สวรรค์บ้านนา(อุรุพงษ์ รักษาสัตย์/ 2552) แผ่นดินที่ฝันถึง
17 ธ.ค. 2552
posted on 17 Oct 2009 02:59 by filmsick
เริ่มจากเขานอนหลับ ร่างนั้นตะแคงอยู่กับคานปูนที่หล่อขึ้นใหม่ หนุนหัวด้วยกระเป๋าเสื้อผ้า อ่อนล้าอยู่กลางแดแลมของสถานที่ซึ่งหากไม่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ก็คงถูกทิ้งร้างไว้โดยไม่เสร็จสมบูรณ์ คนหนุ่มนั้นกำลังหลับ และบางทีเขาอาจฝันถึงท้องทุ่ง
ท้องทุ่งนั้นรอการหว่านไถ
ก่อนหน้านี้เขามีหนิ้ และหนี้ทำให้บ้านเคยอยู่อู่เคยนอนของเข้าต้องหลุดมือไป เขากับเมียและลูกนั่งยองๆมองดูบ้านที่เคยอยู่แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของอีกแล้ว เพื่อนคนหนึ่งชวนเขาไปบอกว่าทำงานแบบนี้มันไม่ได้เรื่องหรอก มีแต่ก่อหนี้สร้างสิน ไปเป็นชาวนาดีกว่า ชาวนารับจ้างปักดำหว่านไถ เพียงหมาดหน้าฝนพ้นข้าวแตกรวงเก็บเกี่ยวแล้วได้เท่าไรก็เอามาแบ่งกันชาวนากับเจ้าของที่ ด้วยการณ์นี้ ครอบครัวของเขา และอีกครัวหนึ่งซึ่งรุ่นราวคราวเดียวกันจึงถึงการณ์มปลูกกระท่อมกินอยู่กัยในที่นานั้น ลงมือปักดำหว่านไถ บนแผ่นดินของผู้อื่น
จากฤดูสู่ฤดู จากการไถหว่านสู่การปักดำ การรอคอยเข้าวแตกรวง จวบจนการเก็บเกี่ยว ครอบครัวชาวนาเรียนร็และดิ้นรนเพื่อจะเอาชีวิตรอดท่ามกลางแผ่นดินอันอุดม พวกเขาได้รู้จักกับลุงผมยาวที่หนีสังคมมาทำนาไร่แบบโบราณ เน้นสวนผสมที่ปราศจากสารเคมีทุกชนิด ทำไปเพื่อเพียงพอกินโดยไม่หวังกำไรตอบแทน ขณะเดียวกันพวกเขาก็ถ่ายทอดวิธีการดิ้นรนเอาตัวรอดโดยการหากินกับท้องทุ่งจากรุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่การยิงนกตกปลาล่างู การล่ารวงผึ้ง ไข่มดแดง สิ่งต่างๆนาๆจากที่นั่นที่นี่แปรเป็นมื้ออาหารตามแรงและประสปการณ์
ตราบจนกระทั่งลุกเข้าสู่ฤดูการเก็บเกียว โลกหมุนเคลื่อนคล้อยไปเฉกเช่นเดียวกับชีวิตที่ยังต้องคืบเคลื่อนนำพาปัญหาใหม่ๆ มาให้พบเจอ ถึงที่สุดแล้ว สรวงสวรรค์เป็นเพียงเรื่องชั่วคราว และบ้านนาก็เช่นกัน
นี่คือภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องที่สองของ อุรุพงษ์ รักษสัตย์ หลังจากที่ ‘เรื่องเล่าจากเมืองเหนือ' หนังยาวเรื่องแรก ที่ไม่อาจจะเรียกได้ว่าหนังยาวเต็มปาก เพราะตัวหนรังประกอบขึ้นจากหนังสั้นหลายๆเรื่องที่เขาทำก่อนหน้า หนังของอุรุพงษ์มักมาจากท้องถินทางภาคเหนือที่เขาอาศัย บอกเล่าเรื่องราวของบรรดาชาวบ้านธรรมดา ถ่ายทอดชีวิต ของชาวนา ชาวสวน คนชราที่ถูกทอดทิ้งไว้ในหมู่บ้าน ภาพชีวิตที่ถ่ายทำตามความเป็นจริง ถูกนำมาสร้างโครงเรื่องผ่านการตัดต่อ ค่อยๆคลี่ขยายภาพชีวิตันละเมียดละไม หากเศร้าสร้อยตามสภาพความเป็นจริงโดยไม่ต้องเสียเวลาสร้างพลอตดราม่าแต่อย่างใด
