ว่าด้วยจิตวิทยาเชิงบวก

26 ต.ค. 2554
TED โดย

Martin Seligman

Martin Seligman is the founder of positive psychology, a field of study that examines healthy states, such

เมื่อสมัยที่ผมเป็นประธานสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน เขาพยายามฝึกให้ผมออกสื่อ ทีนี้ มันมีการให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่งของผมกับซีเอ็นเอ็น ซึ่งสรุปเรื่องที่ผมกำลังจะพูดวันนี้ได้ดีทีเดียว นั่นคือ

"เหตุผลข้อ 11 ที่เราควรมองโลกแง่ดี"

บรรณาธิการนิตยสารดิสคัพเวอร์บอกเรามาแล้ว 10 ข้อ ผมจะบอกข้อที่ 11 ให้

ตอนนั้นพิธีกรของซีเอ็นเอ็นมาหาผมแล้วบอกว่า "ศาสตราจารย์เซลิกแมนคะ อาจารย์เล่าให้เราฟังหน่อยได้ไหมคะว่าศาสตร์จิตวิทยาทุกวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง? เราอยากสัมภาษณ์อาจารย์เกี่ยวกับเรื่องนี้" ผมบอกว่า "ดีเลยครับ" แล้วเธอก็บอกว่า "แต่นี่เป็นรายการของ CNN เราจะตัดคำพูดอาจารย์ไปออกสั้นๆ นะคะ" ผมเลยถามว่า "แล้วผมพูดได้กี่คำล่ะ?" เธอตอบว่า "คำเดียวค่ะ"

(เสียงหัวเราะ)

แล้วกล้องก็เดิน แล้วเธอก็ถามว่า "ศาสตราจารย์เซลิกแมนคะ สถานะของศาสตร์จิตวิทยาทุกวันนี้เป็นอย่างไรบ้างคะ?"ดี"

(เสียงหัวเราะ)

"ตัดออกๆ ใช้ไม่ได้ เราคงต้องให้เวลาอาจารย์ยาวขึ้นนะ""แล้วคราวนี้ผมพูดได้กี่คำล่ะ?" "สองคำค่ะ" ด็อกเตอร์เซลิกแมนคะ สถานะของศาสตร์จิตวิทยาทุกวันนี้เป็นอย่างไรบ้างคะ? "ไม่ดี"

(เสียงหัวเราะ)

"เอ่อ ด็อกเตอร์เซลิกแมนคะ เราเข้าใจแล้วค่ะ ว่าอาจารย์ไม่ค่อยถนัดกับสื่อรูปแบบนี้จริงๆ เราให้เวลาอาจารย์มากขึ้นแล้วกัน คราวนี้อาจารย์พูดได้สามคำค่ะ ศาสตราจารย์เซลิกแมนคะ สถานะของศาสตร์จิตวิทยาทุกวันนี้เป็นอย่างไรบ้างคะ? "ไม่ดีพอ" และนี่คือสิ่งที่ผมกำลังจะพูดวันนี้

ผมอยากพูดว่าทำไมจิตวิทยาจึงดี ทำไมมันจึงไม่ดี แล้วภายในสิบปีข้างหน้า มันจะดีพอได้อย่างไร และด้วยบทสรุปที่คล้ายกัน ผมอยากพูดแบบเดียวกันเกี่ยวกับเทคโนโลยีวงการบันเทิง และการออกแบบ เพราะผมคิดว่าประเด็นมันเหมือนกันมาก

เอาล่ะ ทำไมสถานะของจิตวิทยาถึงดี คือ จิตวิทยาศึกษาวิจัยมนุษย์ภายใต้โมเดลของโรคมามากกว่าหกสิบปี สิบปีที่แล้ว เวลาผมอยู่บนเครื่องบิน แล้วแนะนำตัวกับคนที่นั่งข้างๆ บอกเขาว่าผมมีอาชีพอะไร เขาจะย้ายที่หนีผมเลยครับเพราะว่าคนเขาพูดกัน ซึ่งก็ถูกนะครับ ว่าจิตวิทยาคือการค้นหาว่าคุณผิดปกติยังไง คือ "ค้นหาคนบ้า" ว่างั้นเถอะ แต่เดี๋ยวนี้ เวลาผมบอกใครว่าผมทำงานอะไร เขาจะขยับเข้ามาหาผม

อีกอย่างที่ดีเกี่ยวกับจิตวิทยา กับเงินสามหมื่นล้านดอลล่าร์ที่สถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติ (NIMH) ลงทุนไปกับการศึกษาวิจัยภายใต้โมเดลของโรค กับสิ่งที่คุณเรียกกันว่าศาสตร์จิตวิทยาเนี่ย ก็คือ 60 ปีที่แล้ว ไม่มีโรคทางจิตประเภทใดเลยที่รักษาได้ มันเหมือนปริศนาของมายากลที่ไม่มีใครเข้าใจเลย แต่ตอนนี้ มี 14 โรคที่รักษาให้ดีขึ้นได้ ซึ่ง 2 โรคในนั้นรักษาให้หายขาดได้

และอีกอย่างที่เกิดขึ้นก็คือ ศาสตร์นี้ก้าวหน้าไปมาก ศาสตร์เกี่ยวกับความผิดปกติทางจิตน่ะครับ เราพบว่า เราสามารถหยิบมโนทัศน์ที่จับต้องไม่ได้ เช่น ภาวะซึมเศร้า การติดเหล้า เอามาวัดได้อย่างแม่นยำมากขึ้น และเราก็สามารถจำแนกแยกแยะและจัดหมวดหมู่อาการป่วยทางจิต เราสามารถเข้าใจสาเหตุของอาการป่วยทางจิต เราสามารถศึกษาคนคนเดียวกันข้ามช่วงเวลา เช่น คนที่มีแนวโน้มทางพันธุกรรมที่เสี่ยงจะเป็นโรคจิตเภท แล้วตั้งคำถามว่าการเลี้ยงดูกับพันธุกรรมมีผลมากน้อยแค่ไหน เราสามารถควบคุมตัวแปรแทรกซ้อนได้ โดยศึกษาอาการป่วยทางจิตด้วยวิธีการทดลอง

และที่เยี่ยมที่สุด คือ ในห้าสิบปีที่ผ่านมา เราสามารถคิดค้นสร้างยาและวิธีการรักษาอาการป่วยทางจิต และเราก็สามารถทดสอบมันได้อย่างเที่ยงตรง ด้วยการทดลองที่มีการสุ่มเข้ากลุ่มและมีกลุ่มเปรียบเทียบที่ได้ยาหลอก อะไรที่ไม่ได้ผลก็ทิ้งไป อะไรที่ได้ผลดีก็เก็บไว้

และข้อสรุปก็คือ ศาสตร์จิตวิทยาและจิตเวชในหกสิบปีที่ผ่านมา สามารถประกาศได้ว่าเราทำให้คนที่ทุกข์เพราะเจ็บป่วยเขาทุกข์น้อยลง และผมคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมจริงๆ ผมภูมิใจมาก แต่สิ่งที่ไม่ดี ซึ่งเป็นผลจากเรื่องที่ผมเพิ่งพูดไป มีอยู่สามอย่าง

อันดับแรกเลยคือ

เรื่องคุณธรรม 

นักจิตวิทยาและจิตแพทย์กลายเป็นผู้ศึกษาเรื่องเหยื่อที่ทำให้คนอื่นกลายเป็นเหยื่อ หรือผู้ตัดสินว่าใครเจ็บป่วย มุมมองของเราต่อธรรมชาติของมนุษย์กลายเป็นว่า ถ้าคุณมีปัญหา แปลว่าคุณโชคร้าย เราลืมไปว่าคนเราเลือกและตัดสินใจนะครับ เราลืมความรับผิดชอบของมนุษย์ไป นั่นเป็นปัญหาข้อแรก

ปัญหาข้อที่สอง คือ

เราลืมผู้คนอย่างพวกคุณไปเลย

เราลืมเรื่องการยกระดับชีวิตของคนปกติ เราลืมภารกิจในการทำให้คนที่ไม่ได้มีปัญหาเขามีความสุขมากขึ้น มีชิวิตที่เติมเต็ม และเป็นประโยชน์มากขึ้น แล้วคำว่า"อัจฉริยะ" "พรสวรรค์" กลายเป็นคำหยาบ ไม่มีใครศึกษาเรื่องพวกนี้

และ

ปัญหาข้อที่สามของจิตวิทยาภายใต้โมเดลของโรค คือ

เมื่อเรารีบเร่งที่จะทำอะไรสักอย่างกับคนที่มีปัญหา ในความรีบเร่งที่จะซ่อมแซมความเสียหายนั้น เราไม่เคยคิดจะสร้างระบบหรือวิธีการอะไร ที่จะทำให้คนมีความสุขมากขึ้น เราไม่สร้างวิธีการที่จะพัฒนาด้านบวกของมนุษย์

นั่นแหละที่ผมมองว่าจิตวิทยานั้นไม่ดี และนั่นคือสิ่งที่ทำให้คนอย่าง

แนนซี เอตคอฟ, 
แดน กิลเบิร์ต, 
ไมค์ ชิคเซนมิฮาย และ
ตัวผมเอง 

มาเริ่มศึกษาสิ่งที่ผมเรียกว่า จิตวิทยาเชิงบวกซึ่งมีเป้าหมายสามอย่าง

ข้อแรก คือ จิตวิทยาควรให้ความสำคัญ กับจุดแข็งของมนุษย์เช่นเดียวกับที่ใส่ใจในจุดอ่อน มันควรจะมุ่งสร้างเสริมความแข็งแกร่ง เช่นเดียวกับที่มุ่งซ่อมแซมข้อบกพร่อง ควรจะให้ความสนใจกับสิ่งดีๆ ทั้งหลายในชีวิต และควรใส่ใจกับการทำให้ชีวิตของคนปกติธรรมดาเติมเต็มมากขึ้น ให้ความสนใจกับอัจฉริยะ และการบ่มเพาะผู้มีพรสวรรค์หรือความสามารถพิเศษด้วย

ดังนั้น ใน 10 ปีที่ผ่านมา และในความหวังของผมที่มีต่ออนาคต เราได้เห็นการเริ่มต้นของศาสตร์ จิตวิทยาเชิงบวกศาสตร์เกี่ยวกับสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีคุณค่า เราพบว่าเราสามารถวัดความสุขได้ในหลากหลายรูปแบบ คุณสามารถเข้าไปที่เว็บไซต์นั้น

(www.authentichappiness.org) 

แล้วลองทำแบบทดสอบมากมายเกี่ยวกับความสุขได้ฟรี คุณคงสงสัยว่า เราจะวัดอารมณ์ทางบวก ความหมายในชีวิต และภาวะที่จิต มีสมาธิจดจ่อเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งที่ทำ (flow) ไปเปรียบเทียบกับคนอื่นนับหมื่นๆ ได้ยังไง? เราได้สร้างสิ่งที่ตรงกันข้ามกับคู่มือวินิจฉัยความผิดปกติทางจิต คือ ระบบจัดประเภทจุดแข็งและคุณธรรมของมนุษย์ที่แยกแยะเปรียบเทียบระหว่างเพศ พร้อมด้วยคำนิยาม และวิธีวินิจฉัย อะไรที่สร้าง และอะไรที่ขัดขวางมัน เราพบว่าเราสามารถค้นพบสาเหตุของภาวะแง่บวกต่างๆ ได้ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมในสมองซีกซ้าย กับกิจกรรมในสมองซีกขวา ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของความสุข

ผมเองเคยใช้เวลาทั้งชีวิตศึกษาคนที่ทุกข์สุด ๆ โดยตั้งคำถามว่า คนที่ทุกข์สุด ๆ เขาแตกต่างจากคนอื่นทั่วไปอย่างไร? เพิ่งมาหกปีหลังนี้เอง ที่เราเริ่มถามถึงคนที่มีความสุขสุดๆ ว่าเขาแตกต่างจากพวกเราทั้งหมดอย่างไร? แล้วก็ปรากฏว่า มีความแตกต่างอยู่อย่างเดียว เขาไม่ได้เคร่งศาสนามากกว่า ไม่ได้สุขภาพดีกว่า ไม่ได้มีเงินมากกว่า ไม่ได้รูปร่างหน้าตาดีกว่า ไม่ได้มีเรื่องดีๆ ในชีวิตมากกว่า และมีเรื่องร้ายๆ ในชีวิตน้อยกว่า สี่งที่เขาแตกต่างจากเรา คือ

