ในบทนึง ผู้เขียน (Eran Katz) เล่าถึง วิคเตอร์ ฟรังเคิล (Viktor E. Frankl) บิดาแห่งจิตบำบัดด้วยวิธีแสวงหาความหมายของชีวิต (Logotherapy) และเป็นนักจิตวิทยาที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งแห่งศตวรรษที่ยี่สิบ
ในหนังสือ Man's Search For Meaning เขาเล่าว่า เขาได้ใช้จินตนาการเพื่อให้ตัวเองหลุดพ้นจากความยากลำบากมากๆ เพราะถูกจับเข้าไปอยู่ในค่ายกักกันออชวิตซ์ ค่ายกักกันที่มีชื่อที่สุดในด้านความโหดร้ายทารุณ คนที่อยู่ในนี้จะถูกใช้แรงงานเยี่ยงทาส อาหารน้อย อากาศหนาวทารุณ จะตายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ คนที่ล้มตายเพราะขาดอาหารหรือป่วยตายก็มีมากมาย ไม่ต้องพูดถึงคนที่ถูกรมแก๊สหรือถูกยิงเป้าซึ่งมีอีกมหาศาล (ชาวยิวถูกฆ่าตายไปถึง 6 ล้านคนในค่ายกักกันทั้งหมดของนาซี) รวมถึงพ่อแม่และภรรยาของเขาก็ถูกฆ่าตายในค่ายกักกันด้วยเช่นกัน
สิ่งที่เขาทำเพื่อให้มีกำลังใจในการอยู่รอด (ท่ามกลางสภาพอันโหดร้ายของค่ายกักกันที่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะต้องตาย) ก็คือ การจินตนาการว่า ได้อยู่หน้าห้องบรรยายที่สวยงาม มีแสงไฟสว่างไสวและอบอุ่น มีผู้ฟังจำนวนมากกำลังตั้งใจฟังสิ่งที่เค้าพูดอยู่ และเขากำลังบรรยายในเรื่องจิตวิทยาในค่ายกักกัน ....
วิคเตอร์กล่าวว่า สภาพความเป็นจริงไม่สามารถแย่งชิงความสุขหรือสร้างความทุกข์ให้กับเขาได้ การได้นึกถึงสิ่งที่ตนรักและมีความสุขกับมันทำให้เขาทนทานกับสภาพอันเลวร้ายได้
วิคเตอร์ แฟรงเคิล ยังได้พูดถึงหญิงร่วมชะตากรรมคนหนึ่งในค่ายเธอกำลังจะตายแต่ไม่กระสับกระส่ายหรือทุกข์ทรมานแต่อย่างใด ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ เธอบอกเขาว่าเธอมีเพื่อนปลอบใจ เพื่อนนั้นก็คือต้นไม้ซึ่งโผล่ให้เห็นทางหน้าต่าง ไม้ต้นนั้นมีดอกอยู่ ๒ ดอกเท่านั้น เธอบอกว่า“ฉันชอบคุยกับต้นไม้ต้นนี้ แล้วเขาก็ตอบฉันเสียด้วย” วิคเตอร์ แฟรงเคิลถามว่า ต้นไม้บอกอะไร เธอตอบว่า “ต้นไม้บอกว่า ฉันอยู่นี่ ฉันอยู่นี้ฉันคือชีวิต ชีวิตนิรันดร์” ต้นไม้ต้นนั้นให้ความหวังแก่เธอ แม้ในยามหน้าหนาวอันลำเค็ญ ต้นไม้ต้นนี้ยังผลิตดอกออกมาอย่างไม่ย่อท้อต่อความหนาวเหน็บ สำหรับคนทั่วไป พอเห็นต้นไม้แบบนี้แล้วไม่รู้สึกอะไรแต่ถ้ามองให้เป็น เราจะได้กำลังใจจากต้นไม้เหล่านี้มาก แต่จะมองอย่างนี้ไม่ได้อยู่ที่ต้นไม้ หากอยู่ที่ใจเรามากกว่า
ในช่วงเวลาที่อยู่ในค่ายกักกัน เขาช่วยให้เพื่อนร่วมค่ายหลายคน สร้างจินตนาการทำนองเดียวกัน และหลุดพ้นจากการคิดฆ่าตัวตาย บางครั้ง ผู้คุมก็มาขอให้เขาช่วยสอนวิธีจินตนาการแบบนี้ด้วย (คงจะเครียดมากเหมือนกัน)
หลังจากที่เขาได้รับการปลดปล่อย เขาได้รับเชิญให้ไปบรรยายเกี่ยวกับชีวิตของเขาที่นั่นตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ถึง 138 แห่งทั่วโลก
ความคิดในเชิงจินตนาการเชิงสร้างสรรค์แบบนี้เป็นแหล่งที่มาและพลังสำหรับความอยู่รอดของเขา
แอมมี่ใช้ตัวอย่างของ ดร.แฟรงเคิล ในการบรรยายในหัวข้อ "การฝึกความคิดสร้างสรรค์" , "การคิดด้วยมโนทัศน์เชิงบวก" และ "การทำงานเชิงรุก" ในช่วงปีที่ผ่านมา (2008-2009) เนื่องจาก แอมมี่ก็มีความเห็นเหมือนกันว่า นี่เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดในการเอาชนะจิตใจของมนุษย์ และแสดงให้เห็นว่า จินตนาการของคนเรานั้น สามารถเอาชนะได้แม้ในสภาพความเป็นจริงที่เลวร้ายที่สุดค่ะ
ถ้าโยงมาเข้าสู่ธรรมะของพระพุทธเจ้า พระไพศาล วิสาโล ท่านสรุปไว้ดีมากค่ะ
วิคเตอร์ แฟรงเคิลกับหญิงคนนั้นอาจไม่รู้จักสมาธิภาวนา แต่ก็สามารถน้อมจิตไปในทางที่ดีงามเป็นกุศล แม้จะอยู่ในนรกแต่ในใจเขากลับเป็นสวรรค์ ที่ทำให้มีกำลังใจสู้ความทุกข์ต่อไปได้ วิคเตอร์ แฟรงเคิลสามารถรอดชีวิตจากค่ายนรกได้ทั้ง ๆ ที่กายนั้นทุกข์ทรมานอย่างมากแต่เขารู้จักประคองใจไม่ให้ทุกข์ อันหลังนี้แหละที่ทำให้เขารอดตายมาได้
อันนี้ตรงกับที่ท่านอาจารย์พุทธทาสกล่าวว่า "หาสุขได้ในทุกข์" เราต้องรู้จักหาสุขจากทุกข์ เพราะในทุกข์มีสุขเสมอ สุขกับทุกข์ไม่ได้แยกจากกันอย่างเด็ดขาด เหมือนกับความร้อนกับความหนาว ในความร้อนก็มีความหนาวอยู่ ในความหนาวก็มีความร้อนอยู่ ข้างนอกศาลานี้เปียกฝน ข้างในแห้ง แต่ที่จริงก็มีความชื้นอยู่...
ฉันใดก็ฉันนั้น ในทุกข์ก็มีสุขอยู่ เราต้องมองให้เห็น จะเห็นได้ก็ต้องอาศัย ๓ เกลอนี่แหละ คีอ สติ ปัญญา และสมาธิ ถ้าเอา ๓ เกลอมาใช้สอดส่อง เราก็จะเห็นว่าสิ่งเลวร้ายนั้นมีสิ่งดี ๆ แฝงอยู่ หรือรู้จักมองร้ายให้กลายเป็นดีได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น