คุณครู ซ.โซ่อาสา โซ่ข้อกลางในสลัม

5 ก.พ. 2554
โดยไทยรัฐ เมื่อ 16 ม.ค.2552

คำถามตัวเองของคนหนุ่มสาวคือชีวิตนี้จะทำอะไร ส่วนคำถามคนวัยเกษียณอาจเป็นเวลาที่เหลืออยู่ควรทำอะไร

เวลาในความฝันกับเวลาที่เหลือของคนกลุ่ม ซ.โซ่อาสา ได้มาหลอมรวมกันอย่างลงตัว แล้วสร้างสรรค์ให้เกิดคุณค่า โดยสอนหนังสือให้เด็กในชุมชนแออัด และคนเร่ร่อน

จนกลายเป็นตัวอย่างหนึ่งของคนที่ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

ในกลุ่มมีอยู่ด้วยกันประมาณ 30 คน แต่ละคนอุทิศเวลาว่างมาสอนหนังสือให้กับเด็กๆ ทั้งด้อยโอกาสทางการศึกษา และเด็กๆ ที่ต้องการแสวงหาความรู้เพิ่มเติมในวันหยุดเรียน

สถานที่สอนของครูกลุ่ม ซ.โซ่อาสาอยู่ที่ชุมชนตึกแดง ย่านบางซื่อ ใต้สะพานอรุณอมรินทร์ ฝั่งธนบุรี และริมคลองหลอด เขตพระนคร

หัวหน้ากลุ่มคือ

นายธีระรัตน์ ชูอำนาจ หรือครูปู่ ชาวกรุงเทพมหานคร วัยกว่า 70 ปี 

เคยสอนหนังสือมากว่า 20 ปี ลาออกไปเป็นพนักงานบริษัท แล้วเกษียณตัวเอง

ชีวิตครูข้างถนนของครูเริ่มเมื่อ พ.ศ.2543 โดยเป็นอาสาสมัครครูข้างถนนของ ดร.พิจิตต รัตตกุล ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในสมัยนั้น

ต่อมาเมื่อเปลี่ยนผู้ว่าฯ นโยบายก็เปลี่ยน ครูปู่จึงหันมาตั้งกลุ่มครู ซ.โซ่อาสา หวังให้เป็นโซ่แห่งความรัก ความมั่นคงและยืนยาว

“เรายังขาดบุคลากร แม้จะมีครูอาสาประมาณ 30 คนแล้วก็ตาม ใครสนใจจะมาร่วมทำงานกับเรา เป็นครูสอนเด็กๆ ที่ด้อยโอกาส เรายินดีต้อนรับ”

ครูปู่บอกท่ามกลางเสียงนักเรียนจ้อกแจ้กจอแจ ณ อาคารเรียนในชุมชนตึกแดงซอย 1 เขต 3 ลักษณะเป็นอาคารกว้าง หลังคามุงกระเบื้อง ไม่มีฝา ภายใต้หลังคามีกระดานไวท์บอร์ดตั้งอยู่ตามชั้นเรียน ตั้งแต่ชั้นประถมต้น เรื่อยไปจนถึงชั้นประถมปลาย

แต่ละชั้นเรียน ครูอาสากำลังสอนนักเรียนกันอย่างออกรส

โรงเรียนชั่วคราวของครูแห่งนี้ เพิ่งเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2550 แรกเริ่มมีครูอาสาเพียง 4 คน หลังจากนั้นค่อยๆ เพิ่มขึ้นมา จนปัจจุบันมีครูหมุนเวียนกันมาสอนถึง 30 คน

นักเรียนทั้งหมดมี 122 คน มาจากชุมชนตึกแดงเขต 2 และ เขต 3 ส่วนเขต 1 นั้น ครูปู่บอกว่า ยังไม่มีใครเข้ามาเรียน อาจจะเป็นเพราะว่าห่างไกล หรือไม่ก็อาจเป็นเพราะว่า ผู้ปกครองยังไม่สนับสนุนให้มา