เขามีความสัมพันธ์ทางสังคมดีมากๆ 

เขาไม่นั่งมาอยู่ในงานสัมมนาตอนเช้าวันเสาร์แบบนี้ (เสียงหัวเราะ) เขาไม่ใช้เวลาอยู่คนเดียว แต่ละคนมีความรัก และมีเพื่อนเยอะมาก

แต่เราต้องระวังในการตีความนะครับ นี่เป็นข้อมูลแบบสหสัมพันธ์ ซึ่งไม่ได้บอกสาเหตุ และที่ผมพูดถึงมันก็เป็นความสุขในความหมายแบบฮอลลีวู้ด คือ ความสุขสนุกสนาน หัวเราะ ร่าเริงเบิกบาน อีกเดี๋ยวผมจะบอกคุณว่าความสุขแบบนี้มันยังไม่เพียงพอ เราพบว่า เราสามารถสืบค้นวิธีสร้างสุขที่มีคนเสนอไว้ย้อนหลังไปหลายศตวรรษ ตั้งแต่

พระพุทธเจ้า 

มาจนถึง

โทนี ร็อบบินส์ 

มีผู้เสนอวิธีกว่า 120 วิธีที่ว่ากันว่าจะทำให้ผู้คนมีความสุข และเราก็พบว่า เราสามารถสร้างคู่มือของวิธีการเหล่านั้นได้ แล้วเราก็ไปทำการทดลองที่มีการสุ่มคนเข้ากลุ่มทดลองต่างๆ เพื่อศึกษาประสิทธิภาพและประสิทธิผลของวิธีสร้างสุขเหล่านี้ ว่าวิธีไหนทำให้คนมีความสุขอย่างยั่งยืนกว่า อีกสักครู่ผมจะใช้เวลาสองสามนาทีเล่าผลการวิจัยบางส่วนให้คุณฟัง

แต่ข้อสรุปสุดท้ายก็คือ ภารกิจที่ผมอยากให้ศาสตร์จิตวิทยานำไปปฏิบัติ นอกจากการรักษาคนที่เจ็บป่วยทางจิตนอกจากการช่วยให้คนที่ทุกข์เขาทุกข์น้อยลงแล้ว คือ

จิตวิทยาจะช่วยให้คนมีความสุขมากขึ้นได้ไหม? 

และการตั้งคำถามนี้ -- ที่จริงผมไม่ค่อยใช้คำว่าความสุขเท่าไหร่นักนะครับ -- เราต้องแยกแยะความสุขออกมาเป็นแง่มุมต่างๆ ที่เราสามารถตั้งคำถามได้ ซึ่งผมเชื่อว่าความสุขมันมีอยู่สามแง่มุมที่แตกต่างกัน ที่ผมว่ามันต่างก็เพราะมันสร้างได้ด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน และเราอาจจะมีอย่างใดอย่างหนึ่งมากกว่าอย่างอื่น ในบรรดาชีวิตที่มีความสุขสามแบบนั้น

แบบแรก คือ

ชีวิตที่รื่นรมย์ 

นี่คือชีวิตที่คุณมีอารมณ์ทางบวกมากเท่าที่จะเป็นไปได้ และมีทักษะที่จะเพิ่มอารมณ์ทางบวกเหล่านั้นด้วย

แบบที่สอง คือ

ชีวิตที่ได้ทุ่มเท เอาใจจดจ่ออยู่กับอะไรสักอย่าง

เช่นตอนที่คุณใช้เวลากับงาน พ่อแม่ คนรัก งานอดิเรก แล้วรู้สึกเหมือนเวลาหยุดนิ่งเพื่อคุณนั่นคือความสุขแบบที่อริสโตเติลพูดถึง และ

แบบที่สาม คือ

ชีวิตที่มีความหมาย 

ทีนี้ ผมอยากพูดถึงชีวิตที่มีความสุขแต่ละแบบ และสิ่งที่ผมรู้เกี่ยวกับมันสักหน่อย

ชีวิตที่มีความสุขแบบแรก คือ

ชีวิตที่รื่นรมย์ มีความสนุกสนานมากที่สุดเท่าที่เราจะหาได้ เป็นชีวิตที่มีสิ่งตอบสนองความเพลิดเพลินมากเท่าที่คุณต้องการ มีอารมณ์ทางบวกมากเท่าที่คุณจะมีได้ รวมทั้งเรียนรู้ทักษะที่จะดื่มด่ำ มีสติจดจ่อ ซึ่งจะเพิ่มความเข้มข้น และแผ่ขยายอารมณ์ทางบวกนั้นออกไปข้ามกาลเวลาและสถานที่ แต่ชีวิตที่รื่นรมย์ก็มีแง่ลบอยู่สามอย่าง และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมจิตวิทยาเชิงบวกจึงไม่ใช่วิชาว่าด้วยความสุขและไม่ได้จบแค่ตรงนี้

ปัญหาข้อแรกคือ ปรากฏว่าชีวิตที่รื่นรมย์ และประสบการณ์อารมณ์ทางบวกของคุณนั้น ส่วนหนึ่งเป็นมรดกทางพันธุกรรม 50 เปอร์เซ็นต์เป็นอิทธิพลจากพันธุกรรม และก็ไม่ได้เปลี่ยนกันได้ง่ายนัก ดังนั้น เทคนิคหลากหลายที่แมทธิเออ (ริการ์) กับผม และคนอื่นๆ มีอยู่ สำหรับการเพิ่มปริมาณอารมณ์ทางบวกในชีวิตของคุณ ก็ช่วยเพิ่มขึ้นมาได้ 15 ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของพื้นอารมณ์เดิมเท่านั้น ปัญหาข้อสองคือ เราจะชินชากับอารมณ์ทางบวก ซึ่งจะเกิดขึ้นเร็วมากเลย ก็เหมือนไอศครีมรสเฟรนชวนิลา คำแรกอร่อย 100 เปอร์เซ็นต์พอถึงคำที่หก รสชาติมันก็งั้นๆ แล้ว และอย่างที่ผมบอก มันไม่ใช่สิ่งที่แก้กันได้ง่ายๆ ด้วย

ซึ่งประเด็นนี้ก็นำไปสู่


ปัญหาที่สอง 

ผมต้องเล่าเรื่องเล็น เพื่อนของผม ให้คุณฟัง เพื่ออธิบายว่าทำไมจิตวิทยาเชิงบวกจึงมีอะไรมากกว่าอารมณ์ทางบวก มากกว่าการสร้างความสนุกสนานรื่นรมย์ ถ้าเราดูสองในสามด้านของชีวิตของ

เล็น ตอนเขาอายุ 30 เขาประสบความสำเร็จอย่างสูงมากๆ เลย

ด้านแรก คือเรื่องงาน ตอนอายุ 20 เขาเป็นผู้ค้าสัญญาออปชั่น พออายุ 25 เขาก็เป็นมหาเศรษฐี และเป็นประธานบริษัทค้าสัญญาออปชั่น

ด้านที่สอง การเล่น เขาเป็นแชมป์ไพ่บริดจ์ระดับชาติ

แต่ในด้านที่สามของชีวิต เรื่อง ความรัก เล็นล้มเหลวไม่เป็นท่า เหตุผลก็คือ เล็นเป็นคนตายด้าน(เสียงหัวเราะ)

เล็นเขาเป็นคนเงียบ ปิดตัว เคยมีผู้หญิงอเมริกันหลายคนบอกกับเล็นตอนที่เขาเริ่มจีบกัน ว่า "คุณนี่น่าเบื่อสุดๆ ไม่มีอารมณ์กุ๊กกิ๊กหวานแหววเลย ไปให้พ้นเลยไป" เล็นก็รวยพอที่จะไปหานักจิตวิเคราะห์ในย่านพาร์ค อเวนิว ซึ่งใช้เวลาห้าปี พยายามค้นหาบาดแผลทางใจเกี่ยวกับเรื่องเพศ ที่อาจจะปิดกั้นอารมณ์ความรู้สึกทางบวกที่อยู่ภายในใจของเขาแต่ก็ไม่เจอบาดแผลหรือปมทางใจเกี่ยวกับเรื่องเพศเลยสักนิด

เรื่องของเรื่องคือ เล็นเกิดและโตที่ลองไอร์แลนด์ เขาเล่นฟุตบอล ดูฟุตบอล แล้วก็เล่นไพ่บริดจ์ เล็นเป็นคนที่มีอารมณ์ทางบวกน้อย คืออยู่ในกลุ่มห้าเปอร์เซ็นต์ต่ำสุด

คำถามคือ เล็นเป็นคนไม่มีความสุขหรือเปล่า ผมขอบอกว่าไม่ใช่ ตรงกันข้ามกับที่ศาสตร์จิตวิทยาว่าไว้เกี่ยวกับคนที่อยู่ใน 50 เปอร์เซ็นต์ต่ำสุด ของมนุษยชาติในแง่ของคะแนนอารมณ์ทางบวก ผมคิดว่าเล็นเป็นคนที่มีความสุขมากที่สุดเท่าที่ผมเคยรู้จัก เขาไม่ได้จมอยู่กับความทุกข์ แต่เขาเข้าถึง

ภาวะ flow หรือการมีสมาธิลึกซึ้งอยู่กับกิจกรรมที่ทำในแต่ละขณะได้อย่างดีเยี่ยม 

เมื่อเขาเดินขึ้นตึกอเมริกันเอ็กซเชนจ์ตอน 9:30 ในตอนเช้า เวลาก็เหมือนหยุดนิ่งไปจนกริ่งเลิกงานดังขึ้นในตอนเย็น ตั้งแต่เริ่มเปิดไพ่ใบแรก ไปจนกระทั่งสิบวันให้หลังเมื่อการแข่งขันจบลง เวลาสำหรับเล็นก็หยุดนิ่งอยู่กับที่

นี่แหละที่

ไมค์ ชิคเซนมิฮาย

เรียกว่าภาวะที่จิตเป็นหนึ่งเดียวกับกิจกรรมที่ทำ ซึ่งเรียกว่า "flow" และมันก็แตกต่างจากความสนุกสนานรื่นรมย์มากเลย ความสนุกสนานเป็นความรู้สึกที่ดิบ คุณรู้ตัวว่ามันเกิดขึ้น มันมีความคิดและความรู้สึกอยู่ในนั้น แต่อย่างที่คุณได้ฟังไมค์พูดเมื่อวานนี้ ถ้าคุณอยู่ในภาวะ flow คุณจะไม่รู้สึกอะไรเลย คุณเป็นหนึ่งเดียวกับเสียงดนตรี โลกทั้งใบหยุดหมุน คุณอยู่ในภาวะมีสมาธิจดจ่ออย่างลึกซึ้ง นี่แหละคือลักษณะของสิ่งที่เรามองว่าเป็นชีวิตที่ดีงาม และเราคิดว่ามันมีสูตรที่จะทำอย่างนั้นได้

คุณต้องรู้ว่าจุดแข็งของคุณอยู่ที่ไหน และเราก็มีแบบทดสอบที่เชื่อถือได้ ที่ใช้วัดว่าจุดแข็งสูงสุด 5 ประการของคุณคืออะไร แล้วคุณก็ออกแบบชีวิตของคุณเพื่อให้ได้ใช้จุดแข็งเหล่านี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ออกแบบงานของคุณ ความรักของคุณ การเล่น มิตรภาพ และการเลี้ยงดูลูกของคุณ

มาดูตัวอย่างอันหนึ่ง ผมรู้จัก

พนักงานที่คอยเอาของใส่ถุงที่ห้าง Genuardi's อยู่คนหนึ่ง 

เธอไม่ชอบงานที่ทำ ตอนนี้กำลังเรียนวิทยาลัยอยู่ จุดแข็งที่สุดของเธอคือความฉลาดทางสังคม เธอก็เลยออกแบบ งานหยิบของใส่ถุง ของเธอ โดยตั้งใจว่าการพบกันระหว่างเธอกับลูกค้า ต้องเป็นช่วงเวลาที่พิเศษสุดของวันสำหรับลูกค้าทุกๆ คน แน่ละ เธอไม่ประสบความสำเร็จหรอก