สำหรับสวรรค์บ้านนา อุรุพงษ์ยังคงกระบวนการเดิมในการสร้างหนัง เพียงแต่ในคราวนี้เขามีเรื่องเล่าอยู่ในมือตั้งแต่ต้น มีบท มีประเด็น เขาเพียงออกไปยังท้องทุ่งกับนักแสดง ติดตามชีวิตของพวกเขา บอกเล่าคร่าวๆว่าพวกเขากำลังเป็นใคร ต้องทำอะไรบ้างในฉากนั้นๆ แล้วก็ปล่อยให้พวกเขา ‘เล่นเป็นตัวเอง'ไปเรื่อยๆ สถานที่และสถาณการณ์หลายๆอย่างในหนังเป็นของจริง งอกเงยขึ้นจากการลงไปถ่ายทำในพื้นที่ คุณลุงนักเกษตรก็เป็นสิ่งที่บังเญได้พบ ทุกอย่างค่อยๆประกอบรวมขึ้นเป็นหนังที่เล่าเรื่อง ปัญหาชาวนาไทยในยุคปัจจุบันที่น่าสนใจมากที่สุดเรื่องหนึ่งเท่าที่เคยมีการทำหนังไทยกันมา (นี่พูดจริงๆไม่ได้คำพาไป)
หนังเล่าวงจรของชาวนารับจ้าง ล้อไปกับฤดูกาลแห่งการหว่านไถ ชายหนุ่มตกเป็นหนี้นอกระบบจนต้องเสียบ้าน เขาและครอบครัวที่ประกอบด้วยเมียหนึ่งลูกหนึ่งต้องไปอาศัยกระท่อมปลายนาเพื่อดำรงชีวิตอยู่ ตลอดเวลาของการหว่านไถปักดำ ครั้นเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตสำเร็จ เจ้าที่ก็มาขอแบ่งเงินส่วนที่เขาจะได้ไปผ่อนรถ จนในที่สุดเขาและครอบครัวซึ่งตั้งใจลึกๆว่าจะปักหลักอยู่กับท้องไร่ท้องนานี้ก็ต้องแตกกระสานซ่านเซ็นเข้ากรุงเทพ ในท้ายที่สุด
โดยทั้งหมดทั้งมวลนี้หนังเคลือบคลุมตัวเองอีกชั้นด้วยภาพของการเมืองในยุค ‘เหลือง-แดง' โดยหนังวางภาพ ของความขัดแย้งทางการเมืองอยู่ไกลๆปรากฏให้เห็นเพียงครั้งสองครั้งดำเนินไปอย่างไม่เกี่ยวข้องกับตัวละคร ดำเนินเดินไปอย่างไม่เกี่ยวข้องกัน หากหนังแสดงให้เห็นว่าภาพการเมืองใหญ่กระทบไปหมดทั่วทุกภาคส่วนไม่เว้นแม้แต่ชาวไร่ชาวนาห่างไกล ยิ่งเมื่อตัวละครมาปะทะกับการเมืองในช่วงท้ายทุกอย่างก็ยิ่งฉายชัด
หนังเล่าปัญหาชาวนาไทยแบบที่เราไม่ค่อยได้พบเห็นนักในหนังไทย หรือกระทั่งในข่าวไทย แสดงภาพปัญหาอย่างเป็ระบบและไม่พยายามโรแมนติคให้เป็นเรื่องความชั่วร้ายเชิงปัจเจก หรือแสดงภาพนายทุนเป็ฯคนชั่วและชาวนาเป็นผู้ถูกกดขี่ หนังให้เราเห็นถึงระบบทั้งหมดที่ขับเคลื่อนทุกอย่างไป ตั้งแต่การที่เจ้าของที่ต้องการเอาเงินไปหมุนเพื่อนผ่อนรถ เมียของเขาต้องการเข้าไปทำงานในกรุงเทพ ลูกชายที่อยากได้แกมแบบเพื่อน หรือตัวเขาเองที่ก่อหนี้จนต้องสูญบ้าน นักการเมือง และม๊อบชนม๊อบที่ก่อเรื่องวุ่นวายในกรุงทเพ ทั้งหมดผูกเป็นปมเล็กๆที่ส่งผลกระทบถึงกันอย่างเลี่ยงไมได้ การคลี่ให้เห็นปัญหาซึ่งผูกปมโยงใยไว้เป็นระบบช่วยให้เราไปพ้นจากกรอบคิดเรื่องการกดขี่แบบเดิมและมองปัญหาชาวนารับจ้างตามความซับซ้อนของสังคมปัจจุบันจริงๆ ซึ่งหนังก็เล่าออกมาได้อย่าน่าสนใจมากๆ
หากสิ่งที่โดดเด่นที่สุดในหนังคืองานด้านภาพ หนังนำเสนอภาพการทำนาที่ถ่ายออกมาอย่างหมดจดงดงามประดุจดังสรวงสวรรค์ ภาพการหว่านไถ ปักดำ กระทั่งลงแขกเกี่ยวข้าว ภาพการอาบน้ำยามแสงโพล้เพล้ ภาพพยับฝนซึ่งเคลื่อนใกล้เข้ามา ภาพเด็กวิ่งเล่นในท้องทุ่ง ภาพของฤดูกาลที่เคลื่อนคล้อยไป ทุกอย่างถูกถ่ายทอดด้วยดวงตาลุ่มหลงของผู้กำกับซึ่งจัดวางกรอบภาพทั้งหมดให้งดงามราวกับภาพเขียน อธฺบายความเป็น ‘สวรรค์บ้านนา'ตามชื่อเรื่อง อย่างไรก็ดีในทางหนึ่ง ความงามทางบภาพกลับกลายเป็นภัยร้ายที่ย้อนมาสร้างความกระอักกระอ่วนให้ตัวเรื่อง เพราในขณะที่ตัวเรื่องลดทอนความโรแมนติคเชิงเรื่องเล่าและหยิบจับปัญหานี้มาตีแผ่โดยไม่พยายามสร้างกรอบผิดถูกมารองรับ ภายใต้รูปแบบของหนังซึ่งขับเน้นไปที่ความสมจริงของตัวเรื่อง ในคราวนี้การณ์กลับกลายเป็นตัวภาพเสียเอง ที่ทำหน้าที่สร้างความโรแมนติดให้กับการทำนา ยิ่งเมื่อตัวหนังสามสี่สิบเปอร์เซนต์ จดจ่ออยู่กับภาพของชาวนาในท้องทุ่ง ภาพของ ‘สวรรค์' แห่งบย้านนาจึงโดดเด่นมาเหนือใคร ย้อนแย้งขัดขากับความยากลำบากที่บรรดาชาวนาได้รับ ในทางหนึ่งความย้อนแย้งนี่ช่างงดงาม เพราะมันแสดงด้านที่เป็นทั้งความงาม และความต่ำช้าคลอเคลียไปคู่กัน แต่ในอีกทาง การจัดวางภาพของหนัง (เท่าที่เข้าใจความงามของภาพในหนังไม่ได้เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิค ทั้งหมดน่าจะเกิดจากการเลือกจังหวะ รอเวลา จัดวาง) ได้ทำให้การทำนาเป็นสรวงสวรรค์ที่ปราศจากความลำบาก เป็นพิธีเชิงศาสนาอันผ่องพิสุทธิ์ โดยตัวของมันเอง มันจึงย้อนมาสร้างความกระอักกระอ่วนเมื่อหนังพยายามจะบอกว่ามันคือโลกของหยาดเหงื่อแรงงานที่ถูกดูดกลืนไปสังเวยระบบทุนที่ครอบงำอยู่
