"ปัญหา" ของ "พัฒนาการ" ในวงการลูกหนังปลาดิบ

12 มี.ค. 2554
ที่มา นสพ.มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 11 มีนาคม 2554

เมื่อต้นสัปดาห์สื่อแดนอาทิตย์อุทัยมีวาระเล็กๆ ให้ได้เฉลิมฉลองกันอย่างครึกครื้น เมื่อ

ยูโตะ นากาโตโมะ ฟูลแบ๊คทีมชาติญี่ปุ่น 

ทำประตูให้ต้นสังกัด อินเตอร์ มิลานได้เป็นครั้งแรกในเกมกัลโช่ เซเรียอา หลังย้ายจาก เชเซน่า สู่ถิ่นซาน ซิโร่ ด้วยสัญญายืมตัวเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

เป็นเหตุการณ์พิเศษที่หนังสือพิมพ์บางฉบับบอกว่า ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์วงการลูกหนังแดนปลาดิบ เนื่องจากนี่เป็นประตูที่นักเตะเลือดซามูไรทำได้ในการลงเล่นให้หนึ่งในทีมชั้นนำของลีกอิตาลี เพราะที่ผ่านมา แม้จะเคยมีรุ่นพี่รุ่นน้ายิงได้ ก็ไม่ใช่กับทีมใหญ่ขนาดนี้

ก้าวเล็กๆ ของนากาโตโมะยิ่งเหมือนการตอกย้ำความสำเร็จของทีมชาติญี่ปุ่นเจ้าของฉายา "ซามูไรสีน้ำเงิน" ในเวทีโลก ต่อจากการคว้าแชมป์ เอเชี่ยนคัพ มาครองเป็นสมัยที่ 4 เมื่อต้นปี ซึ่งมากกว่าทีมใดๆ ในประวัติศาสตร์การแข่งขัน

และถ้าย้อนไปไกลกว่านั้นก็คือ ฟุตบอลโลก 2010 ที่ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งญี่ปุ่นผ่านเข้ารอบสองในฐานะอันดับ 2 ของกลุ่มอี ทั้งที่มีคู่แข่งหินๆ อย่างเนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก และแคเมอรูน ก่อนไปแพ้ดวลลูกโทษปารากวัยอย่างฉิวเฉียดในรอบต่อมา

หลังสิ้นสุดเวิลด์คัพ มีนักเตะจากญี่ปุ่นได้ย้ายไปค้าแข้งในลีกบุนเดสลีก้าของเยอรมนีถึง 6 คน และหลังคว้าแชมป์เอเชี่ยนคัพก็ยิ่งมีสโมสรจากยุโรปสนใจดึงตัวแข้งปลาดิบไปร่วมทีมมากขึ้น ซึ่งกรณีของนากาโตโมะก็เป็นหนึ่งในนั้น

อัฟชิน ก็อตบี้ ผู้ช่วยโค้ชทีม ชิมิซุ เอส-พัลส์ ในเจ-ลีก 

ซึ่งพาทีมอิหร่านผ่านเข้าถึงรอบก่อนรองชนะเลิศเอเชี่ยนคัพ 2011 บอกว่า คุณสมบัติของนักเตะญี่ปุ่นที่ทำให้เป็นที่ต้องตาของสโมสรในยุโรปก็คือ เทคนิคดี ฉลาดเล่น ขยัน มีวินัย และเหนือสิ่งอื่นใดคือความทุ่มเทให้ทีม

ก็อตบี้แสดงทรรศนะด้วยว่า การได้ไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในลีกยุโรปช่วยพัฒนาฝีเท้าของเหล่าสตาร์ทีมชาติญี่ปุ่นได้ดี ขณะเดียวกันการ "อพยพย้ายถิ่น" ซึ่งเกิดต่อเนื่องเป็นระลอกในขณะนี้ยังช่วยเปิดโอกาสให้แข้งเยาวชนมีโอกาสเริ่มต้นพัฒนาตัวเองจากการเล่นในเจ-ลีกด้วยถือเป็นสถานการณ์ที่ "วิน-วิน" สำหรับทุกฝ่าย

อย่างไรก็ตาม สภาวการณ์เดียวกันนี้เมื่อมองมุมกลับจากสโมสรในเจ-ลีก กลับกลายเป็นปัญหาใหญ่หลวงที่ไม่มีแววว่าจะคลี่คลายในเร็ววัน

เนื่องเพราะ "เหตุผล" อีกประการที่ทำให้สโมสรยุโรปสนใจดึงตัวนักเตะญี่ปุ่นไปร่วมทีมก็คือเรื่อง "ค่าตัว" ที่ถูกแสนถูก หรือที่สื่อญี่ปุ่นเรียกกันว่า "ย้ายทีมในราคาศูนย์เยน" นั่นเอง