แต่สิ่งที่เธอทำคือ เธอเอาจุดแข็งของเธอมาเป็นตัวตั้ง แล้วออกแบบงานของตัวเองให้ได้ใช้จุดแข็งนี้มากที่สุด สิ่งที่คุณได้จากการทำอย่างนี้ไม่ใช่รอยยิ้ม หน้าตาคุณคงไม่ดูเหมือนเด็บบี้ เรย์โนลด์ขึ้นมาหรอกและคุณก็คงไม่ได้หัวเราะร่วนด้วย สิ่งที่คุณจะได้คือจิตใจที่มีสมาธิอยู่กับสิ่งที่ทำ นั่นคือเส้นทางที่สองนะครับ เส้นทางแรกคืออารมณ์ทางบวก เส้นทางที่สองคือภาวะ flow ที่ทำให้เกิดความอิ่มเอิบงอกงามทางใจ

และ

เส้นทางที่สาม คือ

ชีวิตที่มีความหมาย 

นี่เป็นความสุขรูปแบบที่มักได้รับยกย่องว่ามีคุณค่าสูงสุด คำว่าความหมายในที่นี้ คล้ายกับคำว่า

ความอิ่มเอิบหรืองอกงามทางจิตใจมากเลย 

มันประกอบด้วยการรู้ว่าอะไรคือจุดแข็งของคุณ แล้วก็ใช้มัน เพื่อเข้าถึง เป็นส่วนหนึ่ง และรับใช้อะไรบางอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวคุณเอง

ผมพูดถึงชีวิตที่มีความสุขไปแล้วสามแบบ ชีวิตที่เต็มไปด้วยความสนุกเพลิดเพลิน ชีวิตที่ดีงาม และชีวิตที่มีความหมาย ตอนนี้ผู้คนก็พยายามหาคำตอบกันอย่างคร่ำเคร่ง ว่ามีอะไรไหมที่จะเปลี่ยนชีวิตเราให้มีความสุขได้อย่างยั่งยืนถาวร ดูเหมือนคำตอบคือ มีครับ และผมจะเล่าตัวอย่างให้คุณฟัง

งานนี้มีการทดสอบอย่างเข้มงวด แบบเดียวกับเวลาทดลองยาว่ายาตัวไหนได้ผลจริงบ้าง เราแบ่งคนเป็นสองกลุ่มด้วยการสุ่ม มีกลุ่มควบคุมที่ได้ยาหลอก ศึกษาวิธีสร้างสุขแบบต่างๆ ต่อเนื่องในระยะยาว และนี่คือตัวอย่างของวิธีสร้างสุขที่เราพบว่าได้ผล เมื่อเราสอนให้คนรู้จักชีวิตที่รื่นรมย์ ให้รู้ว่าจะเพิ่มความสนุกสนานเพลิดเพลินในชีวิตได้อย่างไร

การบ้านอันหนึ่งก็คือ การฝึกสติ และการดื่มด่ำไปกับอารมณ์ความรู้สึก การบ้านอีกอย่างที่ต้องทำคือการออกแบบวันที่สวยงาม เสาร์หน้านะครับ ลองจัดให้เป็นวันว่าง ออกแบบวันที่สวยงามของคุณเอง แล้วใช้การฝึกสติและการดื่มด่ำกับอารมณ์เพื่อเพิ่มความเพลิดเพลินใจ เราพบว่าการทำอย่างนี้ทำให้คนเรามีชีวิตที่สนุกสนานรื่นรมย์มากขึ้น

การไปเยี่ยมเพื่อแสดงความซาบซึ้งในเมตตา ผมอยากให้คุณลองทำตามที่ผมจะบอก โปรดหลับตาลงครับ ผมอยากให้คุณนึกถึงใครสักคนหนึ่งที่ได้ทำอะไรบางอย่างที่มีความสำคัญยิ่งใหญ่ ซึ่งได้เปลี่ยนชีวิตคุณไปในทิศทางที่ดี คนที่คุณไม่เคยขอบคุณเขาให้มากอย่างที่เขาควรได้รับ คนคนนั้นต้องยังมีชีวิตอยู่นะครับ เอาล่ะ ทีนี้ ลืมตาได้

ผมหวังว่าทุกคนคงมีคนคนนั้นอยู่ในใจแล้วนะครับ สิ่งที่คุณต้องทำเวลาเรียนรู้เรื่องการไปเยี่ยมเพื่อแสดงความซาบซึ้งในเมตตา คือ คุณต้องเขียนข้อความยาวสัก 300 คำเกี่ยวกับคนคนนั้น,โทรหาเขา เช่น สมมุติว่าเขาอยู่ที่เมืองฟีนิกซ์ แล้วถามเขาว่า คุณขอไปเยี่ยมได้ไหม ไม่ต้องบอกว่าทำไม แค่ไปปรากฏตัวหน้าประตู แล้วอ่านข้อความที่คุณเขียนให้เขาฟัง --ที่ผ่านมาทุกคนร้องไห้หมดเมื่อมาถึงจุดนี้-- และสิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อเราวัดความสุขของคนเหล่านี้หนึ่งสัปดาห์ หนึ่งเดือนและสามเดือนให้หลัง ทั้งคู่มีความสุขมากขึ้น และซึมเศร้าน้อยลง

อีกตัวอย่างหนึ่งคือการออกเดทเพื่อเสริมสร้างจุดแข็ง เราให้คู่รักมาทำแบบทดสอบเพื่อหาว่าจุดแข็งของแต่ละคนคืออะไร แล้วให้วางแผนว่าเย็นนั้นจะไปทำกิจกรรมอะไร ที่ทั้งคู่ได้ใช้จุดแข็งของตัวเอง เราพบว่าวิธีนี้ช่วยกระชับความสัมพันธ์ของคู่รักให้แน่นแฟ้นขึ้น แล้วก็มีการทดลองเปรียบเทียบความสนุกกับการได้ช่วยเหลือผู้อื่น

แต่การได้อยู่ในกลุ่มคนแบบนี้ทำให้รู้สึกดีมากเลยนะครับ อย่างที่พวกคุณหลายคนก็ได้หันมาทำการกุศลช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์กันแล้ว แต่นักศึกษาปริญญาตรีกับผู้ร่วมการทดลองของผมยังไม่บรรลุขั้นนั้นกัน เราก็เลยให้เขามาทำกิจกรรมได้ช่วยเหลือคนอื่น แล้วก็ให้ทำอะไรสนุกๆ เพื่อเปรียบเทียบกัน คุณจะพบว่า เวลาทำอะไรสนุกๆ ระดับความสุขขึ้นแล้วก็ลงเป็นรูปกราฟสี่เหลี่ยม

แต่เวลาได้ช่วยเหลือคนอื่น ความสุขคงอยู่ยั่งยืน ยาวนาน

 นั่นก็เป็นตัวอย่างวิธีการสร้างเสริมคุณสมบัติด้านบวกของมนุษย์

เรื่องรองสุดท้ายที่ผมอยากพูดคือ ตอนนี้เราสนใจศึกษาว่าคนเรามีความพึงพอใจในชีวิตมากแค่ไหน พูดง่ายๆ ก็คือ คุณรู้สึกว่าชีวิตคุณเป็นยังไงบ้าง นั่นเป็นตัวแปรที่เป็นเป้าหมายของเรา เราถามคำถามนี้ให้คนตอบโดยแยกเป็นชีวิตสามด้าน ว่าเขาได้รับความพึงพอใจจากชีวิตแต่ละด้านมากแค่ไหน

เราทดสอบซ้ำแบบนี้ในการวิจัย 15 ชิ้น ซึ่งมีผู้ร่วมการวิจัยรวมทั้งหมดเป็นพันๆ คน โดยถามว่า

- การแสวงหาความเพลิดเพลิน, อารมณ์ทางบวก, และชีวิตที่รื่นรมย์ 
- การได้ทุ่มเทเอาใจจดจ่ออยู่กับอะไรสักอย่างจนเหมือนเวลาหยุดนิ่ง และ
- การแสวงหาความหมายในชีวิต 

แต่ละอย่างมีส่วนเติมเต็มความพึงพอใจในชีวิตมากแค่ไหน?

ผลที่ออกมาทำให้เรางงไปเลยครับ เพราะมันกลับตาลปัตรกับที่เราคาด ปรากฏว่า

การแสวงหาความสนุกสนานเพลิดเพลินแทบไม่ได้เพิ่มความพึงพอใจในชีวิตเลย

การแสวงหาความหมายในชีวิต มีผลมากที่สุด 

และการได้ทำอะไรด้วยจิตที่มีสมาธิจดจ่อจริงจังก็มีผลมากเช่นกัน ถ้าความสนุกสนานรื่นรมย์จะมีบทบาทบ้าง ก็เมื่อคุณมีทั้งภาวะที่จิตจดจ่อทุ่มเทกับอะไรสักอย่าง และมีชีวิตที่มีความหมายแล้ว

ความสนุกสนานก็เป็นวิปครีมและเชอร์รี่ที่มาแต่งหน้าสวยขึ้นเท่านั้น 

นั่นหมายความว่า ในชีวิตที่เติมเต็มแล้ว ถ้าคุณมีครบทั้งสามด้านของชีวิต คุณก็ได้กำไรขึ้นมาทันที ในทางกลับกัน ถ้าคุณไม่มีสามด้านของชีวิตนี้เลยสักด้าน คือเมื่อชีวิตคุณว่างเปล่า ก็เท่ากับชีวิตคุณติดลบไปทันที

ตอนนี้เราก็เริ่มศึกษาด้วยว่า มีความสัมพันธ์แบบเดียวกันนี้ไหม ใน กรณีสุขภาพกาย การเจ็บป่วย อายุขัย และผลการทำงาน เราอยากรู้ว่าความสัมพันธ์เป็นแบบเดียวกันไหม?เช่น ในบริษัทหนึ่ง ๆ ผลการทำงานได้รับอิทธิพลจากอารมณ์ทางบวก จิตที่มีสมาธิจดจ่อ และความหมายในชีวิตไหม?

สุขภาพเป็นผลมาจากการได้ทำอะไรด้วยใจที่ทุ่มเทจดจ่อความเพลิดเพลินใจ และความหมายในชีวิตหรือเปล่า? มันก็มีเหตุผลที่ชวนให้คิดว่าคำตอบของทั้งสองคำถามนี้คือ ใช่

คริส (ผู้จัด TED) บอกว่า ผู้พูดคนสุดท้ายมีโอกาสกล่าวสรุปโดยบูรณาการสิ่งที่ได้ฟังมาเข้าด้วยกัน ผมอยากบอกว่างานนี้น่าทึ่งมากสำหรับผม ผมไม่เคยเข้าร่วมงานประชุมสัมมนาแบบนี้เลย ไม่เคยเห็นผู้พูดที่ก้าวล้ำขีดจำกัดตัวเองออกมาได้มากขนาดนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าทึ่งมาก ผมพบว่าโจทย์ของจิตวิทยาก็เหมือนกับโจทย์ของ เทคโนโลยี งานบันเทิง และการออกแบบ ตรงที่ เราทุกคนรู้ว่า เทคโนโลยี งานบันเทิง และการออกแบบ สามารถนำมาใช้ และได้ถูกใช้เพื่อเป้าหมายที่เป็นอันตราย

และเราก็รู้ว่า เทคโนโลยี งานบันเทิง และการออกแบบ สามารถนำไปใช้เยียวยาความทุกข์ได้เช่นกัน ในขณะเดียวกัน การแยกแยะระหว่างการบำบัดทุกข์ กับการบำรุงสุข ก็สำคัญมากๆ เมื่อตอนที่ผมเริ่มเป็นนักจิตบำบัดใหม่เมื่อ 30 ปีก่อน ผมเคยคิดนะ ว่าถ้าผมเก่งพอที่จะทำให้ใครสักคนหายซึมเศร้า ไม่วิตกกังวล ไม่โกรธ นั่นแปลว่าผมทำให้เขามีความสุขแล้ว แต่ผมไม่เคยพบผลอย่างที่คิด

ผมพบว่า อย่างดีที่สุดคุณก็ทำได้แค่ดึงเขามาที่ศูนย์ แต่แล้วเขาก็รู้สึกว่างเปล่า

ปรากฏว่าทักษะที่จะทำให้เรามีความสุข มีชีวิตที่รื่นรมย์ มีจิตจดจ่อกับสิ่งที่ทำ และมีชีวิตที่มีความหมาย มันแตกต่างจากทักษะที่ใช้ในการเยียวยาความทุกข์

