เคล็ดลับ 7 ข้อในการทำธุรกิจของ สตีฟ จ็อบส์

9 ต.ค. 2554
โดยเส้นทางเศรษฐี เมื่อ 1 ต.ค.2554

คงไม่ต้องอรรถาธิบาย ให้เสียเวลาว่าใครคือ "สตีฟ จ็อบส์" แม้แต่เด็กเล็กๆ ยังรู้จัก ถ้าถามว่าใครคือนายกรัฐมนตรีของไทย เด็กๆ อาจจะคิดนาน แต่ถ้าถามว่าใครคือเจ้าของบริษัทแอปเปิ้ล ผู้ผลิตไอโฟน แทบไม่ต้องคิดให้เสียเวลา

ทั้งนี้ เพราะสินค้าของเขาไม่ว่า ไอพอด ไอแพด ไอโฟน ทั้งหลายเป็นที่รู้จักทั่วโลก มียอดขายมากกว่างบประมาณของรัฐบาลไทยเสียอีก

หากเทียบกันระหว่าง "บิลล์ เกตส์" เจ้าของไมโครซอฟท์ที่เคยติดอันดับร่ำรวยอันดับ 1 ของโลกมาแล้ว กับ "สตีฟ จ็อบส์" ใครเก่งกว่าใครคงตอบยาก ทั้งคู่โดดเด่นคนละด้าน

แต่ที่รู้ๆ "สตีฟ จ็อบส์" นั้นป๊อปปูล่าร์มากกว่า เพราะนอกจากจะเก่งเรื่องคิด แล้วยังเก่งเรื่องการทำธุรกิจ การบริหารจัดการ ที่สำคัญ มีความเป็นศิลปินสูงมาก เราจะเห็นว่า ทุกครั้งที่มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมา สตีฟ จ็อบส์ จะเป็นคนพรีเซ้นต์แนะนำสินค้าเอง ด้วยบุคลิกที่โดดเด่น แต่งกายเป็นเอกลักษณ์ และมีเสน่ห์ในการนำเสนอ จึงได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนทั่วโลก

จึงอยากนำเสนอหลักคิดในการทำงานของเขาว่าเป็นอย่างไร ทำไมเขาจึงประสบความสำเร็จ อย่างน้อยเพื่อให้ผู้อ่านที่มีกิจการอยู่แล้วเอาไปปรับใช้กับการทำธุรกิจของท่าน

อย่าลืมว่า กว่าแอปเปิ้ลจะเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกทุกวันนี้ก็เริ่มจากธุรกิจเล็กๆ มาก่อน โดยสตีฟ จ็อบส์ ใช้หอพักในมหาวิทยาลัยเป็นโรงงาน เช่นเดียวกับบิลล์ เกตส์ ที่ใช้โรงรถประกอบคอมพิวเตอร์

จะเห็นว่าธุรกิจของเขานั้นเริ่มต้นจากธุรกิจเล็กๆ เรียกว่าไมโครบิสซิเนสเลยทีเดียว เล็กกว่าธุรกิจเอสเอ็มอีในบ้านเรา เล็กกว่าธุรกิจของท่านผู้อ่านเสียอีก

หลักคิดในการทำงานของสตีฟ จ็อบส์ ไม่เพียงแต่ใช้ประยุกต์ในการบริหารองค์กรเท่านั้น ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันได้อีกด้วย

หลัก 7 ข้อในการขับเคลื่อนธุรกิจของสตีฟ จ็อบส์ นำมาจากหนังสือชื่อ "กล้าคิดต่างอย่าง สตีฟ จ็อบส์" แปลและเรียบเรียงโดย ศรชัย จาติกวณิช ประสิทธิ์ชัย วีระยุทธวิไล ซึ่งน่าสนใจอย่างยิ่ง แต่ถ้าใครอยากอ่านฉบับเต็มไปหาซื้อได้ตามร้านขายหนังสือทั่วไป

หลักการ 7 ข้อในหนังสือเล่มนี้ จะบังคับให้คุณคิดอย่างแตกต่างในเรื่อง หน้าที่การงาน บริษัท ลูกค้า และสินค้าของคุณ หลักการทั้งหมดเรียงลำดับดังนี้

หลักการที่ 1 

"ทำในสิ่งที่ใจรัก" หลักการนี้คงเป็นหลักการทั่วไปที่หลายคนอาจรับรู้มาแล้วจากประวัติบุคคลที่ประสบความสำเร็จล้วนต้องเริ่มจากทำในสิ่งที่ใจรักทั้งสิ้น

เฉกเช่นเดียวกับสตีฟ จ็อบส์ ที่เขาทำตามเสียงเรียกร้องของหัวใจของเขามาตลอดชีวิต และเขาบอกว่า มันทำให้เกิดความแตกต่าง