“ที่นี่เรียนเฉพาะวันเสาร์ เริ่มเรียนตั้งแต่เวลา 9 โมงเรื่อยไปจนเที่ยง เราเลี้ยงอาหาร 1 มื้อ แล้วต่างคนต่างแยกย้ายกันกลับบ้าน” ครูปู่บอก

การเรียนการสอน โรงเรียนของครู ซ.โซ่อาสาอาจไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน เพราะเมื่อครูกับนักเรียนพร้อม ครูจะดูความต้องการของนักเรียนว่า ต้องการเรียนวิชาอะไร และเรียนเรื่องอะไร

สมมตินักเรียนต้องการรู้เรื่องการดูเวลา ครูก็จะสอนเรื่องการดูเวลา ถ้านักเรียนอยากรู้เรื่องการบวกเลข ครูก็จะสอนเรื่องการบวกเลข

สำหรับนักเรียนที่เรียนหนังสือที่โรงเรียนอยู่แล้ว อ่อนด้อยวิชาใด อยากรู้เรื่องอะไรเพิ่มเติม ครูก็จะช่วยเสริมให้ ตามหลักกว้างๆ ของโรงเรียนมีวิชาหลักคือ วิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ

ในทุกๆวิชาที่สอน สิ่งที่ครูสอดแทรกเสมอคือเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม เพื่อให้เด็กเป็นคนดีของสังคม

เรื่องค่าอาหารครูปู่บอกว่า คณะกรรมการชุมชนตึกแดงเป็นผู้สนับสนุน วัสดุ อุปกรณ์การเรียนการสอนนั้น มีหน่วยงานเอกชนหลายรายนำมาบริจาค

“สิ่งของแรกๆ เราก็ช่วยกันคนละเล็กละน้อย ต่อมามีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือ ทั้งเงินทอง และสิ่งของ ซึ่งเรื่องนี้เราไม่ได้เรียกร้อง” ครูปู่บอก

สำหรับแรงผลักให้ครูหันมาเป็นครูข้างถนนคือ “อาชีพเดิมเราเป็นครู และเห็นความแตกต่างของเด็กๆ ที่ด้อยโอกาสทางการศึกษา เด็กเหล่านั้นส่วนใหญ่อยู่ในชุมชนแออัด ผมอยากให้พวกเขาเป็นคนดี มีความรู้”

ช่วงเริ่มต้น “ชาวบ้านเขาไม่เข้าใจครับ วันหยุดเขาอยากให้ลูกๆ ช่วยทำงาน อยากให้ขายพวงมาลัย เก็บขยะ ล้างชาม และบางคนเอาไปขอทานก็มี การเข้ามาของเราก็เหมือนไปแย่งเวลาทำมาหากินของเขา แต่ภายหลังเมื่อเห็นเราเอาจริง เขาก็เริ่มเห็นคุณค่า เริ่มเปลี่ยนแปลงความคิดให้ลูกเข้ามาเรียน”

จุดหมายปลายฝันของครูปู่ สิ่งที่ต้องการคืออยากให้เด็กเป็นคนดี มีความรู้ มีจริยธรรม เพื่อสังคมจะได้เป็นสุข

ส่วนในแง่ของวัตถุอยากตั้งโรงเรียนในชุมชนแออัด “แต่ผมว่ามันไกลเกินไป เอาแค่ให้มีห้องสมุดให้เด็กๆ ได้อ่านหนังสือก็ดีแล้ว”

มองไกลออกไปในสังคมข้างๆโรงเรียน ครูปู่มองว่า ชุมชนแออัดทุกๆ ที่มีปัญหาคล้ายๆกันคือ ปัญหาครอบครัวแตกแยก ปัญหาการทำมาหากินไม่พอกิน สุขภาพอนามัยไม่ดี และปัญหายาเสพติดที่กำลังกลับมาอีกระลอกหนึ่ง

ใกล้ๆกับครูปู่ มีครูเปิ้ล นภัทร มหาสิทธิลาภ อายุ 26 ปี เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ ซ.โซ่อาสา เมื่อปีที่แล้ว เธอบอกว่า เพื่อนแนะนำให้รู้จัก เมื่อมาสอนเด็ก แล้วเด็กตอบรับดีจึงอาสาเรื่อยมา