ผมเชื่อว่าในกรณีของเทคโนโลยี งานบันเทิง และการออกแบบก็เหมือนกันนั่นคือ มันเป็นไปได้ที่กลจักรทั้งสามตัวที่ขับเคลื่อนโลกของเรานี้ จะช่วยเพิ่มความสุข อารมณ์ทางบวก และที่จริงมันก็ถูกใช้เพื่อการนี้เป็นหลักอยู่แล้ว แต่เมื่อคุณแจกแจงความสุขออกมาเป็นสามด้านอย่างที่ผมว่ามา

มันไม่ใช่แค่อารมณ์ทางบวกแล้ว

แค่อารมณ์ดียังไม่เพียงพอ  ชีวิตต้องมี flow และ มีความหมายด้วย 

เหมือนที่คุณลอราลีบอกเราว่าการออกแบบ และผมเชื่อว่างานบันเทิงและเทคโนโลยีด้วยสามารถช่วยให้เราเข้าใกล้และได้ทำหรือสัมผัสสิ่งที่มีความหมายในชีวิต

ดังนั้น เหตุผลข้อที่ 11 ที่เราควรมองโลกแง่ดี นอกจากเป็นเพราะเราจะมีลิฟต์อวกาศแล้ว ผมคิดว่า ยังเป็นเพราะด้วยเทคโนโลยี งานบันเทิง และการออกแบบ เราจะสามารถเพิ่มปริมาณความสุข ของมนุษย์บนโลกนี้ได้มหาศาลด้วย และถ้าในอีกหนึ่งหรือสองทศวรรษข้างหน้า เทคโนโลยีสามารถทำให้มนุษย์มีชีวิตที่น่ารื่นรมย์ ชีวิตที่ดี และชีวิตที่มีความหมายมากขึ้นได้

มันก็จะเป็นเทคโนโลยีที่ดีพอ ถ้าเราสามารถนำงานบันเทิงไปใช้เพื่อเพิ่ม
อารมณ์ทางบวก (ซึ่งหมายถึง ความงอกงามของชีวิต) มันก็จะเป็น งานบันเทิงที่ดีพอ และ

ถ้าการออกแบบสามารถเพิ่มอารมณ์ทางบวก ความงอกงาม ภาวะ flow และความหมายในชีวิต สิ่งที่เราทุกคนกำลังร่วมมือทำ ก็จะดีพอ

ขอบคุณครับ (เสียงปรบมือ)
Read more ...

จัดลำดับปัญหาสำคัญของโลก

26 ต.ค. 2554
TED 

โดย  Bjorn Lomborg 

Danish political scientist Bjorn Lomborg heads the Copenhagen Consensus, which has prioritized the world's greatest problems -- global warming, world poverty, disease -- based on how effective our solutions might be. It's a thought-provoking, even provocative list.

ผมอยากจะพูดเกี่ยวกับปัญหาที่มีความสำคัญที่สุดในโลกของเรา ผมไม่ได้กำลังจะพูดเกี่ยวกับ "นักสิ่งแวดล้อมจอมตั้งแง่" ซึ่งนั่นอาจเป็นตัวเลือกที่ดี (หัวเราะ)

แต่ผมกำลังจะพูดเกี่ยวกับเรื่อง อะไรคือปัญหาสำคัญในโลกใบนี้? และก่อนที่ผมจะพูดต่อไป ผมขอให้ทุกท่าน หยิบปากกาและกระดาษออกมา เพราะผมจะขอให้ทุกท่านช่วยผมคิดว่า พวกเราควรจะมองมันอย่างไร หยิบกระดาษกับปากกาออกมาเลยครับ

อย่าลืมว่า มีปัญหามากมายในโลกใบนี้ ผมจะกล่าวถึงบางปัญหา มี 800 ล้านคนบนโลกที่อดยาก มีคนเป็น พันล้านคนที่ไม่มีน้ำดื่มสะอาดบริโภค 2,000 ล้านคนไม่มีระบบสุขาภิบาล และมีอีกหลายล้านคนที่กำลังจะตายด้วย เอชไอวีและเอดส์ รายการปัญหายังมีต่อครับ มีผู้คนอีกกว่า 2,000 ล้านคนที่กำลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น ปัญหามีจำนวนมากจริงๆ

ถ้าเป็นไปได้ เราคงอยากแก้ไขปัญหาเหล่านี้ทั้งหมด แต่เราทำไม่ได้ จริงๆ แล้ว เราไม่สามารถแก้ไขปัญหาทุกปัญหาได้ และถ้าเราไม่สามารถทำได้ คำถามที่ผมคิดว่าเราควรต้องถามตัวเอง และก็เป็นเหตุผลว่าทำไมมันจึงเป็นเรื่องของเศรษฐศาสตร์ -- ก็คือ ถ้าเราไม่สามารถทำได้ทุกอย่าง

เราควรต้องเริ่มถามตัวเองอย่างจริงจังว่า แล้วปัญหาอะไรล่ะที่เราควรแก้ไขเป็นอย่างแรก และนั่นก็เป็นคำถามที่ผมอยากถามคุณ ถ้าเรามีเงินสัก 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับใช้ใน 4 ปีข้างหน้า เพื่อทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อโลกของเรา เราควรใช้เพื่อแก้ปัญหาใด

พวกเรายก 10 ปัญหาที่ท้าทายที่สุดของโลกขึ้นมา ผมจะอ่านสั้นๆ

- การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, 
- โรคติดต่อ, 
- ความข้ดแย้ง, 
- การศึกษา 
- ความไม่มั่นคงทางการเงิน, 
- ธรรมาภิบาลและการคอร์รัปชั่น 
- การขาดแคลนอาหารและผู้อดอยาก, 
- การย้ายถิ่น สุขาภิบาลและน้ำ, 
- การอุดหนุนและกำแพงทางการค้า 

พวกเราเชื่อว่าปัญหาเหล่านี้ เป็นปัญหาที่มีความสำคัญที่สุดในโลก คำถามสำคัญที่ควรต้องถาม ก็คือ พวกคุณคิดว่า ปัญหาอะไรสำคัญที่สุด? เราควรเริ่มต้นที่ไหนในการแก้ไขปัญหา? แต่ นั่นเป็นการถามปัญหาที่ผิด และเป็นปัญหาจริงๆ ที่ถูกถาม เมื่อครั้งประชุมที่ดาโวส ในเดือนมกราคม

แต่ปัญหาเกิดขึ้นแน่นอน ถ้าเราถามผู้เข้าร่วมประชุมให้พิจารณาที่ตัวปัญหา เพราะเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ แน่นอนว่า ปัญหาที่มีความสำคัญที่สุดที่เรามี ก็คือ เราทุกคนต้องตาย แต่เราไม่มีเทคโนโลยีที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว จริงไหมครับ? ดังนั้น ประเด็นจึงไม่ใช่การจัดลำดับปัญหา แต่ควรเป็นการจัดลำดับทางเลือกในการแก้ไขปัญหา แน่นอน นั่นย่อมทำให้อะไรๆยุ่งยากขึ้นอีกเล็กน้อย

สำหรับการเปลี่ยนแปลงภาวะโลกร้อน การแก้ไขก็อาจจะเป็น เกียวโตโปรโตคอล

สำหรับโรคติดต่อ ก็อาจจะแก้โดยการเพิ่มคลินิคสุขภาพ หรือ มุ้งกันยุง

สำหรับความขัดแย้ง, อาจใช้กองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ เป็นต้น

สิ่งที่ผมอยากจะขอให้คุณลองทำ คือภายในเวลา 30 วินาที - และผมรู้ว่านี่เป็นสิ่งที่จะทำให้คุณรู้สึกว่า เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ -- ขอให้เขียนสิ่งที่คุณคิด อาจเป็นบางอย่างที่มีความสำคัญมาก และแน่นอนว่า นี่คือจุดที่ทำให้หลักเศรษฐศาสตร์กลายเป็นเหมือนสิ่งที่ชั่วร้าย เขียนดูครับว่าอะไรคือปัญหาที่เราไม่ควรแก้เป็นอันดับแรก อะไรควรจะจัดเป็นปัญหาลำดับสุดท้ายของรายการ โปรดใช้เวลา 30 วินาที

คุณลองคุยกับเพื่อนข้างๆ ก็ได้ และเขียนลงไปครับว่า ปัญหาใดควรอยู่ในลำดับบนของรายการ และทางออกของปัญหาที่จัดอยู่ลำดับท้ายๆของรายการ ของปัญหาสำคัญๆ ของโลกหลายปัญหา

ส่วนที่น่าประหลาดใจของกระบวรการนี้ ซึ่งแน่นอน ผมหมายถึง ถ้าเป็นไปได้ผมก็อยาก (จะให้เวลาคุณอีกนิด) -- แต่ผมมีเพียง 18 นาทีเท่านั้น ผมได้ให้เวลาที่สำคัญของผมสำหรับทุกท่านแล้ว ใช่ไหมครับ? ผมจะไปต่อนะครับ และชวนคุณให้คิดเกี่ยวกับกระบวนการนี้ และจริงๆ นั่นคือสิ่งที่เราได้ทำกันแล้ว และผมยังสนับสนุนคุณเต็มที่ ผมมั่นใจว่า เราจะได้อภิปรายกันต่อหลังจากนี้ ว่า พวกเราจะจัดลำดับความสำคัญของปัญหาเหล่านี้จริงๆได้อย่างไร? แน่นอน คุณต้องถามตัวเองว่า ทำไมที่ผ่านมาการจัดลำดับความสำคัญแบบนี้ถึงไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน?

เหตุผลข้อหนึ่งก็คือ การจัดลำดับความสำคัญเป็นเรื่องที่น่าอึดอัดอย่างไม่น่าเชื่อ ไม่มีใครอยากทำ เพราะแน่นอนว่า ทุกองค์กรหวังที่จะขึ้นไปอยู่ลำดับต้นๆ ของรายการ และ ทุกองค์กรก็ไม่ชอบถ้าตัวเองจะไม่ได้ขึ้นอยู่ในลำดับต้นๆเช่นกัน และเนื่องจาก หลายๆปัญหาจะไม่ได้ขึ้นไปนั่งแท่นเบอร์หนึ่งของรายการปัญหานี้ มากกว่าจำนวนปัญหาที่จะถูกจัดเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งทำให้ตรรกกะนี้ถูกต้อง ว่าเราจะไม่อยากจัดลับดับรายการขึ้นมา เรามีสหประชาชาติมากว่า 60 ปีแล้ว

แต่เราไม่เคยทำรายการพื้นฐาน เกี่ยวกับสิ่งสำคัญที่เราสามารถทำให้แก่โลกใบนี้ และบอกว่าอะไร คือสิ่งที่เราควรทำเป็นอันดับแรก ซึ่งนั่นก็ไม่ได้หมายความว่า เราไม่ได้กำลังจัดลำดับการตัดสินใจใดๆ คือ การลำดับความสำคัญ ซึ่งแน่นอนว่า เรายังคงลำดับความสำคัญอยู่ แต่เป็นการจัดลำดับโดยนัย ซึ่งก็ไม่น่าจะดีเท่ากัย ถ้าเราได้จัดลำดับความสำคัญจริงๆจังๆ เข้าไปถึงแก่นและถกถึงมันจริงๆ

ดังนั้น สิ่งที่ผมกำลังเสนอจริงๆ ก็คือการบอกว่า เราอยู่ในสถานการณ์ที่เรามีเมนูทางเลือกมานาน เห็นๆได้ว่า มีหลายๆอย่างที่พวกเราสามารถทำได้ แต่เราไม่ได้ตีทั้งมูลค่าและขนาดของประโยชน์ พวกเราไม่ได้มีความคิดอย่างนั้น ลองคิดดูว่าถ้าคุณไปร้านอาหารและได้รับรายการอาหารละลานตา

แต่คุณยังคงนึกไม่ออกว่า มันราคาเท่าไร เหมือนกับ คุณต้องการพิชซ่า แต่ไม่รู้ว่าราคาเท่าไร มันอาจจะแค่ 1 ดอลล่าร์ หรือ 1,000 ดอลล่าร์ มันอาจเป็นพิชซ่าขนาดครอบครัว หรืออาจเป็นขนาดที่ทานคนเดียว ใช่ไหมครับ? พวกเราอยากรู้เกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้