คำอธิบายในย่อหน้าที่แล้วนั้นอาจจะย้อแย้งตัวมันเองยิ่งกว่าตัวหนัง แต่เมื่อเราพิจารณาร่วมกันกับประเด็นอื่นภาพขยายความกระอักกระอ่วนลักลั่นย้อนแย้งอาจจะชัดขึ้น หนึ่งคือตัวหนังดูเหมือนจะถูกแยกเป็นสองส่วนด้วยตัวของมันเอง หนึ่งคือภาพความงดงงามของการทำนา และสองคือปัญหาที่ถาโถมเข้ามาในวิถีชีวิตชาวนารับจ้าง หนังวางการรุกคืบของปัญหาไว้ในรูปแบบของ ‘ปม' ตัวละครดำเนินชีวิตไปตามเส้นเชือก คลำเจอปมปัญหาการอย่ากเข้ากรุงเทพ ปมปัญหาความอดอยาก ปมปัญหาความอยากได้อยากมีของลูกๆ ปมปัญหาการถูกโกงกลายๆจากเจ้าของที่ดิน ทั้งหมดถูกจับโยนเข้ามาในลักษณะของการบอกเล่าเป็นเหตุการณ์เหตุการณ์ไปเรื่อยๆ แยกขาดจากภาพการทำนา หรือการหากินที่น่าตื่นตา และดู exotic เอามากๆ (ผมไม่สามารถหาคำภาษาไทยที่เหมาะเจาะให้กับคำนี้ได้) เราอาจจะบอกได้ (อย่างร้ายๆ)ว่า หนังคือจังหวะของภาพ exotic สลับกับปมปัญหาที่ทยอยอไหลมาเป็นลูกคลื่น ซึ่งนั่นทำให้ภาพสวรรค์ของหนังยิ่งโดดเด่น และก้าวกระโดดจากตัวหนังมากขึ้น สุดท้ายมันจึงกลายเป็นการขัดขาตัวเอง (ในที่นี้เราอาจะสามารถเปรียบเทียบหนังเรื่องนี้เข้ากับ Huacho หนังที่เล่าเรื่องปัญหาของกเษตรกรในสังคมร่วมสมัย ที่ซ่อนทุกปมปัญหาไว้ภายใต้การดำเนินชีวิตประจำวันของตัวละครแต่ละตัวอย่างนุ่มนวล และแนบเนียน) การแยกส่วนปัญหากับความงามในหนังทำให้ทั้งสองส่วนหักล้างกันจนเหมือนกลายเป็นคนละเนื้อที่มาร้อยต่อกันเสียอย่างนั้น และเป้นไปเช่นนั้นจวบกระทั่งช่วงท้ายของหนังที่ในฉากหว่านไถสำหรับฤดูต่อไป หนังพลันเงียบเสียงเรา ทิ้งเราไว้กับภาพของชาวนาลากไถไปพร้อมกับความงานท่ามกลางสายฝนที่หล่นเงียบเชียบ นั่นเป็นครั้งแรก ที่เรา( หรือย่างน้อยผม) รู้สึกได้ถึงความยากลำบากอันแท้จริงของการทำนา
หนังเติมตัวละครอย่างคุณลุงนักการกเษตรเข้ามา แม้ว่าในฉากอธิบายการเกษตรวิถีของแก(ขออนุญาติไม่ใช้คำว่า พอเพียง)เกือบจะเป็นฉากเลคเชอร์อยู่รอมร่อ แต่การที่หนังแสดงให้เห็นว่าการเกษตรแบบของแกนั้นอาจเป็นทางออกสวยงามสำหรับนักวิชาการ สำหรับปัญญาชน สำหรับคนที่ไม่ได้เป็นเกษตรกร แต่สำหรับชาวนารับจ้างไร้ที่ดิน มันยังมีข้อเคลือบแคลง อย่างน้อยเมื่เทียบกันแล้วคุณลุงไม่ได้อยู่ในฐานะ จนตรอก เหมือนกับครอบครัวชาวนาที่ยังไม่รู้ว่าจะไปอยู่ไหนหรือทำอะไรต่อ ดังนั้นในทางหนึ่งการเกษตรทางเลือกใช่หรือไม่เป็นแค่ทางเลือกเฉพาะกับคนที่มีต้นทุน (ทั้งทางทรัพย์สินและทางสังคม)อยู่ก่อนแล้ว แม้ในช่วงท้ายของหนังจะให้ความหวังกับวิถีเช่นนี้ผ่านการที่เด็กชายลูกชาวนาอีกครอบครัวอาศัยอยู่กับลุงที่คอยสอนการเกษตรแบบของแกให้กับเด็กรุ่นต่อไป แต่บางทีทางออกแบบที่นักวิชาการชอบท่องเป้นคาถาอาจเป็นแค่เรื่องพาฝันในระบบเศรษฐกิจปากกัดตีนถีบเช่นนี้