หากใครอยากประสบความสำเร็จในชีวิต ควรจะต้องเริ่มจากทำในสิ่งที่คุณรักเสียก่อน

หลักการที่ 2 

"เปลี่ยนแปลงโลก" สตีฟ จ็อบส์ ดึงดูดผู้ที่คิดเหมือนเขาเข้ามา ผู้ที่มีวิสัยทัศน์ร่วมกัน และผู้ที่จะเปลี่ยนไอเดียที่เขามีให้กลายเป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้ ความมีใจรักเป็นเชื้อเพลิงที่ส่งจรวดของแอปเปิ้ลทะยานขึ้นฟ้า โดยมีวิสัยทัศน์ของสตีฟ จ็อบส์ เป็นจุดหมาย

หลักการที่ 3 

"เขี่ยลูกเปิดเกมให้สมองทำงาน" 

นวัตกรรมจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าปราศจากความคิดสร้างสรรค์ สำหรับสตีฟ จ็อบส์ แล้วความคิดสร้างสรรค์ก็คือการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน สตีฟ จ็อบส์ เชื่อว่า ประสบการณ์ที่กว้างไกลจะช่วยให้เราเข้าใจเรื่องราวของมนุษย์มากขึ้น

หลักการที่ 4 

"ขายฝัน ไม่ใช่สินค้า" 

สำหรับสตีฟ จ็อบส์ แล้วผู้ซื้อสินค้าแอปเปิ้ลไม่ใช่ "ลูกค้า" แต่เขาคือผู้มีความหวัง ความฝัน และใฝ่สูง สตีฟ จ็อบส์ สร้างสินค้าขึ้นมาเพื่อช่วยให้พวกเขาเหล่านี้บรรลุความฝันที่มี

หลักการที่ 5 

"บอกปฏิเสธกับ 1,000 สิ่ง"

ความเรียบง่ายคือความลึกล้ำสูงสุด นี่คือ คำบอกของสตีฟ จ็อบส์ ตั้งแต่การออกแบบไอพอด ไปจนถึงไอโฟน บรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าของแอปเปิ้ลไปจนถึงเว็บไซต์ของแอปเปิ้ล นวัตกรรมคือการขจัดสิ่งไม่จำเป็นออกไป เพื่อเปิดช่องให้สิ่งจำเป็นได้พูดบ้าง

หลักการที่ 6 

"การสร้างประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมอย่างไม่บันยะบันยัง" 

สตีฟ จ็อบส์ ได้ทำให้ร้านค้าแอปเปิ้ล เป็นมาตรฐานทองของการให้บริการลูกค้า ร้านค้าแอปเปิ้ลเป็นร้านค้าปลีกที่ดีที่สุดในโลกด้วยนวัตกรรมง่ายๆ ที่ธุรกิจไหนๆ ก็นำไปสร้างสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับลูกค้าได้ทั้งนั้น

หลักการที่ 7 

"เก่งสื่อสาร"

สตีฟ จ็อบส์ เป็นนักเล่าตัวฉกาจระดับโลก ที่ยกระดับงานเปิดตัวสินค้าให้เป็นงานศิลปะ ถึงคุณจะมีไอเดียที่สร้างสรรค์สุดยอด แต่หากคุณไม่สามารถทำให้คนอื่นตื่นเต้นกับมันได้ งานนวัตกรรมของคุณก็ไร้ค่า

นี่คือ หลักคิดของสตีฟ จ็อบส์ ที่นำมาใช้กับการทำงานและการดำเนินชีวิตควบคู่กันอย่างได้ผลจนเป็นที่รู้จักทั่วโลก

ไมเคิล แองเจโล ได้เคยพูดไว้ว่า "อันตรายใหญ่หลวงของพวกเราไม่ใช่การใฝ่สูงแล้วไปไม่ถึง แต่คือการไม่ใฝ่สูงแล้วก็เป็นได้แค่นั้น" ไมเคิล แองเจโล และสตีฟ จ็อบส์ มองเห็นในสิ่งที่คนอื่นไม่สามารถมองเห็น ไมเคิล แองเจโล มองก้อนหินอ่อนแล้วเห็นเดวิด (ประติมากรรมหินอ่อนชื่อกระฉ่อนโลก) สตีฟ จ็อบส์ มองเห็นคอมพิวเตอร์แล้วมองเห็นเครื่องมือปลดปล่อยศักยภาพที่มีในตัวเรา

แล้วคุณล่ะ เห็นศักยภาพอะไรในตัวบ้าง ลองจินตนาการดูว่าคุณทำธุรกิจอะไรได้บ้าง จินตนาการว่าคุณสามารถก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้มากน้อยแค่ไหน ลองหาคำตอบดู

สักวันคุณอาจประสบความสำเร็จในธุรกิจเหมือนอย่างที่สตีฟ จ็อบส์ ทำสำเร็จมาแล้ว

จงรีบลงมือค้นหาตัวเองเดี๋ยวนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นล่าสุด

Recent Comments Widget