และนั่นเป็นสิ่งที่ที่การประชุมประชามติที่โคเปนเฮเกนพยายามจะทำกัน พยายามที่จะระบุต้นทุนของเรื่องต่างๆ พูดง่ายๆว่า ในที่ประชุมประชามติที่โคเปนเฮเกน พวกเรามีนักเศรษฐศาสตร์สุดยอดของโลก 30 คน สาขาละ 3 คน ดังนั้น พวกเราจึงมีนักเศรษฐศาสตร์ระดับโลก 3 คน ที่เขียนเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน เราสามารถทำอะไรได้บ้าง? อะไรคือต้นทุน? และอะไรคือประโยชน์ที่จะได้? เข่นเดียวกัน สำหรับโรคติดต่อ เราก็ได้ผู้เชี่ยวชาญ 3 คน ช่วยระบุว่า เราสามารถทำอะไรได้บ้าง? และราคาที่มากับการแก้ปัญหาคือเท่าไร? เราควรทำอะไรเกี่ยวกับมัน ผลลัพธ์จะเป็นอะไร? เป็นต้น

แล้วเราก็เคยมีนักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกบางท่าน นักเศรษฐศาสตร์ระดับโลก 8 ท่าน รวม 3 ท่านที่เคยได้รับรางวัลโนเบิล มาประชุมร่วมกันที่โคเปนเฮเกน ในเดือนเมษายน ปี'47 เราเรียกพวกเขาว่า ทีมในฝัน เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยเคมบริจจ์ เรียกพวกเขาว่า รีล เมดริทแห่งเศรษฐศาสตร์ ซึ่งฟังดูเข้าท่าที่ยุโรป แต่อาจจะใช้ไม่ได้ในที่นี่

สิ่งที่พวกเขาทำโดยคือ เขาจัดลำดับรายการความสำคัญ ซึ่งอาจทำให้คุณถามว่าทำไมถึงใช้นักเศรษฐศาสตร์? แน่นอนว่า ผมดีใจมากที่จะตอบคำถามนี้ (หัวเราะ) เพราะมันเป็นคำถามที่ดีมาก ประเด็นคือ แน่นอน ถ้าคุณต้องการรู้เกี่ยวกับมาลาเรีย คุณต้องถามผู้เชี่ยวชาญด้านมาลาเรีย ถ้าคุณต้องการรู้เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ คุณต้องถามผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศ แต่ ถ้าคุณต้องการรู้ว่าสองอย่างนี้ คุณควรจัดการกับเรื่องใดก่อน คุณไม่สามารถถามผู้เชี่ยวชาญทั้งสองคนได้ เพราะนั่นไม่ใช่สิ่งที่เขาทำ นั่นเป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ทำ เขาจัดลำดับความสำคัญ เขาทำในสิ่งที่จะเรียกว่าน่ารังเกียจก็ว่าได้ เพื่อที่จะบอกเราว่า เราควรทำสิ่งใดก่อน และควรทำสิ่งใดในภายหลัง

นี่คือบัญชีรายการ ซึ่งคือสิ่งที่ผมอยากแชร์กับคุณ แน่นอน คุณสามารถเห็นสิ่งเหล่านี้ทางเว็บไซท์ และผมมั่นใจว่าพวกเราจะได้พูดถึงมันมากขึ้น เมื่อเวลาผ่านไป ง่ายๆคือ พวกเขาได้จัดทำบัญชีรายการขึ้นมา ซึ่งพวกเขาจำแนกประเภท โครงการที่ไม่ได้เรื่อง ซึ่งเรียกว่า เป็นโครงการ ที่ถ้าคุณลงทุนลงไปหนึ่งดอลล่าร์ คุณจะได้เงินกลับคืนมาน้อยกว่าหนึ่งดอลล่าร์ และมีโครงการที่พอใช้ได้ โครงการที่ดี และโครงการที่ดีมาก และแน่นอน โครงการที่ดีมากควรเป็นโครงการที่เราเริ่มทำก่อน ผมจะเริ่มไล่จากหลังไปหน้า เพื่อที่เราจะได้จบลงด้วยโครงการที่ดีที่สุด

ส่วนโครงการที่ไม่ดี

คุณอาจเห็นที่บรรทัดล่างๆ ของรายการ ว่าเป็น

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ 

ซึ่่งอาจขัดความรู้สึกของคนจำนวนมาก และ นั่นอาจเป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำให้ หลายคนกล่าวว่า ผมไม่ควรกลับมา และผมอยากจะกล่าวถึงเรื่องนั้น เพราะว่ามันเป็นเรื่องน่าแปลกจริงๆ ทำไมมันถึงถูกจัดลำดับรายการเช่นนี้? และผมจะพยายามย้อนกลับไปยังรายการ เพราะว่า บางทีมันอาจเป็นอย่างหนึ่ง ที่พวกเราไม่เห็นด้วยเมื่อเทียบกับรายการที่คุณลำดับเอาไว้

เหตุผลที่ว่าทำไม พวกเขาจึงได้กล่าวว่า เกียวโตโปรโตคอล หรือการทำบางอย่างที่มากกว่าเกียวโตโปรโตคอล ไม่คุ้มนั้น เหตุผลง่ายๆ คือเพราะมันไม่มีประสิทธิภาพ นี่ไม่ได้หมายความว่า ภาวะโลกร้อนไม่ได้กำลังเกิดขึ้น หรือไม่ได้หมายความว่า มันไม่ใช่ปัญหาขนาดใหญ่ แต่มันกำลังบอกเราว่า สิ่งที่เราสามารถแก้ไขได้ในตอนนี้ นั้นน้อยมาก แต่ต้องใช้ต้นทุนที่สูงมาก

สิ่งที่เขาพยายามจะอธิบายกับพวกเรา จริงๆแล้วคือค่าเฉลี่ยของโมเดลเศรษฐศาสตร์มหภาค ของเกียวโตโปรโตคอล ซึ่งถ้าทุกคนเห็นด้วย ต้องลงทุนประมาณ 1 แสน 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อปี นั่นคือจำนวนเงินมหาศาล มากกว่าเงินช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาถึง 2-3 เท่า ที่พวกเราให้แก่ประเทศโลกที่สามในแต่ละปี แต่จะทำประโยชน์ได้เพียงเล็กน้อย ทุกโมเดลชี้ว่า จะสามารถเลื่อนผลกระทบจากโลกร้อนออกไปได้อีก 6 ปี นับจากปี 2643 ดังนั้นชาวบังคลาเทศที่จะถูกน้ำท่วมในปี 2643 สามารถรอได้ถึงปี 2649 ซึ่งมีประโยชน์ แต่ไม่ได้ให้ประโยชน์มาก ดังนั้นสิ่งที่ความคิดนี้กำลังบอกกับเราก็คือ เราต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อทำสิ่งที่ให้ประโยชน์เล็กน้อย

และเพื่อให้คุณได้เปรียบเทียบ ว่าสหประชาชาติประมาณไว้ว่า ด้วยเพียงครึ่งเดียวของจำนวนเงินข้างต้น คือประมาณ 7 หมื่น 5 พันล้านเหรีญสหรัฐต่อปี พวกเราจะสามารถแก้ไขปัญหาหลักขั้นพื้นฐานในโลกนี้ได้ทั้งหมด เราจะสามารถจัดหาน้ำดื่มที่สะอาดได้ ระบบสุขาภิบาล และอนามัยพื้นฐาน และให้ศึกษาแก่มนุษย์ทุกคนบนโลกนี้

เพราะฉะนั้นเราต้องถามตัวเองว่า เราต้องการใช้เงินเพิ่มเป็น 2 เท่า เพื่อทำสิ่งที่ได้ประโยชน์เล็กน้อยหรือ? หรือจะใช้เงินแค่ครึ่งหนึ่ง เพื่อทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์มากมายมหาศาล และนั่น คือ เหตุผลจริงๆ ว่าทำไมมันถึงเป็นโครงการที่ไม่ดี

ซึ่งผมไม่ได้จะบอกว่า ถ้าพวกเรามีเงินทั้งหมดในโลกนี้ เราจะไม่ทำอะไร แต่ผมกำลังบอกว่า เพราะเราไม่มีเงินทั้งหมดในโลก การแก้ปัญหาโปรเจ็คที่ไม่คุ้มค่าต่อต้นเงินที่ลงไปจึงไม่สมควรจัดอยู่เป็นลำดับต้นๆ

โครงการที่พอใช้้

สังเกตว่าผมจะไม่ได้พูดถึงโปรเจคทั้งหมด แต่อย่างเรื่อง

โรคติดต่อ, 


ขนาดของการบริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน 

ติดเข้ามาอย่างเฉียดฉิว เพราะสเกลของการบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานเป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่ง มันจะให้ประโยชน์อย่างมาก แต่ในขณะเดียวกันก็ใช้ต้นทุนสูง ผมขอย้ำอีกครั้งว่า สิ่งที่รายการความสำคัญบอกกับเราทันทีคือ เราต้องเริ่มคิดถึง ปัจจัยทั้งสองข้างของสมการ ถ้าเรามองโครงการที่ดี เราก็จะได้โครงการเกี่ยวกับระบบสุขาภิบาลและน้ำสะอาด

ผมขอย้ำว่า สุขาภิบาลและน้ำเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก แต่ ต้นทุนของมันเกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานอย่างมาก

เพราะฉะนั้นผมจะแสดงให้เห็นถึงสิ่งสำคัญ 4 อันดับแรก ซึ่งอย่างน้อยควรเป็นสิ่งแรกๆ ที่เราจะจัดการแก้ไข เมื่อเวลาที่เราพูดว่า เราควรจัดการอย่างไรกับปัญหาทั้งหลายในโลกใบนี้

ปัญหาสำคัญลำดับที่ 4 คือ มาลาเรีย 

วิธีจัดการกับมาลาเรีย คนกว่า 2 ล้านคนติดเชื้อมาลาเรียทุกปี มันอาจใช้เงินมากถึง 1% ของ GDP ของประเทศที่ได้รับผลกระทบในแต่ละปี ถ้าเราลงทุนประมาณ 1 หมื่น 3 พันล้านเหรียญสหรัฐใน 4 ปีข้างหน้า เราสามารถลดอัตราการติดเชื้อของโรคลงถึงครึ่งหนึ่ง เราสามารถหลีกเลี่ยงมิให้ผู้คน 500,000 คนต้องตายไป

แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้น คือ เราสามารถป้องกันไม่ให้คน 1 พันล้านคน ต้องติดเชื้อในทุกๆ ปี เราจะสามารถเพิ่มความสามารถของเขาให้มากขึ้น เพื่อจัดการกับปัญหาอื่นๆ ที่พวกเขาต้องเผชิญ แน่นอนว่า ในระยะยาวพวกเขาก็ต้องผจญกับภาวะโลกร้อน

สิ่งสำคัญอันดับสาม คือ การค้าเสรี 

โดยพื้นฐานแล้ว โมเดลแสดงให้เห็นว่า ถ้าเราเปิดการค้าเสรี โดยเฉพาะการตัดการอุดหนุนในสหรัฐอเมริกาและในยุโรป เราสามารถทำให้เศรษฐกิจโลกคึกคักมีชีวิตชีวา อย่างน่าประหลาดใจเป็นจำนวนเงินถึง 2 ล้าน 4 แสนล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐต่อปี ครึ่งของเงินจำนวนนี้จะตกกับโลกที่สาม

ผมย้ำอีกครั้งว่า ประเด็นคือ เราสามารถช่วยเหลือคน 2 - 300 ล้านคนให้หลุดพ้นจากความยากจน อย่างรวดเร็ว ภายใน 2-5 ปี นั่นคือสิ่งสำคัญลำดับที่สามที่เราควรทำ

สิ่งสำคัญอันดับที่สอง คือ เรื่องภาวะขาดแคลนอาหาร 

ไม่ใช่ภาวะขาดแคลนอาหารโดยทั่วไป แต่มีแนวทางที่ถูกมากๆ ในการจัดการกับปัญหานี้ กล่าวคือ

การขาดแร่ธาตุอาหาร 

โดยคร่าวๆ ครึ่งหนึ่งของประชากรโลกกำลังขาด ธาตุเหล็ก สังกะสี ไอโอดีน และวิตามิน เอ ถ้าเราลงทุนประมาณ 1 หมื่น 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เราสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างจริงจัง นั่นคือสิ่งสำคัญสิ่งที่สองที่เราควรสามารถลงทุนได้

