"เราเคยซื้อสินค้าจากไทย แต่..." ธุรกิจไทยสู้โลก : เกียรติศักดิ์ จีรเธียรนาถ กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2548 ในระหว่างที่ผมได้เดินทางไปสำรวจตลาด ในประเทศญี่ปุ่น และอเมริกา ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ประสบการณ์กับสมาคมการค้าและผู้บริหารของบริษัทนำเข้าชั้นนำ ต้องยอมรับว่า ความเข้าใจ หรือความคาดคะเน ที่เกิดจากทำการบ้านก่อนเดินทาง แตกต่างกันในสาระสำคัญ ผมเข้าใจก่อนเดินทางว่า ประเทศเหล่านี้คงจะบอกเราว่า สินค้าจากจีนมีราคาถูกกว่าของไทยมาก แม้สินค้าไทยจะมีคุณภาพดีกว่าก็ตาม ก็ยังไม่สามารถแข่งกับของจีนได้ แต่ประเด็นราคาสูงกลับเป็นประเด็นสุดท้ายที่ผู้จัดซื้อสินค้าบริษัทเหล่านี้ให้ความสนใจ จริงอยู่ผู้ซื้อสินค้าต่างมีหน้าที่ต้องเสาะหาสินค้าราคาถูก แต่ว่า "คุณภาพ" ต้องมาก่อนราคา และสำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือการส่งมอบสินค้าที่ทันเวลา ผู้นำเข้าเสื้อผ้าของญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งต่างให้ความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า ในขณะนี้เขาสั่งซื้อเสื้อผ้าจากเวียดนาม มากกว่าไทยในรอบ 2-3 ปีมานี้ ไม่ใช่เพราะว่าราคาเสื้อผ้าของเวียดนามถูกว่าของไทย แต่เขาบอกว่า โรงงานในเวียดนามมีความคล่องตัวกว่าโรงงานของไทยมาก จึงทำให้เขาสามารถส่งของได้ทันเวลาที่กำหนดไว้ ในเรื่องเดียวกันนี้ผู้นำเข้าของอเมริกาใช้คำว่า "ระบบราชการ" ของเราเป็นอุปสรรคขวางกั้นการขยายตัวทางการค้าอย่างมาก เพราะทำให้ต้นทุนในการทำธุรกิจเพิ่มขึ้น แม้ว่าเขาจะยังไม่พอใจระบบราชการของอเมริกา แต่เขาบอกว่า หากความไม่พอใจความอุ้ยอ้ายของระบบราชการของอเมริกาเท่าใดก็ตาม เขาเห็นว่าระบบราชการของไทยเป็นปัญหามากกว่าเท่าตัว กลางเดือน มี.ค. ผมได้เดินทางไปจีนเพื่อสำรวจข้อมูลตลาดสำหรับสินค้าอาหาร แฟชั่น และตลาดบริการ โดยตั้งใจเลือกสองมณฑลใหญ่ที่ประชากรเป็นร้อยล้านคน แต่ระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจแตกกัน วัฒนธรรมก็แตกต่างกันอย่างเด่นชัด เพื่อที่จะทำความเข้าใจ "จีน" มากขึ้น ดังที่ทางรองนายกรัฐมนตรี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เคยแนะนักธุรกิจไทยว่า "หากพูดถึงประเทศจีนให้นึกว่าจีนเสมือนหนึ่งกลุ่มประเทศที่มีความแตกต่างกันกว่าสิบประเทศ" แต่สิ่งที่ผมได้รับฟังจากผู้นำเข้าของจีนทั้งที่เป็นคนจีน และคนไทยที่ไปทำธุรกิจในจีนต่างให้ความเห็นที่ไม่ต่างกันมาก นั่นคือ ความล่าช้าในการส่งมอบสินค้าที่เกิดจากระบบราชการ และความไม่เข้มงวดของผู้ประกอบการ ในการเปิดเสรีการค้าหมวดผักและผลไม้ ระหว่างไทยกับจีนทำให้เกิดการขยายตัวก็จริง แต่จีนก็มีลูกเล่นแพรวพราวเพื่อหน่วงเหนี่ยวอย่างมีลีลา หรือทำให้เกิดภาพว่า "เราเปิดกว้างให้คุณแล้ว แต่พ่อค้าส่งสินค้าเข้าได้น้อยเอง" ผมขอยกตัวอย่างเรื่องข้าวของไทยที่เรามีความเก่งในการแข่งขันได้ทั่วโลก