ที่น่าแปลก ระคนน่าสนใจมากขึ้นคือการสอดแทรกประเด็นการเมืองลงในหนัง(ที่จริงอุรุพงษ์เคยทำเช่นนี้มาแล้วใน หนังสั้น รอยไถแปร ซึ่งบางส่วนก็อยู่ในหนังเรื่องนี้ด้วย) การจับเอาการเมืองยุคเหลืองแดง มาฉษยซ้อนลงบนฉากภาพของชีวิตชาวนา หนังไม่ได้แสดงท่าทีว่าการเมืองเหลืองแดงทำให้ชีวิตของชาวนาต้องฉิบหาย แต่ท่าทีของหนังคือการบอกว่าไม่ว่ใครจะได้อำนาจ ไม่ว่าใครจะประท้วงใครสุดท้ายคนจนก็ยังจนอยู่ดี ฉากหนึ่งตัวละครนั่งมองคำปราศรัย(อันน่าขัน) ของพรรคเพื่อไทย แล้วลุกหนีไป ยิ่งในฉษกท้ายเมื่อเขาเข้ากรุงเทพ ปะปนไปกับบรรดาผู้ชุมนุม จ้องมองการชุมนุมอันแทบเอาเป็นเอาตายนั้นอย่างไม่เข้าใจ เพราะสุดท้ายเขายังคงจนและจนลงไปเรื่อยๆ จนในที่สุดเขาผละจากผู้ชุมนุมมาพักนอนอยู่กลางซากปูนของสิ่งที่สร้างไม่เสร็จ เฝ้าฝันถึงทุ่งนาที่แม้อยากอยู่เท่าไรก็ไม่อาจอยู่ได้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามันคือความจริง ที่จนก็ยังคงจน จนถึงตอนนี้ หากท่าทีทางการเมืองเช่นนี้อาจไม่ใช่ท่าทีใหม่ ไม่ได้แสดงให้เห็นรากเหง้าของปัญหา เป็นแค่การฉายภาพซ้อนทับเท่านั้นเอง
กล่าวโดยสรุป สวรรค์บ้านนา อาจจะมาได้ไปถึงจุดที่ เรื่องเล่าจากเมืองเหนือ เคยไปถึง ในแง่ของการฉายภาพชีวิต อย่างตรงไปตรงมาและลุ่มลึก การนำเสนอความจริงและทิ้งช่องว่างรอยต่อไม่เนียนเรียบให้ผู้ชมกลับไปใครครวญต่อ ความเรียบเนียนของ สวรรค์บ้านนา อาจทำให้เรามองเห็นความตั้งใจที่เลยพ้นไปสู่ความจงใจได้ง่ายมากขึ้น แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เราพูดได้เต็มปากเลยว่า สวรรค์บ้านนา คือหนังไทยแบบที่เรารอคอย หนังไทยที่เล่าเรื่องแบบสมจริง ตรงไปตรงมาและพูดปัญหาแบบปัจจุบันขณะโดยไม่ต้องเสแสร้งสั่งสอน เทศนาในสิ่งที่ตนไม่เชื่อ หนังไทยแบบที่เราจะบอกได้ว่า นี่ไงเมืองไทยตอนนี้ หนังไทยแบบที่ควรจะมีมาตั้งนานแล้ว
เขาหลับไหล ฝันถึงแผ่นดินอันหอมหวาน เขาฝันถึงทรัพย์มนดินที่เขาหาได้ ทำได้ อยู่ได้ แต่ไม่มีวันได้อยู่ เขาตื่นขึ้นในเมืองแปลกหน้า ดุ่มเดินเดียวดายไปในหนทางที่เขาไม่ได้เลือก บางทีโลกมีทางเลือกไม่มากนัก สวรรค์บางทีก็เป็นได้เพียงความฝันชั่วครู่ชั่วคราว ความจนสิที่เป็นความจริง และจีรัง ลบไม่ออกไม่ว่าจะเปลี่ยนไปอีกกี่รัฐบาลก็ตาม
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น