และ

โครงการที่ดีที่สุด คือ เรื่องเอชไอวี/เอดส์ 

โดยพื้นฐาน ถ้าเราจ่ายเงิน 2 หมื่น 7 พันล้านเหรียญดอล์ล่าร์สหรัฐ ใน 8 ปีข้างหน้า เราจะสามารถป้องกันผู้ติดเชื้อรายเอชไอวี/เอดส์รายใหม่ได้ถึง 28 ล้านคน ขอย้ำอีกครั้งว่า สิ่งที่การจัดลำดับความสำคัญทำคือ เรามี 2 แนวทางที่แตกต่างกันมากที่เราจะสามารถใช้แก้ปัญหาเอชไอวี/เอดส์ได้ หนึ่ง คือ การรักษา และสอง คือ การป้องกัน ย้ำอีกครั้งว่า ถ้าเป็นไปได้ เราอยากทำทั้ง 2 แนวทาง

แต่ในความเป็นจริงเราไม่สามารถทำได้ทั้ง 2 แนวทาง หรือ ไม่สามารถทำได้ดีทั้งคู่ เพราะฉะนั้น อย่างน้อยเราควรต้องถามตัวเองว่า เราควรลงทุนในแนวทางไหนก่อน ซึ่งการลงทุนในด้านการรักษานั้น แพงกว่าการป้องกันมาก

ดังนั้นเราอาจกล่าวได้ว่า สิ่งที่เราให้ความสำคัญ คือ สิ่งที่เราสามารถทำได้มากกว่า ซึ่งก็คือการลงทุนในการป้องกัน สำหรับจำนวนเงินที่เราใช้ เราสามารถทำได้จำนวน X ที่เป็นประโยชน์ทางการรักษา แต่ในการป้องกัน เราสามารถทำได้มากกว่า 10 เท่า ดังนั้น เราจึงควรให้ความสำคัญกับการป้องกันมากกว่าการรักษา ในขั้นแรก

นี่คือการทำให้เราเริ่มคิดจริงๆถึงการจัดลำดับความสำคัญ ผมอยากให้ทุกคน มองไปที่รายการที่คุณจัดลำดับไว้และบอกว่า คุณจัดได้ถูกต้องไหมครับ? หรือใกล้เคียงกับที่เราทำด้วยกันไปเมื่อสักครู่รึเปล่า? แน่นอนครับว่า ประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงเป็นประเด็นยอดนิยม ผมพบว่า มีคนจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยว่าปัญหาภาวะโลกร้อนควรอยู่รั้งท้าย

พวกเราควรจัดให้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าไม่มีเหตุผลอื่นใด อย่างน้อยก็เพราะว่ามันเป็นปัญหาใหญ่ยักษ์

แต่แน่นอน ที่พวกเราไม่สามารถแก้ไขได้ทุกปัญหา โลกเรามีปัญหามากมาย และสิ่งที่ผมต้องการยำ้อีกครั้งก็คือ ถ้าพวกเราให้ความสนใจกับปัญหา อย่าลืมคิดว่าเรากำลังให้ความสำคัญกับปัญหาที่ควรให้ความสำคัญหรือเปล่า

สิ่งหนึ่ง คือ เราทำสิ่งที่จะให้ประโยชน์อย่างมาก มากกว่า สิ่งที่เราทำประโยชน์ให้ได้น้อย และผมคิดว่า -- โทมัส ชิลลิ่ง หนึ่งในสมาชิกของทีมในฝัน เขาพูดไว้อย่างเยี่ยมยอด สิ่งหนึ่งที่เรามักลืมไปคือใน100 ปี ที่เราพูดถึงผลกระทบที่มากที่สุดที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประชาชนจะยิ่งรวยขึ้น แม้แต่

ภาพอนาคตของผลกระทบที่เลวร้ายที่สุด จากงานของสหประชาชาติ ประมาณไว้ว่า ในปี 2643 ประชาชนในประเทศกำลังพัฒนา จะร่ำรวยมากขึ้นเท่าๆกับที่พวกเรามีในทุกวันนี้ และก็มีความเป็นไปได้สูงว่า พวกเขาจะรวยกว่าพวกเราในปัจจุบันถึง 2-4 เท่า และแน่นอน พวกเราจะรวยยิ่งไปกว่านั้นอีก

แต่ประเด็นคือ เมื่อเราพูดถึงการรักษาชีวิตผู้คน หรือการช่วยเหลือชาวบังคลาเทศในปี 2643 เราไม่ได้พูดกันถึงคนจนในบังคลาเทศ จริงๆ แล้ว เรากำลังพูดถึงชาวดัชท์ที่อยู่ดีมีกิน ดังนั้น แก่นของประเด็นนี้คือ เราอยากจะใช้เงินจำนวนมากเพื่อช่วยเหลือคนจำนวนน้อย เช่น ชาวดัชท์ที่มีฐานะ ในช่วง100ปีต่อจากนี้? หรือ เราต้องช่วยเหลือคนจนจริงๆ ณ เวลานี้ ที่บังคลาเทศ?

จริงๆ แล้ว ใครคือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ และใครที่เราสามารถช่วยเหลือได้ในค่าใช้จ่ายราคาไม่มาก หรือ เหมือนกับที่ชิงลิ่งเสนอไว้ว่า ลองนึกภาพว่า ถ้าคุณเป็นคนรวย ไม่ว่าคุณจะเป็นเศรษฐีจีน เศรษฐีชาวโบลิเวีย หรือ เศรษฐีชาวคองโก ในปี2643 ให้คิดย้อนกลับไปปี2548 และพูดว่า

มันแปลกแค่ไหนที่เขาได้รับความสนใจมากขนาดนี้ เพื่อช่วยเหลือฉันในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในการเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และห่วงใยพอสมควรต่อการช่วยเหลือปู่ของฉัน และ ทวดของฉัน ก็เป็นคนที่พวกเขาสามารถให้ความช่วยเหลือได้อย่างมาก ใครกันแน่ที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง?

และผมคิดว่า มันจะบอกกับเราตรงๆว่าทำไมมันจึงเป็นอย่างนั้น เราต้องจัดลำดับความสำคัญให้ถูกต้อง แม้ว่ามันจะไม่เป็นไปตามภาพปกติที่เรามองเห็นปัญหา แน่นอน ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแสดงภาพที่ชัดเจน อย่าง The Day After Tomorrow ที่เยี่ยมมาก ใช่ไหมครับ?

มันเป็นหนังที่ให้ภาพที่แจ่มชัด แน่นอนว่าผมก็ต้องการดูเช่นกัน แต่อย่าหวังว่าเอ็มเมริช จะเอาแบรด พิทท์มาเล่นหนังของเขาในเรื่องหน้า ให้ขุดถังส้วมในแทนซาเนีย หรือทำอะไรประมาณนั้น (หัวเราะ)

มันไม่ให้อารมณ์พอที่จะสร้างเป็นหนัง ดังนั้นในหลายๆทาง ผมคิดถึงการประชุมประชามติที่โคเปนเฮเกน และการอภิปรายทั้งหมดเกี่ยวกับลำดับความสำคัญ ว่าเป็นการป้องกันตัวเองของปัญหาที่น่าเบื่อ เพื่อทำให้เรามั่นใจว่า สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ไม่ได้แค่ให้เรารู้สึกดี มันไม่ใช่แค่การทำในสิ่งที่สื่อให้ความสำคัญเป็นส่วนใหญ่ แต่มันเป็นเรื่องของการที่เราสามารถประโยชน์อย่างมากที่สุด ในที่ๆต้องการเรามากที่สุด

สำหรับข้อโต้แย้งอื่นๆ ที่ผมคิดว่ามีความสำคัญที่จะต้องพูดถึง ก็คือ ไม่ว่าจะผม หรือพวกเรา ต่างกำลังนำเสนอตัวเลือกที่ผิด แน่นอน เราควรทำทุกๆ อย่าง ในโลกในฝัน -- ซึ่งผมก็เห็นด้วยอย่างยิ่ง ผมคิดว่า พวกเราควรทำทุกอย่าง

แต่พวกเราทำไม่ได้ ในปี2513 ประเทศที่พัฒนาแล้วได้ตัดสินใจว่าเราควรต้องใช้เงิน เป็น 2 เท่าของที่เรากำลังใช้จริงในปัจจุบันแก่ประเทศกำลังพัฒนา นับตั้งแต่นั้นมาเงินช่วยเหลือของพวกเราก็ถูกแบ่งครึ่ง ดังนั้น จริงๆแล้ว เราไม่ได้อยู่บนแนวทาง ของการแก้ไขปัญหาใหญ่ๆทั้งหมดอย่างรวดเร็ว

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้คนยังพูดว่า แล้วเรื่องสงครามอิรักล่ะ? คุณรู้หรือเปล่า พวกเราใช้เงินไป 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ทำไมเราจึงไม่เอาเงินจำนวนนี้ไปทำสิ่งที่เกิดประโยชน์ให้กับโลก? นั่นเป็นคำถามที่ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง ถ้ามีใครในที่นี้สามารถคุยกับบุชให้ทำสิ่งนี้ได้ จะเยี่ยมมาก

แต่แน่นอน ประเด็นที่ยังเป็นที่กล่าวถึงคือ ถ้าคุณมีอีกสัก 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เรายังต้องการใช้มันเพื่อทางเลือกที่ดีที่สุด ใช่หรือไม่? ดังนั้นประเด็นที่แท้จริง คือ พวกเราต้องคิดใหม่ ว่าอะไรคือการลำดับความสำคัญที่ถูกต้อง

ผมควรถามอีกนิดว่า นี่คือ ลำดับที่เราพูดถึงนี้ มันถูกต้องจริงๆหรือเปล่า? อย่างที่คุณรู้ว่า เมื่อเราถามนักเศรษฐศาสตร์ที่ดีที่สุดในโลก เราก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องถามชายอเมริกันแก่ผิวขาว และเขาก็ไม่จำเป็นว่าจะรู้จัก วิธีมองเห็นโลกทั้่งใบในแง่ความเป็นจริง

ดังนั้น พวกเราจึงเชิญคนหนุ่มสาว80คนทั่วโลก มาเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาเดียวกัน ผู้ร่วมโครงการต้องมีคุณสมบัติเพียง 2 ประการ

1) คือ กำลังศึกษามหาวิทยาลัย และ 


2) พูดภาษาอังกฤษ 

โดยส่วนใหญ่พวกเขามาจากประเทศกำลังพัฒนา พวกเขาต่างมีสิ่งของแบบเดียวกัน แต่พวกเขาสามารถมีได้มากขึ้นไปอีก นอกเหนือไปจากขอบเขตการอภิปราย และสิ่งที่พวกเขาได้ทำ คือ การออกแบบรายการความสำคัญของพวกเขาเอง และที่น่าแปลกใจก็คือลำดับรายการมีความคล้ายคลึงอย่างมาก

สิ่งสำคัญในระดับต้นๆ คือ ภาวะขาดแคลนอาหารและโรคติดต่อต่างๆ 

ส่วนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นรั้งลำดับท้ายๆ พวกเราได้ทำแบบนี้อยู่หลายครั้ง ทั้งจากการสัมมนากับนักศึกษามหาวิทยาลัยและสัมมนากับกลุ่มต่างๆ พวกเขาต่างจัดรายการที่เหมือนกันมากๆ และนั่นทำให้ผมมีความหวังอย่างมาก จริงๆนะครับ

ผมเชื่อว่า มีหนทางเบื้องหน้าที่จะทำให้เราเริ่มคิดเกี่ยวกับการจัดลำดับความสำคัญ และบอกว่า อะไร คือ สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับโลกใบนี้? ผมย้ำอีกทีว่า แน่นอนว่าเราอยากทำทุกๆเรื่อง แต่ ถ้าพวกเราทำไม่ได้ เราควรเริ่มคิดว่าเราควรจะเริ่มจากเรื่องอะไร?