จนทำให้เป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลกในเชิงปริมาณ แต่เราเจาะกำแพงเมืองจีนไม่ค่อยสำเร็จมากนัก แต่จีนได้ประกาศแก่ชาวโลกว่า เขาให้โควตาในแต่ละปีกว่า 2.5 ตัน แต่ประเทศไทยและประเทศต่างๆ ส่งข้าวไปจีนได้แค่ไม่เกินห้าแสนตันต่อปี นี่เป็นคำบอกเล่าของเขา ข้อเท็จจริงก็คือจีนสร้างลูกเล่นไว้ ทางการปักกิ่งได้กระจายโควตาไปยังมณฑลต่างๆ แต่ผู้นำเข้าข้าวจะต้องได้รับอนุญาตจากมณฑลก่อน นั่นเป็นคำบอกเล่าตามตัวหนังสือ แต่สิ่งที่เขาหลิ่วตาให้กันและกันก็คือการอนุมัติให้นำเข้าข้าวยังคงอยู่ที่ปักกิ่งนั่นแหละ เมื่อพ่อค้าข้าวไทยไปวิ่งในมณฑลต่างๆ หากหมดแรงก็รามือไปเอง แม้แต่พ่อค้าข้าวจีนที่ผมมีโอกาสพูดคุยด้วยต่างบอกว่า อยากนำเข้าข้าวไทย แม้ราคาขายจะแพงกว่าข้าวจีน 40% ก็ตาม กรณีเช่นว่านี้ หากไม่มีการเจรจาเอฟทีเอ ก็จะมีช่องทางในการขจัดอุปสรรคได้แคบกว่าการเปิดเจรจา เพราะเวทีของเอฟทีเอ ได้เปิดช่องให้หัวหน้าคณะเจรจานำเข้าสู่โต๊ะเจรจาง่ายกว่าการใช้ช่องทางปกติ ผมอยากจะสรุปว่า ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของสินค้าไทยที่ไม่สามารถสู้ได้ในตลาดต่างประเทศ ก็เพราะว่าเรายังพัฒนาระบบโลจิสติกส์ได้ไม่เต็มที่ การที่เราส่งสินค้าล่าช้า หรือค่าขนส่งแพงกว่าคู่แข่ง หรือต้นทุนสินค้าสูงกว่าของจีนมาก ไม่ใช่เพราะว่าแรงงานจีนถูกเท่านั้น อย่าลืมว่า สินค้าหลายอย่างนั้นค่าแรงมีสัดส่วนที่เล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับค่าขนส่งและค่าบริการจัดส่งสินค้าไปยังลูกค้า นั่นคือส่วนหนึ่งของระบบโลจิสติกส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านขนส่งจากญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แม้กระทั่งเปรู เคยตั้งข้อสังเกตว่า ค่าขนส่งภายในประเทศของไทยทำไมจึงสูงมาก ผมก็พาซื่อตอบกลับไปว่า เพราะสภาพถนนยังไม่ค่อยดีนัก และรถบรรทุกมีราคาสูงกว่าในประเทศที่ผลิตรถขนส่งได้เอง แม้กระทั่งว่าเกิดจากการขนส่งไม่เต็มสองขา คือในบางครั้งต้องมีการตีรถเปล่ากลับไปรับสินค้า แต่เขากลับมีความเห็นแย้งว่า สิ่งที่ผมพูดนั้นอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ค่าขนส่งแพง แต่ไม่น่าจะเป็นเหตุผลที่แท้จริง เขามักจะบอกว่า เพราะระบบโลจิสต |
กส์ของเรายังไม่ดีพอ ผมเองก็ไม่ค่อยจะเข้าใจความหมายที่แท้จริงของคำว่า “โลจิสติกส์” แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับว่า เราเข้าใจถึงสาระของระบบโลจิสติกส์หรือไม่? หัวใจสำคัญของระบบจัดการโลจิสติกส์ก็เพื่อให้เกิดเชื่อมโยงที่เป็นระบบระหว่างกิจกรรมต่างๆ ของการผลิตสินค้าไปจนถึงมือผู้บริโภคได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะว่าไม่มีสินค้าใดในโลกนี้ที่จะสำเร็จด้วยกำลังความสามารถของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง