ้นไม่ได้ขึ้นเลย ไม่ได้กำไร อย่างมากเสมอตัว ไม่ได้ดอกผล แต่การที่ผมเข้าลงทุนถูกปี แม้ตลาดหุ้นมีความเสี่ยง แต่ลงทุนระยะยาวจะเสี่ยงน้อยกว่า 

ดัชนีหุ้นเริ่มจาก 100 จุด วันนี้ 600 กว่าจุด เป็นเวลา 30 ปี คิดเป็นผลตอบแทนทบต้น 5-6% บวกเงินปันผลก็ได้เกือบ 10% ต่อปี ถือว่าใช้ได้ เทียบกับตลาดหุ้นสหรัฐ 100 ปี เฉลี่ยผลตอบแทน 11% ต่อปี" 

ฉะนั้น หากผู้ลงทุนเข้าลงทุนในตลาดหุ้นถูกจังหวะเวลา ก็ถือว่าได้เปรียบ 

คิดง่ายๆ จากช่วงหุ้นตกอย่างรุนแรง จนดัชนีลงไปอยู่ที่ 200 จุด เมื่อ 5 ปีก่อน ตอนนี้มาอยู่ที่ 600 จุด เท่ากับเพิ่มขึ้น 3 เท่า ในช่วงเวลา 5 ปี 

แล้วเข้าตลาดหุ้นช่วงไหนถึงจะดี..?? 

ดร.นิเวศน์ บอกว่า โดยส่วนตัวเขาจะใช้ดูค่า พี/อี ของหุ้นเป็นตัวบอกว่าราคาหุ้นถูกหรือแพง เช่น ค่าพี/อี 15 เท่า ถือว่าค่อนข้างแพง 

"ตลาดหุ้นช่วงนี้ค่าพี/อี 10 เท่า เฉลี่ย 30 ปี ค่าพี/อี 10 เท่า ถามว่าหุ้นราคาถูกมั้ย ต้องบอกว่าไม่ถูก ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐอยู่ที่ 13-14 เท่า เฉลี่ย 100 ปี ตอนที่ดัชนี 200 จุด ค่าพี/อี 5-6 เท่า ถือว่า เป็นจังหวะที่ดีเพราะราคาต่ำมาก ซื้อหุ้นที่มั่นคงอย่าง "ปูนใหญ่" มาถึงวันนี้รวยเละ เพราะราคาขึ้นมา 10 เท่า" 

เขามองว่า ช่วงดัชนี 600 กว่าจุดอย่างในขณะนี้ อยู่ในข่าย "ลงทุนได้" ยิ่งถ้าถือลงทุนยาวจะได้ผลตอบแทนที่ดี 

"จากสถิติบอกว่า การลงทุนในหุ้นจะให้ความมั่นคงและปลอดภัยมากสุด มากกว่าการฝากเงินและซื้อพันธบัตร เพราะจะมีความเสี่ยงอยู่ที่อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ถ้าเก็บหุ้นไว้ราคาขึ้นปีละ 10% ถือว่าลงทุนในหุ้นปลอดภัยสุด เพราะป้องกันเงินเฟ้อได้ ฉะนั้น ถ้าอนาคตอยากมีสินทรัพย์ที่อยู่ในระดับที่สูงกว่าคนอื่นหน่อย ก็ต้องมีกลยุทธ์ลงทุนในหุ้นด้วย" 

นอกจากจะเห็นจังหวะการลงทุนก่อนคนอื่นจากการใช้วิธีเลือก "หุ้นมูลค่า" เป็นคนแรกๆ ของเมืองไทย ยังทำให้ ดร.นิเวศน์ มีโอกาสเลือกหุ้นราคาถูก อย่าง "หุ้นมาม่า" ที่เมื่อ 10 ปีก่อนราคาไม่ถึง 100 บาทต่อหุ้น 

"ตอนนั้นมาม่าขายดีมาก แม้จะเป็นช่วงเศรษฐกิจตก กำไรก็ดี ดูผลงานย้อนหลัง 5 ปี กำไรเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ราคาหุ้นถูกมาก บริษัทลงทุน 100 บาท แต่ผมซื้อในราคา 50 บาท ในโลกธุรกิจไม่มีแบบนี้ แต่การลงทุนในหุ้นมีโอกาสอย่างนี้ 

ตอนนั้นผมมีเงิน 10 ล้านบาท ถ้าฝากแบงก์ได้ดอกเบี้ย 3% ตกปีละ 3 แสนบาท คิดเป็นรายเดือนๆ ละ 3 หมื่นบาทต่อเดือน ก็อาจอยู่ได้ แต่ลำบาก เพราะต้องส่งลูกเรียน ก็มาคิดว่าถ้าซื้อหุ้นมาม่าแล้วไม่ขายต่อ ถือต่อไป เพราะช่วงนั้นไม่มีคนซื้อและขาย กินปันผลอย่างเดียว 