ผมมองการประชุมประชามติโคเปนเฮเกนว่าเป็นขั้นหนึ่ง ที่เราทำในปี 2547 และพวกเราหวังว่าจะสามารถรวบรวมคนจำนวนมากขึ้นให้เข้าร่วม ซึ่งจะทำให้เรามีข้อมูลที่ดีขึ้น สำหรับปี 2551 และ 2555 เพื่อชี้แนวทางที่ถูกต้องสำหรับโลกใบนี้ และเรายังต้องเริ่มคิดถึงเรื่องของการจัดสรรทรัพยากรเพื่อแก้ไขปัญหาทางการเมืองด้วย เริ่มคิดที่จะพูดว่า อย่าทำในเรื่องที่เราทำได้น้อย แต่มีต้นทุนสูง อย่าทำในเรื่องที่เราไม่รู้ว่าควรทำอย่างไร แต่ลงมือทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ที่เราสามารถจะทำได้ประโยชน์อย่างมหาศาล ในต้นทุนต่ำ เดี๋ยวนี้

สุดท้ายแล้ว คุณอาจไม่เห็นด้วย กับการอภิปรายแนวทางการจัดลำดับความสำคัญนี้ แต่เราจะต้องซื่อสัตย์และพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า ถ้ามีบางอย่างที่เราทำ ก็จะมีอีกหลายอย่างที่เราไม่ได้ทำ ถ้าเราห่วงใยอย่างมากเกี่ยวกับบางอย่าง เราจะเลิกกังวลในเรื่องอื่นๆ ผมหวังว่าสิ่งที่ผมนำเสนอจะช่วยพวกเราจัดลำดับความสำคัญได้ดีขึ้น และคิดว่าเราจะทำงานให้ดีขึ้นได้อย่างไรสำหรับโลกใบนี้ ขอบคุณครับ
Read more ...

ชีวิตและงานทำไงให้ เวิร์ค!

26 ต.ค. 2554
TED โดย Nigel Marsh is the author of
"Fat, Forty and Fired" and
"Overworked and Underlaid."

สิ่งที่ผมคิดว่าจะทำ คือผมจะเริ่มด้วยคำของ่ายๆ ผมอยากให้คุณทุกคน

หยุดสักครู่ เจ้าพวกอ่อนแอและสิ้นหวังทั้งหลายแล้วประเมินชีวิตที่น่าสังเวชของตน 

(หัวเราะ)

นั่นคือคำแนะนำ ที่เซนต์เบเนดิคให้กับสาวกที่ตื่นตระหนกของท่าน ในปีศตวรรตที่5 มันเป็นคำแนะนำที่ผมตกลงใจทำตามด้วย เมื่อผมอายุครบ40 ก่อนที่จะถึงวันนั้น ผมเคยเป็นนักรบระดับตำนานของบริษัท กินมากเกินไป, ดื่มมากเกินไปผมทำงานหนักมากๆ และผมละเลยชีวิตครอบครัว และผมตัดสินใจว่าผมจะลอง เปลี่ยนชีวิตตัวเองใหม่ โดยเฉพาะ ผมตัดสินใจว่า ผมจะต้องหาเข้าใจปัญหาที่ซับซ้อน ของสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงาน

เพราะงั้นผมก็เลยพักงานและใช้เวลาอยู่กับบ้านหนึ่งปี กับภรรยา และลูกเล็กๆสี่คนแต่สิ่งที่ผมได้เรียนรู้เกี่ยวกับการรักษาสมดุลระหว่างงานและเวลาส่วนตัว ในปีนั้น คือผมพบว่ามันช่างง่ายดาย ที่จะรักษาสมดุลระหว่างงานและชีวิต เมื่อผมไม่ได้ทำงานอะไรเลย(หัวเราะ) ซึ่งเป็นทักษะที่ไม่ค่อยมีประโยชน์ โดยเฉพาะเมื่อเงินหมด

ผมเลยกลับไปทำงาน ผมใช้เวลาเจ็ดปีตั้งแต่นั้น ในการต่อสู้ เรียนรู้ และเขียนถึงสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน และผมได้ข้อสังเกต 4 ประการ ที่ผมอยากจะแชร์กับพวกคุณทุกคนวันนี้

ข้อสังเกตประการแรก 

คือ ถ้าหากว่าสังคมต้องการให้เรื่องนี้คืบหน้า เราคงต้องคุยกันอย่างจริงจัง

แต่ปัญหาคือ คนจำนวนมากพูดแต่เรื่องไร้สาระมากเกินไป เกี่ยวกับสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน การถกกันเกี่ยวกับเวลาทำงานที่ยืดหยุ่น หรือการแต่งกายลำลองในวันศุกร์ หรือการลาคลอดของพ่อได้ เป็นเพียงแค่การซ่อนปัญหาที่แท้จริง ซึ่งก็คือบางงานและอาชีพ โดยพื้นฐานแล้วไม่เข้ากันกับ

การอยู่ร่วมกันอย่างมีความหมาย ในชีวิตประจำวัน กับครอบครัวที่เพิ่งเริ่มต้น และก้าวแรกในการแก้ไขปัญหาทุกอย่าง คือการยอมรับความจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เป็น และความจริงเกี่ยวกับสังคมที่เราอยู่ คือมีคนเป็นพันๆ ข้างนอกนั่น ใช้ชีวิตที่สิ้นหวัง กรีดร้องอย่างเงียบๆ ในขณะที่พวกเขาก้มหน้าทำงานตลอดวัน กับงานที่พวกเขาเกลียดเข้าไส้ เพื่อที่จะได้มีเงินมาใช้ซื้อของที่ไม่ต้องการ เพื่อสร้างภาพพจน์กับคนที่ไม่ชอบ (หัวเราะ) (ปรบมือ) ผมรู้สึกว่าการนุ่งยีนส์ใส่เสื้อยืดไปทำงานในวันศุกร์ มันไม่น่าจะแก้ไขถึงต้นตอของปัญหาได้ (หัวเราะ)

ข้อสังเกตประการที่สอง

ที่ผมอยากจะเสนอ คือเราต้องเผชิญหน้ากับความจริง ที่ว่ารัฐบาล และบริษัทต่างๆ จะไม่แก้ปัญหานี้ให้เรา เราควรจะหยุดมองออกไปข้างนอก มันขึ้นอยู่กับเราแต่ละคน ที่จะควบคุมและรับผิดชอบ ในการสร้างชีวิตที่เราต้องการ ถ้าคุณไม่ออกแบบชีวิตของคุณเอง ใครซักคนก็จะออกแบบให้คุณ และคุณก็อาจจะไม่ชอบใจนัก กับนิยามความสมดุลของเขา มันเป็นเรื่องสำคัญ นี่ไม่ได้อยู่ในเว็บ ใช่ป่ะ ผมกำลังจะถูกไล่ออก มันเป็นเรื่องสำคัญ ที่คุณจะไม่ฝากคุณภาพชีวิตของคุณ ไว้ในมือของบริษัทต่างๆ

ผมไม่ได้พูดถึงแค่บริษัทที่แย่ๆเท่านั้นนะครับ ผมเรียกมันว่าโรงฆ่าวิญญาณ (หัวเราะ) ผมพูดถึงบริษัททุกๆแห่ง เพราะบริษัทเหล่านั้น ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะ ที่จะรีดทุกสิ่งทุกอย่างจากตัวคุณ เท่าที่จะเอาไปได้ มันเป็นธรรมชาติของมัน เป็น DNA มันเป็นสิ่งที่เขาทำ แม้จะเป็นบริษัทดี มีความตั้งใจที่ดีก็ตาม

ในด้านหนึ่ง การจัดสถานที่เลี้ยงเด็กในที่ทำงาน เป็นเรื่องที่มหัศจรรย์และน่าดีใจ ในอีกด้าน มันเป็นฝันร้าย มันหมายถึงว่าคุณใช้เวลามากขึ้นในไอ้ที่ทำงานเนี่ย เราต้องรับผิดชอบ ในการตั้งและบังคับให้มี ขอบเขตที่เราต้องการในชีวิตของเรา

ข้อสังเกตประการที่สาม 

คือ เราต้องระมัดระวัง เกี่ยวกับระยะเวลาที่เราเลือก เพื่อตัดสินความสมดุลของเรา ก่อนที่ผมจะกลับไปทำงาน หลังจากที่อยู่บ้านเฉยๆมาหนึ่งปี ผมนั่งลงและเขียนออกมา เป็นคำอธิบายขั้นตอนโดยละเอียด ของวันที่สมดุลในฝัน ที่ผมคาดหวังอยากจะได้ และมันออกมาอย่างนี้ครับ ตื่นขึ้นมาอย่างสดชื่น หลังจากการนอนหลับเต็มอิ่ม มีเซ็กส์ พาหมาไปเดินเล่น ทานข้าวเช้ากับภรรยาและลูกๆ มีเซ็กส์อีกซักรอบ (หัวเราะ) พาลูกไปโรงเรียน แล้วไปทำงานทำงานสามชั่วโมง

เล่นกีฬากับเพื่อนๆช่วงพักทานกลางวันทำงานต่ออีกสามชั่วโมง ไปสังสรรค์กับเพื่อนๆที่ผับ ดื่มซักหน่อย กลับบ้านไปทานข้าวเย็น กับภรรยาและลูก นั่งสมาธิซักครึ่งชั่วโมง แล้วมีเซ็กส์ พาหมาไปเดินเล่น มีเซ็กส์อีกรอบจากนั้นก็เข้านอน (ปรบมือ) คุณคิดว่าผมจะมีวันอย่างงี้ได้บ่อยซักแค่ไหนอ่ะ (หัวเราะ)

เราต้องยอมรับความจริง ว่าเราไม่สามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างได้ในวันเดียว เราต้องยืดเวลาออกไป ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราตัดสินว่าจะรักษาสมดุลให้กับชีวิตแต่เราต้องยืดมันออก โดยไม่ตกหลุมพราง ที่ว่า "เราจะใช้ชีวิต เมื่อเราเกษียณ เมื่อลูกๆออกไปจากบ้านไปแล้ว เมื่อภรรยาขอหย่า, สุขภาพย่ำแย่ เมื่อไม่มีเพื่อน หรือความสนใจอื่นหลงเหลืออยู่" (หัวเราะ) หนึ่งวันมันสั้นไป หลังจากเกษียณก็ยาวไป มันต้องมีทางสายกลาง

ข้อสังเกตประการที่สี่

เราต้องเข้าหาสมดุล ด้วยวิธีการที่สมดุล มีเพื่อนคนหนึ่งมาหาผมเมื่อปีที่แล้ว และเธอไม่ว่าถ้าผมจะพูดถึงเรื่องนี้ เพื่อนมาหาผมปีที่แล้ว และบอกว่า "ไนเจล ฉันอ่านหนังสือคุณแล้ว และคิดว่าชีวิตฉันเนี่ยช่างไม่สมดุลเอาซะเลย มันถูกทับถมด้วยงาน ฉันทำงาน10ชั่วโมงต่อวัน เดินทาง2ชั่วโมงต่อวัน ความสัมพันธ์ทุกแบบของฉันล้มเหลวหมด ไม่มีเรื่องอื่นในชีวิตฉัน

นอกจากงาน ฉันเลยตัดสินใจที่จะกำหมัด แล้วกำจัดมันออกไป ฉันเลยไปสมัครฟิตเนสซะเลย" (เสียงหัวเราะ) ผมไม่ได้อยากจะซ้ำเติม แต่การเป็นทาสออฟฟิสที่ทำงาน10ชั่วโมงต่อวันแต่ฟิต ไม่ได้เพิ่มความสมดุล แต่มันก็แค่ฟิตขึ้นเท่านั้นเอง (หัวเราะ)

การเป็นผู้หญิงสวยด้วยการออกกำลังอาจจะใช่ แต่มันก็มีด้านอื่นของชีวิตด้วย มีด้านสติปัญญา, ด้านอารมณ์ ด้านจิตวิญญาณและการจะสร้างความสมดุล ผมเชื่อว่าเราต้องใส่ใจ กับทุกๆสิ่งที่กล่าวมา ไม่ใช่แค่การซิทอัพ50ที

นั่นเป็นสิ่งที่น่าหวาดหวั่น เพราะคนมักจะพูดว่า "เฮ่ย เพื่อน, กูไม่มีเวลาออกกำลังเลยว่ะ มึงยังอยากให้กูไปโบสถ์ แถมโทรหาแม่กูอีกเรอะ" และผมเข้าใจ ผมเข้าใจจริงๆว่าทำไมมันน่าหวาดกลัวนัก แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อสองสามปีก่อน ทำให้ผมได้รับมุมมองใหม่ ภรรยาของผม ซึ่งอยู่ที่ใดที่หนึ่งในหมู่ผู้ชมวันนี้ โทรหาผมที่ออฟฟิศ แล้วบอกว่า "ไนเจล คุณต้องไปรับลูกชายคนเล็ก" แฮรี่ จากโรงเรียน" เพราะเธอต้องไปธุระกับลูกๆอีกสามคนเย็นนั้น