อาทิเช่นในเวลานี้เรามักจะพูดกันถึงอุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ หมายความว่าในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมก็มีกิจกรรมมากมายภายในกลุ่ม การประสานเพื่อต่อเชื่อมคล้ายกับต่อยานอวกาศที่ต้องการทั้งความแม่นยำ ช่วงเวลาที่เหมาะเจาะ และความชำนาญของผู้ขับขี่ยานกับหอบังคับการ นี่น่าจะเป็นแก่นสาระแท้จริงของคำว่า โลจิสติกส์ ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทใหญ่หลายแห่งต่างแสดงความกังวลต่อระบบจัดการโลจิสติกส์ของกลุ่มอุตสาหกรรมที่รัฐบาลพยายามจะให้เกิดขึ้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่สินค้าไทย เหตุที่ทำให้ผู้บริหารมีความกังวลก็คงพอจะประมวลได้ว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคิดว่า การขนส่งที่มีระบบจัดการที่ดีที่สุด เป็นเรื่องเดียวกันกับระบบโลจิสติกส์ ท่านเหล่านี้ยกตัวอย่างว่า ท่าเรือแหลมฉบังของไทยที่ลงทุนไปมากมาย และได้ให้สัมปทานแก่ภาคเอกชนได้บริหารแล้ว แต่กฎระเบียบที่ยังมีอยู่ไม่สามารถทำให้ท่าเรือแหลมฉบังกลายเป็นศูนย์กลางของระบบโลจิสติกส์ในการขนส่งสินค้าเข้าออกประเทศไทย ผู้บริหารท่าเรือมองแต่ประเด็นของตน ผู้ประกอบการเดินเรือก็จะมุ่งจัดการเรื่องตู้คอนเทนเนอร์ ในขณะที่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและส่งออกสินค้าของไทยมีมากมายหลายหน่วยงาน ในแต่ละหน่วยงานต่างก็ถือกฎหมายและระเบียบปฏิบัติของตน ซึ่งมักไม่สอดคล้องกัน เห็นหรือยังครับคำว่า "ระบบราชการ" ไม่ได้หมายความว่า ต้องมีแต่ความอุ้ยอ้าย หรือไม่โปร่งใส และในทำนองเดียวกันไม่ได้หมายความว่า การทำงานของเอกชนทุกกรณีจะโปร่งใสหรือมีประสิทธิภาพเสมอไป เมื่อเรากำลังอยู่ในยุคที่เร่งรัดเปิดเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ ก็มิได้หมายความว่า เมื่อเกิดการค้าเสรีแล้วสินค้าไทยจะสามารถขายได้มากขึ้นโดยอัตโนมัติ เพราะประเทศที่ขายน้ำมันให้เรา หรือขายเครื่องบินให้การบินไทย หรือขายรถถังให้กองทัพไทยจะมีรสนิยมในการกินข้าวไทย หรือกินทุเรียนไทย หรือแม้กระทั่งกุ้งที่เราเป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลก การที่ประเทศต่างๆ หันไปซื้อสินค้าจากประเทศอื่น หรือซื้อของจากไทยน้อยลง คงไม่ใช่แต่เพียงว่าสินค้าไทยแพงกว่าสินค้าของจีน หรือคุณภาพสู้สินค้าฝรั่งหรือญี่ปุ่นไม่ได้ หากแต่เกิดจากการส่งมอบสินค้าได้ล่าช้า หรือมีความไม่แน่นอนในการส่งมอบสินค้า คำพูดที่ออกจากปากผู้ซื้อสินค้าไทยก็คือ “ราคาที่สูงกว่าเพียงเล็กน้อยไม่เป็นอุปสรรคเท่าใด แต่ในการเจรจากันก็ต้องหยิบมาเป็นข้ออ้างในการต่อรอง” หรือ “คุณภาพก็มีความใกล้เคียงกันมาก จนยากที่จะแยกความแตกต่าง” เสียงสะท้อนเหล่านี้พอจะรับฟังได้ไหมครับ หรือ ผมถูกหลอกจนเปื่อยยุ่ยไปแล้วครับ |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น