โดยศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ :มติชนรายวัน 2 ก.ย.2556
ที่ช็อปปิ้งมอลล์แห่งหนึ่งในเมืองลอว์เรนซ์วิล รัฐนิวเจอร์ซีย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เอลดาร์ ชาฟีร์ นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน กับทีมงานของเขาสุ่มตัวอย่างคนอเมริกันซึ่งมีรายได้ต่างกันโดยรายได้ต่ำสุด ประมาณ 20,000 เหรียญสหรัฐ และระดับเฉลี่ยประมาณ 70,000 เหรียญ
กลุ่มตัวอย่างที่สมัครใจจะต้องแก้ไขปริศนาที่เป็นเหมือนกับแบบทดสอบไอคิวอย่างหนึ่ง แต่ก่อนจะเริ่มทำพวกเขาจะต้องตอบคำถามคำถามหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องเงิน คำถามที่ว่าก็คือ หากรถยนต์เสีย และจำเป็นต้องใช้เงินจำนวน .... เหรียญ พวกเขามีทางเลือกอะไรบ้าง
คำถามดังกล่าวเป็นการกระตุ้นให้คนคิดถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ ในกระเป๋าก่อนที่จะเริ่มการทดสอบไขปริศนา และจากผลการทดสอบที่ออกมาพบว่าคนที่มีรายได้น้อยแก้ไขปริศนาได้ดีพอๆ กับคนที่มีรายได้มากเมื่อจำนวนเงินที่ใช้ในการซ่อมรถต่ำประมาณ 100 เหรียญ
แต่เมื่อจำนวนเงินที่ต้องใช้ในการซ่อมรถสูงขึ้นไปถึง 1,500 เหรียญ คนที่มีรายได้น้อยกว่าก็จะทำแบบทดสอบออกมาได้แย่กว่า
แนวโน้มทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นชาวไร่อ้อยในอินเดีย ที่ทีมงานเข้าไปศึกษา ชาวไร่อ้อยเหล่านั้นมีรายได้จากการปลูกอ้อยเพียงปีละครั้ง ก่อนถึงฤดูการเก็บเกี่ยวคนเหล่านี้จะเครียดกับเรื่องการเงิน แต่ทันทีที่เก็บเกี่ยวอ้อยเสร็จจะผ่อนคลาย ผลจากการทดสอบพบว่าหลังจากการเก็บเกี่ยวซึ่งชาวไร่อ้อยอินเดียได้รับเงินแล้วจะแก้ไขปริศนาได้ดีกว่าก่อนการเก็บเกี่ยว
แน่นอนว่าเมื่อคนมีปัญหาเรื่องเงินๆ ทองๆ เข้ามาสมองก็จะหมกมุ่นอยู่กับปัญหาเหล่านั้นเป็นธรรมดา มันกินทั้งเวลาและพลังงาน ทำให้ความสามารถในการคิดให้ชัด หรือการคิดเรื่อง อื่นๆ ลดน้อยถอยลง
เรื่องนี้ดูเผินๆ ก็เหมือนเป็นเรื่องธรรมดาที่รู้อยู่แล้ว แต่ผลกระทบของมันจากการศึกษาของชาฟีร์และคณะพบว่ามันไม่ธรรมดา
เพราะหลังจากกระตุ้นให้คนคิดถึงปัญหาเรื่องเงินแล้ว ปรากฏว่าประสิทธิภาพในการแก้ไขปริศนาจากการทดสอบลดลงอย่างน้อย 1 ใน 4 เทียบเท่ากับคนอดหลับอดนอนตลอดคืนเลยทีเดียว
และนี่ไม่ใช่ปัญหาความยากจน แม้ว่าความยากจนจะทำให้คนมีโอกาสมีปัญหาการเงินมากกว่าก็ตาม
เซนด์ฮิล มัลเลนนาธาน นักเศรษฐศาสตร์ที่ร่วมการศึกษาครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มตัวอย่างทั้งในนิวเจอร์ซีย์และในอินเดียต่างก็ไม่ใช่คนยากจนเมื่อพิจารณาจากรายได้ แต่เป็นคนที่ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันทางการเงิน สิ่งที่ตามมาก็คือประสิทธิภาพในการคิดและการทำงานลดลง เพราะมัวแต่คิดเรื่องเงินๆ ทองๆ ในชีวิตประจำวัน
ชาฟีร์ให้แง่คิดว่าที่จริงแล้วไม่ใช่ว่าคนจนไม่ฉลาดหรือมีความสามารถในการวางแผนเท่าคนรวย "เมื่อคนจนพุ่งเป้าไปในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง พวกเขาสามารถจัดการเรื่องเงินได้ดีกว่าคนรวยด้วยซ้ำ แต่เมื่อทำอย่างนั้นได้ดีมาก พวกเขาก็ให้ความสนใจกับเรื่องอื่นๆ น้อยลง"
ผลกระทบจากปัญหาเงินๆ ทองๆ บั่นทอนความสามารถในการคิดของคนลงได้มาก ปัญหาอยู่ที่ว่าจะบริหารจัดการ "การคิด" ของเราได้อย่างไร
ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยที่จะเอาปัญหาเรื่องเงินออกไปจากความคิด แม้จะเอาออกไปแบบชั่วคราวเพื่อแบ่งให้สมองได้คิดเรื่องอื่นๆ ให้ชัดขึ้น
ถ้าทำได้ก็ดี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น