ผมเลยเลิกงานเร็วขึ้นหนึ่งชั่วโมงในตอนบ่าย แล้วไปรับแฮรี่จากประตูโรงเรียนเราเดินไปด้วยกันในสวน เล่นชิงช้า และเกมส์บ้าๆบอๆ จากนั้นผมพาเขาเดินขึ้นเขาไปยังร้านกาแฟ และเราก็กินพิซซ่ากับชาด้วยกัน จากนั้นเดินลงเขากลับบ้าน แล้วผมก็อาบน้ำให้เขา จับเขาใส่ชุดนอนแบทแมนตัวเก่ง แล้วอ่านนิทานให้ฟัง เรื่อง "เจมส์และลูกท้อยักษ์" ของโรอัล ดาห์ล

ผมพาเข้านอน ห่มผ้าให้ จูบหน้าผาก และบอก"ราตรีสวัสดิ์ลูก" จากนั้นเดินออกมาจากห้องนอนของเขา ในขณะที่ผมกำลังจะออกมานั้น เขาพูดขึ้นว่า "พ่อครับ" ผมหันไป "ว่าไงลูก" เขาบอกว่า "พ่อครับ นี่เป็นวันที่ดีที่สุด ในชีวิตของผมเลยครับ" ผมไม่ได้ทำอะไรเลย ผมไม่ได้พาเขาไปดีสนีย์เวิลด์ หรือซื้อเพลย์สเตชั่นให้เขา

ประเด็นของผมคือ แม้แต่เรื่องเล็กๆก็มีผล การเพิ่มความสมดุล ไม่ได้หมายถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในชีวิต ด้วยการลงทุนเล็กๆน้อยๆ ในที่ซึ่งเหมาะสม โดยมูลฐานคุณสามารถที่จะเปลี่ยนคุณภาพของความสัมพันธ์ และคุณภาพของชีวิตคุณได้ 

นอกจากนี้ ผมคิดว่า มันสามารถเปลี่ยนสังคมได้ เพราะถ้ามีคนมากพอทำมัน เราสามารถเปลี่ยนคำนิยามทางสังคมของความสำเร็จ จากความคิดเห็นง่ายๆโง่ๆที่ว่าคนที่มีเงินมากที่สุดตอนตายเป็นผู้ชนะ ไปยังคำนิยามที่สมดุลและลึกซึ้งยิ่งกว่า ของการดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพ และนั่น ผมคิดว่า คือแนวความคิดที่มีคุณค่าพอที่จะเผยแพร่ให้ทุกคนรู้
Read more ...

เคล็ดลับ 7 ข้อในการทำธุรกิจของ สตีฟ จ็อบส์

9 ต.ค. 2554
โดยเส้นทางเศรษฐี เมื่อ 1 ต.ค.2554

คงไม่ต้องอรรถาธิบาย ให้เสียเวลาว่าใครคือ "สตีฟ จ็อบส์" แม้แต่เด็กเล็กๆ ยังรู้จัก ถ้าถามว่าใครคือนายกรัฐมนตรีของไทย เด็กๆ อาจจะคิดนาน แต่ถ้าถามว่าใครคือเจ้าของบริษัทแอปเปิ้ล ผู้ผลิตไอโฟน แทบไม่ต้องคิดให้เสียเวลา

ทั้งนี้ เพราะสินค้าของเขาไม่ว่า ไอพอด ไอแพด ไอโฟน ทั้งหลายเป็นที่รู้จักทั่วโลก มียอดขายมากกว่างบประมาณของรัฐบาลไทยเสียอีก

หากเทียบกันระหว่าง "บิลล์ เกตส์" เจ้าของไมโครซอฟท์ที่เคยติดอันดับร่ำรวยอันดับ 1 ของโลกมาแล้ว กับ "สตีฟ จ็อบส์" ใครเก่งกว่าใครคงตอบยาก ทั้งคู่โดดเด่นคนละด้าน

แต่ที่รู้ๆ "สตีฟ จ็อบส์" นั้นป๊อปปูล่าร์มากกว่า เพราะนอกจากจะเก่งเรื่องคิด แล้วยังเก่งเรื่องการทำธุรกิจ การบริหารจัดการ ที่สำคัญ มีความเป็นศิลปินสูงมาก เราจะเห็นว่า ทุกครั้งที่มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมา สตีฟ จ็อบส์ จะเป็นคนพรีเซ้นต์แนะนำสินค้าเอง ด้วยบุคลิกที่โดดเด่น แต่งกายเป็นเอกลักษณ์ และมีเสน่ห์ในการนำเสนอ จึงได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนทั่วโลก

จึงอยากนำเสนอหลักคิดในการทำงานของเขาว่าเป็นอย่างไร ทำไมเขาจึงประสบความสำเร็จ อย่างน้อยเพื่อให้ผู้อ่านที่มีกิจการอยู่แล้วเอาไปปรับใช้กับการทำธุรกิจของท่าน

อย่าลืมว่า กว่าแอปเปิ้ลจะเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกทุกวันนี้ก็เริ่มจากธุรกิจเล็กๆ มาก่อน โดยสตีฟ จ็อบส์ ใช้หอพักในมหาวิทยาลัยเป็นโรงงาน เช่นเดียวกับบิลล์ เกตส์ ที่ใช้โรงรถประกอบคอมพิวเตอร์

จะเห็นว่าธุรกิจของเขานั้นเริ่มต้นจากธุรกิจเล็กๆ เรียกว่าไมโครบิสซิเนสเลยทีเดียว เล็กกว่าธุรกิจเอสเอ็มอีในบ้านเรา เล็กกว่าธุรกิจของท่านผู้อ่านเสียอีก

หลักคิดในการทำงานของสตีฟ จ็อบส์ ไม่เพียงแต่ใช้ประยุกต์ในการบริหารองค์กรเท่านั้น ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันได้อีกด้วย

หลัก 7 ข้อในการขับเคลื่อนธุรกิจของสตีฟ จ็อบส์ นำมาจากหนังสือชื่อ "กล้าคิดต่างอย่าง สตีฟ จ็อบส์" แปลและเรียบเรียงโดย ศรชัย จาติกวณิช ประสิทธิ์ชัย วีระยุทธวิไล ซึ่งน่าสนใจอย่างยิ่ง แต่ถ้าใครอยากอ่านฉบับเต็มไปหาซื้อได้ตามร้านขายหนังสือทั่วไป

หลักการ 7 ข้อในหนังสือเล่มนี้ จะบังคับให้คุณคิดอย่างแตกต่างในเรื่อง หน้าที่การงาน บริษัท ลูกค้า และสินค้าของคุณ หลักการทั้งหมดเรียงลำดับดังนี้

หลักการที่ 1 

"ทำในสิ่งที่ใจรัก" หลักการนี้คงเป็นหลักการทั่วไปที่หลายคนอาจรับรู้มาแล้วจากประวัติบุคคลที่ประสบความสำเร็จล้วนต้องเริ่มจากทำในสิ่งที่ใจรักทั้งสิ้น

เฉกเช่นเดียวกับสตีฟ จ็อบส์ ที่เขาทำตามเสียงเรียกร้องของหัวใจของเขามาตลอดชีวิต และเขาบอกว่า มันทำให้เกิดความแตกต่าง

หากใครอยากประสบความสำเร็จในชีวิต ควรจะต้องเริ่มจากทำในสิ่งที่คุณรักเสียก่อน

หลักการที่ 2 

"เปลี่ยนแปลงโลก" สตีฟ จ็อบส์ ดึงดูดผู้ที่คิดเหมือนเขาเข้ามา ผู้ที่มีวิสัยทัศน์ร่วมกัน และผู้ที่จะเปลี่ยนไอเดียที่เขามีให้กลายเป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้ ความมีใจรักเป็นเชื้อเพลิงที่ส่งจรวดของแอปเปิ้ลทะยานขึ้นฟ้า โดยมีวิสัยทัศน์ของสตีฟ จ็อบส์ เป็นจุดหมาย

หลักการที่ 3 

"เขี่ยลูกเปิดเกมให้สมองทำงาน" 

นวัตกรรมจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าปราศจากความคิดสร้างสรรค์ สำหรับสตีฟ จ็อบส์ แล้วความคิดสร้างสรรค์ก็คือการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน สตีฟ จ็อบส์ เชื่อว่า ประสบการณ์ที่กว้างไกลจะช่วยให้เราเข้าใจเรื่องราวของมนุษย์มากขึ้น

หลักการที่ 4 

"ขายฝัน ไม่ใช่สินค้า" 

สำหรับสตีฟ จ็อบส์ แล้วผู้ซื้อสินค้าแอปเปิ้ลไม่ใช่ "ลูกค้า" แต่เขาคือผู้มีความหวัง ความฝัน และใฝ่สูง สตีฟ จ็อบส์ สร้างสินค้าขึ้นมาเพื่อช่วยให้พวกเขาเหล่านี้บรรลุความฝันที่มี

หลักการที่ 5 

"บอกปฏิเสธกับ 1,000 สิ่ง"

ความเรียบง่ายคือความลึกล้ำสูงสุด นี่คือ คำบอกของสตีฟ จ็อบส์ ตั้งแต่การออกแบบไอพอด ไปจนถึงไอโฟน บรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าของแอปเปิ้ลไปจนถึงเว็บไซต์ของแอปเปิ้ล นวัตกรรมคือการขจัดสิ่งไม่จำเป็นออกไป เพื่อเปิดช่องให้สิ่งจำเป็นได้พูดบ้าง

หลักการที่ 6 

"การสร้างประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมอย่างไม่บันยะบันยัง" 

สตีฟ จ็อบส์ ได้ทำให้ร้านค้าแอปเปิ้ล เป็นมาตรฐานทองของการให้บริการลูกค้า ร้านค้าแอปเปิ้ลเป็นร้านค้าปลีกที่ดีที่สุดในโลกด้วยนวัตกรรมง่ายๆ ที่ธุรกิจไหนๆ ก็นำไปสร้างสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับลูกค้าได้ทั้งนั้น

หลักการที่ 7 

"เก่งสื่อสาร"

สตีฟ จ็อบส์ เป็นนักเล่าตัวฉกาจระดับโลก ที่ยกระดับงานเปิดตัวสินค้าให้เป็นงานศิลปะ ถึงคุณจะมีไอเดียที่สร้างสรรค์สุดยอด แต่หากคุณไม่สามารถทำให้คนอื่นตื่นเต้นกับมันได้ งานนวัตกรรมของคุณก็ไร้ค่า

นี่คือ หลักคิดของสตีฟ จ็อบส์ ที่นำมาใช้กับการทำงานและการดำเนินชีวิตควบคู่กันอย่างได้ผลจนเป็นที่รู้จักทั่วโลก

ไมเคิล แองเจโล ได้เคยพูดไว้ว่า "อันตรายใหญ่หลวงของพวกเราไม่ใช่การใฝ่สูงแล้วไปไม่ถึง แต่คือการไม่ใฝ่สูงแล้วก็เป็นได้แค่นั้น" ไมเคิล แองเจโล และสตีฟ จ็อบส์ มองเห็นในสิ่งที่คนอื่นไม่สามารถมองเห็น ไมเคิล แองเจโล มองก้อนหินอ่อนแล้วเห็นเดวิด (ประติมากรรมหินอ่อนชื่อกระฉ่อนโลก) สตีฟ จ็อบส์ มองเห็นคอมพิวเตอร์แล้วมองเห็นเครื่องมือปลดปล่อยศักยภาพที่มีในตัวเรา

แล้วคุณล่ะ เห็นศักยภาพอะไรในตัวบ้าง ลองจินตนาการดูว่าคุณทำธุรกิจอะไรได้บ้าง จินตนาการว่าคุณสามารถก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้มากน้อยแค่ไหน ลองหาคำตอบดู

สักวันคุณอาจประสบความสำเร็จในธุรกิจเหมือนอย่างที่สตีฟ จ็อบส์ ทำสำเร็จมาแล้ว

จงรีบลงมือค้นหาตัวเองเดี๋ยวนี้
Read more ...

ความคิดเห็นล่าสุด

Recent Comments Widget