สามก๊กแห่งศตวรรษที่ 21

11 ต.ค. 2552
เกียรติศักดิ์ จีรเธียรนาถ CEO ของ G.Base Alliance/kiattisak@gbasealliance.com คมลัมน์ธุรกิจไทยสู้โลก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ จันทร์ 16 ธันวาคม 2545)

ผลการศึกษาของธนาคารโลกบ่งชี้ว่า เอเชียจะเป็นเจ้าโลกในปี ค.ศ.2020 โดยมีส่วนแบ่งของรายได้ของโลกประมาณ 67% ในขณะที่จำนวนประชากร ก็ประมาณ 4,200 ล้านคน หรือประมาณ 65% ของประชากรโลก ปัจจุบันนี้เอเชียมีประชากรเกือบ 4,000 ล้านคนเศษ หรือประมาณ 61% แต่มีรายได้เพียง 17.25% ของรายได้รวมของโลก

ยุทธศาสตร์การแข่งขันของบริษัทต่างๆ ในเอเชียจำเป็นต้องประคองตัวไม่เข้าต่อสู้ในเกมของสหรัฐอเมริกาที่วางไว้ คือ พยายามครองโลกโดยแนวทางโลกาภิวัตน์ ที่เอาเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นหัวหอกที่สำคัญและกำลังนำเอาเทคโนโลยีชีวภาพมาเป็นกองหนุน เพื่อยึดตลาดสินค้าและบริการคุณภาพสูงไว้ในกำมือ

อย่างไรก็ดีธรรมชาติ หรือความจริงมีความยุติธรรมเสมอนั้น คือมนุษย์ยังคงมีความจำเป็นต้องบริโภคปัจจัย 4 สำหรับการดำรงชีพและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ประชากรส่วนใหญ่ของเอเชียยังคงต้องการสินค้าและบริการพื้นฐาน และยังไม่มีเงินเหลือมากนักสำหรับสินค้าที่ฟุ่มเฟือย

จำนวนประชากรของเอเชียที่มีจำนวนมากเป็นทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตในสินค้าและบริการพื้นฐาน แม้ว่าบริษัทต่างๆ ในเอเชียจะใช้แรงงานมากกว่าและใช้เทคโนโลยีในระดับต่ำกว่าก็ตาม แต่ยังคงสามารถรักษาระดับความสามารถในการแข่งขันไว้ได้ หากไม่ประกันความเสี่ยงในอัตราแลกเปลี่ยน

หนทางที่บริษัทต่างๆ ในเอเชียจะปลอดภัยจากความเสี่ยงในอัตราแลกเปลี่ยนก็คือ

1) ลดระดับการกู้เงินที่เป็นเงินตราต่างประเทศที่เป็นเงินตราหลัก อาทิเงินดอลลาร์สหรัฐและยูโรดอลลาร์

2) ลดสัดส่วนหนี้สินต่อเงินทุนลงให้ต่ำกว่าอดีตที่เคยสูงเกินกว่า 2:1

3) เพิ่มรายการส่งออกที่ได้เงินตราต่างประเทศในสกุลแข็ง

4) หากเป็นบริษัทนำเข้าเพื่อการผลิต ก็พยายามที่จะแปลงเป็นหนี้เงินบาท โดยให้ผู้ชำนาญด้านการเงินเป็นผู้รับความเสี่ยงในอัตราแลกเปลี่ยนแทนบริษัท

โลกวันนี้เป็นสามก๊กแห่งศตวรรษที่ 21 แล้วอย่างค่อยเป็นค่อยไป และคงจะเป็นสามก๊กโดยสมบูรณ์ภายในทศวรรษนี้เป็นแน่แท้

สามก๊กในศตวรรษที่ 21 ได้แก่ ก๊กเอเชีย ก๊กอเมริกา และก๊กยุโรปกับแอฟริกา ณ บัดนี้ก๊กอเมริกาดูเหมือนจะมีความเข้มแข็งในทุกด้าน ยุโรปรวมกำลังเพื่อให้มีศักยภาพที่พอจะต่อกรกับก๊กอเมริกา แต่ยังไม่อาจช่วงชิงความได้เปรียบ ก๊กเอเชียในวันนี้กำลังมีความแข็งแกร่งขึ้นทุกวัน