ปัญหาดังกล่าวเป็นผลพวงจากยุคแรกเริ่มราวทศวรรษที่ 1990 ซึ่งเจ-ลีกตัดสินใจล้อการทำสัญญาของลีกเบสบอลอาชีพ ที่ได้รับความนิยมกว่ามากในตอนนั้น

ลีกเบสบอลของญี่ปุ่นนั้น โดยมากนักกีฬาจะเซ็นสัญญากับสโมสรหนึ่งๆ เพียงปีเดียว และพร้อมทุ่มเทให้กับต้นสังกัดอย่างสุดกำลัง โดยเป็นเหมือนสัญญาใจระหว่างนักกีฬากับสโมสร และสัญญาสุภาพบุรุษระหว่างสโมสรด้วยกันเองว่าจะไม่มีการทุ่มเงินมหาศาลดึงใครไปจากทีมไหนกลางคันเด็ดขาด

เมื่อเจ-ลีกนำระบบนี้มาใช้เมื่อราว15 ปีก่อน ทุกอย่างเป็นไปโดยราบรื่นเนื่องจากคราวนั้น มาตรฐานลูกหนังแดนอาทิตย์อุทัยยังห่างจากยุโรปมาก แต่เมื่อแผนพัฒนาเยาวชนทีมชาติอย่างต่อเนื่องผลิดอกออกผลเป็นผลงานที่เห็นจริงจับต้องได้ ลีกยุโรปที่ไม่ได้ร่วมทำสัญญาใจ แต่แรกเริ่มจึงสามารถดึงตัวนักเตะไปร่วมทีมได้โดยง่าย แถมในราคาที่ถูกสุดสุด อาทิกรณีของ

ชินจิ คากาว่า 

ที่ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ซื้อตัวจาก เซเรโซ่ โอซาก้า ในราคาเพียง 350,000 ยูโร (14.7 ล้านบาท) เมื่อปีที่แล้ว ขณะที่ราคาประเมินของกองกลางดาวรุ่งวัย 21 ปี ในขณะนี้อยู่ที่ 20 ล้านยูโร (840 ล้านบาท)

ซึ่งเป็นมูลค่าที่สามารถซื้อนักเตะทั้งเจ-ลีกได้ในปัจจุบัน!!

การสูญเสียนักเตะพรสวรรค์จำนวนมากมายให้กับสโมสรยุโรปแบบไม่คุ้มทุนไม่คุ้มค่าความเหนื่อยยากที่อุตส่าห์ปลุกปั้นกันมา กลายเป็นประเด็นให้สื่อญี่ปุ่นเรียกร้องความเปลี่ยนแปลง แม้ใจหนึ่งจะรู้สึกยินดีที่ได้เห็นนักเตะจากประเทศของตัวเองไปโชว์ศักยภาพในเวทีระดับโลกก็ตาม

แต่สำหรับสโมสรเจ-ลีกแล้วนี่ยิ่งเป็นสถานการณ์ที่เสียกับเสีย เพราะเมื่อเสียนักเตะดีๆ ไปหมด ก็ต้องเริ่มมองหากำลังเสริม และกลายเป็น "เทรนด์" ใหม่อิมพอร์ตแข้งออสเตรเลียเข้าลีกจำนวนมากมายในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม การขาดนักเตะท้องถิ่นระดับแม่เหล็กหลายคน อาจกระทบต่อความสนใจจากแฟนๆ ได้

แถมยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่ไม่เอื้ออำนวย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่ประเทศญี่ปุ่นกำลังเผชิญ หรือการที่ทีมในเจ-ลีกส่วนใหญ่ยังอยู่ในระบบเดิมคือ โดยมากมักมีบริษัทเอกชนเป็นเจ้าของ ทำให้ผู้บริหารไม่ใช่มืออาชีพด้านกีฬาอย่างแท้จริง จึงขาดแผนพัฒนาองค์กรที่ดี

ยังดีว่าแฟนๆ ของเจ-ลีกยังค่อนข้างเหนียวแน่น ดังปรากฏว่ายอดผู้ชมเกมลีกในสนามเมื่อฤดูกาล 2010 เฉลี่ยอยู่ที่นัดละ 18,500 คน ซึ่งถือว่าน่าพอใจมากๆ

แต่ด้วยความเป็นไปในปัจจุบัน จะยังคงประคองให้ทุกอย่างเดินหน้าไปเรื่อยๆ โดยไม่สะดุดได้หรือไม่นั้น ไม่มีใครบอกได้จริงๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นล่าสุด

Recent Comments Widget