ก็มาดูว่า บริษัทกำไรปีละ 20 บาท จ่ายปันผล 10 บาท เฉพาะเงินปันผลปีละ 10 บาท เทียบกับฝากแบงก์ได้ดอกเบี้ย 3% แต่เงินปันผลเพิ่มขึ้นทุกปี 

ผมมั่นใจว่า บริษัทจะจ่ายปันผลในอัตรานี้เพราะได้ศึกษาย้อนหลัง พบว่า หนี้ไม่มี เงินมีมาก และยอดขายได้มาก ไม่เคยลดลง กำไรจึงเพิ่มขึ้นตลอด ทำให้เงินปันผลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีเงินสดในมือจำนวนมาก แสดงว่าโอกาสที่มาม่าจะเจ๊งยาก เพราะคนกินหลายล้านซอง ซึ่งตอนนั้นราคามาม่าถูกมากแค่ 4.5 บาทต่อซอง ยังมีโอกาสขึ้นราคาได้อีก ถ้าหากต้นทุนเพิ่มขึ้น" 

มาม่า จึงเป็นหุ้นที่ "ใช่เลย" เขาจึงตัดสินใจลงทุนประมาณ 10-20% ของเงิน 10 ล้านบาท เมื่อราว 10 ปีที่แล้ว 

10 ปีผ่านไป ตอนนี้ราคาหุ้นมาม่าขึ้นมา 500 บาท (ไม่ได้แตกพาร์) จากราคาไม่ถึง 100 บาท แต่ตอนนี้เขาเหลือหุ้นไม่กี่หมื่นหุ้น เท่านั้น 

"วันนี้ไม่มีหุ้นแบบ "มาม่า" อีกแล้ว แต่ยังพอมีหุ้นให้เลือกซื้อได้ อย่างหุ้น "โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์" ที่ออกจากแผนฟื้นฟู จัดเป็นธุรกิจที่ดี มีรายได้จากการบริการราคาแพง กำไรดี เนื่องจากคนประเทศตะวันออกกลางมาใช้บริการกันมาก จึงทำให้เติบโตได้ดี เพราะอนาคตไทยจะเป็นศูนย์กลางการแพทย์ จะเห็นว่าธุรกิจในปัจจุบันและอนาคตไปได้ดี บริษัทกำไรดี ไม่มีหนี้ ความเสี่ยงจึงน้อย แต่ตอนนี้ราคาหุ้นบำรุงราษฎร์ขึ้นไม่ได้ เพราะค่า พี/อี สูง ราคาแพง 3 เท่า เจ้าของจ่าย 100 บาท แต่เราต้องซื้อถึง 300 บาท 

ตอนนั้นผมรอตั้งแต่ 30 บาท จนราคาไปถึง 300 บาท แต่ก็ไม่ได้ซื้อ ตรงนี้ถือเป็นศิลปะการลงทุนของแต่ละคนด้วย" 

อย่างไรก็ตาม ดร.นิเวศน์ บอกว่า หากเกิดเหตุการณ์พิเศษ ทำให้ราคาหุ้นบำรุงราษฎร์ปรับตัวลง ก็ควรจะเข้าซื้อเพื่อการลงทุนได้ 

ขณะที่หุ้นน้ำมันหรือธุรกิจที่ซับซ้อนและเข้าใจยาก จะไม่ยอมเอาเงินลงทุนไปผูกไว้เด็ดขาด 

เซียนหุ้นมูลค่า ให้แนวทางลงทุนในปี 2550 ไว้ด้วยว่า ต้องเน้นความปลอดภัยและเลือกหุ้นประเภท Defensive Stock ที่เป็นธุรกิจมั่นคง ยอดขายแน่นอน มีปัจจัยกระทบต่อผลกำไรน้อย เนื่องจากปีนี้มีความผันผวนรุนแรง จากความเสี่ยงสูงทางการเมือง ดอกเบี้ย ราคาน้ำมัน เงินเฟ้อ จึงต้องเลือกหุ้นที่ไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยเหล่านี้ 

"ชีวิตผมอยากมีหุ้นเพียง 10 ตัว มีโอกาสขึ้นอย่างเดียว แต่อาจมีบางตัวลงบ้าง แต่อีก 9 ตัว ราคาขึ้นก็ไม่เดือดร้อน เราต้องทำให้การลงทุนในหุ้นเป็นเรื่องสบายและนอนหลับฝันดี ถึงจะมีความสุขกับการลงทุน" เซียนหุ้นมูลค่า ปิดท้ายไว้อย่างนั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นล่าสุด

Recent Comments Widget