ยุทธศาสตร์ของแต่ละก๊ก คือสร้างพันธมิตรโดยดำเนินกลอุบายของขงเบ้งที่ว่า "หากรบเหนือต้องเป็นพันธมิตรใต้" ปรากฏการณ์ของการสร้างเขตการค้าก็เป็นผลแห่งการดำเนินนโยบายขยายอาณาจักรตนเองให้เข้มแข็ง ในรอบทศวรรษที่ผ่านมาก๊กยุโรปกับก๊กอเมริกา มีการประลองกำลังทางการค้ากันประปราย ต่างก็อยากได้จีนไว้เป็นพันธมิตรทางธุรกิจ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ

จีนคือตลาดของโลก (Ultimate Market) ที่ทุกประเทศประสงค์จะยึดครองด้วยเทคโนโลยีและเงินทุนที่เหนือกว่า แต่ความเป็นชาติและความเป็นตัวตนของนักธุรกิจจีนนั้นตกทอดมากว่า 7,000 ปีมาแล้ว ย่อมต้องมีทีเด็ดอยู่อย่างแน่นอน ดังเช่นที่คุณบัณฑูร ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกสิกรไทยพูดกับผมว่า "ไม่มีการบริหารที่ไร้สาระในประเทศจีน"

คราวนี้บริษัทในประเทศไทยต้องดำเนินยุทธศาสตร์แห่งการแข่งขันเช่นไร ถึงจะนำพาธุรกิจของเราให้อยู่รอด มีกำไรและเติบโตได้อย่างยั่งยืน? การค้นหาคำตอบสำหรับแต่ละบริษัทคงไม่ง่ายนัก ทั้งนี้เพราะในโลกนี้ยังไม่เคยมีบริษัท 2 แห่งมีความเหมือนกันทุกประการ

ส่วนคำตอบเชิงยุทธศาสตร์ก็คือ บริษัทต้องเป็นพันธมิตรกับบริษัทในประเทศจีน รัฐบาลไทยต้องผูกสัมพันธ์กับจีนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นที่เป็นลักษณะแผ่นดินพี่แผ่นดินน้องที่มีสายเลือดเดียวกัน นั่นคือให้ความสำคัญกับตลาดจีนเป็นอันดับแรก

ยุทธศาสตร์ที่สองก็คือ ใช้ความเข้มแข็งที่บริษัทไทยมีอยู่เหนือกว่าของบริษัทในจีน แล้วร่วมมือกันผลิตและขายภายในเอเชีย นั่นคือดำเนินกลยุทธ์ตามยุทธศาสตร์ที่ว่า "ไม่มีบริษัทใดที่สามารถแข่งขันได้ในทุกสินค้าหรือบริการ" ด้วยความกลมกลืนกันทางเคมีหรือทางสัญชาตญาณก็แล้วแต่ ประเทศไทยคือประเทศที่ประเทศจีนให้ความไว้เนื้อเชื่อใจและให้ความรักมากที่สุดในบรรดา 400 ประเทศที่มีอยู่ในโลกนี้

จีนคงจะครองโลกภายใน 20 ปีข้างหน้านี้ ความเป็นกัลยาณมิตรระหว่างจีนกับไทยจะสร้างความเข้มแข็งแก่บริษัทไทยได้ แต่ ณ วันนี้บริษัทไทยและประเทศไทยไม่ควรเปิดเกมเผชิญหน้ากับสหรัฐอเมริกา หรือยุโรปอย่างเปิดเผยเกินไป และไม่ควรลอกเลียนสไตล์การบริหารและทัศนคติของชาวตะวันตกมาใช้จนมากเกินความพอดี เพราะสิ่งนี้จะไม่กลมกลืนกับยุทธการเป็นพันธมิตรหรือกัลยาณมิตรกับจีน

ผู้ที่จะเป็นเจ้าโลกาภิวัตน์อย่างแท้จริงคือ เอเชีย ไม่ใช่อเมริกาหรือก๊กยุโรปอย่างแน่นอน

ดังนั้นในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทไทยจำต้องพึ่งพาทั้งปรัชญา ยุทธศาสตร์ และกลยุทธ์ที่เหมาะสมไม่หลงไปตามกระแส หรือคลื่นแห่งเทคโนโลยีและทุนนิยม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นล่าสุด

Recent Comments Widget