“เป็นคนชอบเด็กๆอยู่แล้ว เมื่อเห็นว่าเราทำอะไรให้เด็กได้บ้าง ก็มาช่วย”

ครูเปิ้ลบอกว่า จะดูก่อนว่าเด็กต้องการอะไรเป็นหลัก

“เราไม่ต้องการเน้นวิชาการ แต่ต้องการเน้นศีลธรรม และคุณธรรม

เราสอนอยู่ 3 ที่คือ คลองหลอด สะพานอรุณอมรินทร์ และชุมชนตึกแดง แต่ละที่เด็กจะต่างกันคือ เด็กที่อรุณอมรินทร์จะหนักไปทางเด็กขอทาน ที่คลองหลอดหนักไปทางเด็กเร่ร่อน และที่ชุมชนตึกแดงเป็นเด็กชุมชนแออัด”

พลางบอกถึงความประทับใจหัวหน้ากลุ่มว่า ครูปู่เป็นคนทำงานจริงจัง เชื่อมั่นในตนเอง ทำประโยชน์ให้กับสังคมโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ทำให้อยากช่วยครูปู่ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะทำไม่ไหว

ครูอุ้ย หรือสุนทรีย์ ไกรอุภัย เป็นโซ่อีกข้อหนึ่งของ ซ.โซ่อาสา เธอทราบเรื่องการทำกิจกรรมของครูปู่มาจากเพื่อนๆ จึงเข้ามาดูและร่วมอาสาอีก 1 แรง

“เด็กๆน่ารักดี ไม่ก้าวร้าว ร่วมกิจกรรมกับเราดี เราจัดกิจกรรมอะไรเด็กก็ให้ความร่วมมือดี” ครูอุ้ยกล่าวถึงความประทับใจ และบอกถึงความศรัทธาครูปู่ว่า เป็นคนที่มีอุดมการณ์ มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาเด็กด้อยโอกาส โดยไม่เน้นเรื่องวิชาการมาก แต่เน้นไปที่การปลูกจิตสำนึก ให้เด็กตระหนักในคุณงามความดี

นอกจากครูเปิ้ล ครูอุ้ย ยังมีครูอื่นๆ และครูโอ๋ ลลภา พวงแก้ว ที่ทราบเรื่องราวจากอินเตอร์เน็ตแล้วเข้ามาอาสาอีกแรงหนึ่ง ด้วยหวังว่าจะได้ช่วยกันพัฒนาเด็กที่อยู่ในชุมชนต่างๆ ได้มีความรู้ และคุณธรรม

แน่นอนการเป็นครูสอนเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษา ทั้งเด็กเร่ร่อน และชุมชนแออัด ต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ เป็นต้นว่า ต้องทำความรู้จักให้ได้ก่อน ค่อยสร้างความคุ้นเคย เมื่อเด็กๆ ให้ความไว้วางใจแล้ว ถึงจะสอนเด็กๆ ได้

เมื่อครูปู่เปิดทางมาให้แล้ว ครูกลุ่ม ซ.โซ่อาสา จึงเดินได้ง่ายขึ้น

หันไปทางเด็กๆบ้าง น้องมิน หรือ ด.ญ.อทิตยา หาญจิตร อายุ 11 ขวบ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนสามเสนวิทยา เธอบอกว่าเข้ามาเรียนกับครูปู่ตั้งแต่ พ.ศ.2550

“ครูสอนสนุกดีค่ะ ชอบเล่าเรื่องตลกๆให้ฟัง ครูจะย้ำตลอดเวลาว่า ใครอยากรู้อะไรให้บอกครู ครูจะสอนให้ ทุกๆครั้งครูจะสอนในเรื่องที่เราอยากรู้”

การใช้เวลาว่างของครูกลุ่ม ซ.โซ่อาสา ประหนึ่งตระหนักว่า เวลาในชีวิตคนสั้นยาวไม่เท่ากัน แต่เวลาสั้นยาวนั้น ไม่ใช่เครื่องวัดคุณค่าของชีวิตแต่อย่างใด
Read more ...

ความคิดเห็นล่าสุด

Recent Comments Widget