อำมาตยาธิปไตย

18 ต.ค. 2552
"เนื่องจากการบริหารราชการแผ่นดิน (บริหารรัฐกิจ) สมัยใหม่นั้นดำรงอยู่อย่างเอื้อประโยชน์กับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมเศรษฐกิจให้เป็นสังคมเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมมากกว่าการเอื้อประโยชน์ต่อประชาธิปไตย และการบริหารรัฐกิจสมัยใหม่นั้นสามารถจะนำไปใช้ในการกดขี่ประชาชนได้เท่าๆกับการรับใช้ประชาชน เราจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจว่าจะสามารถจัดองค์กรของสถาบันต่างๆของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในฐานะที่เป็นตัวแทนของประชาชน (representative government) ให้มีประสิทธิภาพและนำมาใช้ในการบังคับให้ระบบราชการสามารถรับผิด (impose accountability) ได้อย่างไร สถาบันต่างๆที่หมายถึงนี้ได้แก่ รัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง การเลือกตั้งจากประชาชน พรรคการเมือง หัวหน้ารัฐบาลที่มีความรับผิดชอบ และระบบการปกครองด้วยระบบกฏหมายที่ส่งเสริมความยุติธรรมและป้องกันการลุแก่อำนาจของพวกพ้องและผู้ปกครอง (rule of law) ดังนั้น สำหรับนักศึกษาวิชารัฐประศาสนศาสตร์/บริหารรัฐกิจทั้งหลาย ความรู้ว่าด้วยเรื่องสิ่งที่จำเป็นในการนำมาซึ่งการควบคุมระบบราชการด้วยวิถีทางประชาธิปไตยนั้น จึงมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่า ความเข้าใจในพลวัตและการบริหารจัดการที่เกิดขึ้นภายในสถาบันต่างๆของระบบราชการเอง"

Fred W. Riggs. (1997) (1)

ไม่น่าเชื่อว่า ปู่ริกส์ เจ้าของตัวแบบ "อำมาตยาธิปไตย" (Bureaucratic Polity) จะยังโชว์ลีลาเก๋าเกมส์ ในบทความเมื่อปี 1997 ซึ่งนับเป็นเวลา 31 ปี หลังจากหนังสือของปู่ริกส์ที่ชื่อ Thailand: The Modernization of a Bureaucratic Polity ออกวางจำหน่าย (2)

ตัวแบบของริกส์ที่ชื่อว่า อำมาตยาธิปไตย (Bureaucratic Polity) ถือเป็นตัวแบบการอธิบายการเมืองของไทย สมัยใหม่ที่ทรงพลังในหมู่นักรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์/บริหารรัฐกิจในยุคก่อน พ.ศ. 2516 เป็นอย่างมาก หรือก่อนจะเกิดการลุกฮือของประชาชนในการโค่นล้มรัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจรนั่นเอง

กล่าวโดยสรุป อำมาตยาธิปไตย หมายถึงสภาวะของสังคมการเมืองที่ผู้นำในระบบราชการนั้นสามารถครอบงำระบบการเมืองได้ โดยมีรูปธรรมก็คือการที่ข้าราชการทั้งทหารและพลเรือนนั้นเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มข้าราชการระดับบนที่มาจากคนทั่วไป (เหล่าอำมาตย์) ซึ่งทำการโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ดังจะเห็นได้จากภูมิหลังของผู้ที่ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี และในหน่วยงานสำคัญในด้านการพัฒนา ซึ่งมักเป็นข้าราชการทหารและพลเรือน รวมไปถึงการที่ระบบการเลือกตั้งและพรรคการเมืองไม่มีเสถียรภาพในช่วงแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งทำให้การควบคุมระบบราชการโดยประชาชนไม่มีประสิทธิภาพ (3)

ริกส์ยกตัวอย่างระบบการปกครองโดยระบบราชการไว้อย่างน่าสนใจนอกเหนือไปจากการวิเคราะห์การเมืองระดับชาติ โดยอธิบายระบบการรับผิด (accountability) ในการปกครองท้องถิ่น (4) ออกเป็นสามระบบ ระบบแรกเรียกว่าการควบคุมด้วยระบอบประชาธิปไตย (democratic control) โดยประชาชนนั้นสามารถควบคุมข้าราชการผ่านพรรคการเมือง และผู้แทนที่เขาเลือกตั้ง ระบบที่สองเรียกว่า การควบคุมด้วยพรรค (party tutelage) ซึ่งหมายถึงระบอบคอมมิวนิสต์ที่ พรรคในนามของประชาชนจะเป็นผู้ควบคุมประชาชนและผู้ที่พรรคเลือกเข้าไป เพื่อควบคุมข้าราชการ

ระบบสุดท้ายเรียกว่าการปกครองด้วยระบบราชการ (bureaucratic tutelage) ซึ่งหมายถึงการที่ข้าราชการบางคนสามารถควบคุมผู้แทนและพรรคการเมือง และในที่สุดก็จะควบคุมประชาชนได้ ซึ่งริกส์กล่าวว่า แทนที่ข้าราชการนั้นจะถูกควบคุมโดยตัวแทนจากประชาชนผ่านการเลือกตั้ง ระบบการปกครอง/ควบคุมในแบบนี้กลับยกเอาคุณภาพของข้าราชการในด้านความเป็นซุปเปอร์แมนในแง่ของการเห็นอกเห็นใจและทำเพื่อผู้อื่น และประกาศตนว่าไม่ต้องการทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ริกส์เชื่อว่าการที่ข้าราชการจะพยายามกระทำตนเช่นนี้เพื่อลดอำนาจของตนเองลงนั้นเป็นเสมือน "การฆ่าตัวตายทางการเมือง" ซึ่งไม่น่าจะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ดังนั้นสิ่งที่มีทางจะเกิดขึ้นได้มากกว่าก็คือการยกเลิกระบบเลือกตั้งในฐานะที่เป็นภัยคุกคามของระบบการควบคุมตนเองของระบบราชการ หรือใช้อิทธิพลทำให้ระบบการเลือกตั้งไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาจทำให้ระบบการเลือกตั้งตกอยู่ภายใต้ระบบราชการ เพราะพวกอำมาตย์เหล่านั้นพบว่าพรรคการเมืองและระบบเลือกตั้งนั้นสามารถที่จะเป็นสถาบันในการควบคุมประชาชนได้เช่นกัน (5)

ตัวแบบอำมาตยาธิปไตยนั้นทรงอิทธิพลต่อการวิเคราะห์การเมืองไทยของนักรัฐศาสตร์เป็นอย่างมาก เห็นได้จากเมื่อพลเอกเปรมก้าวขึ้นสู่อำนาจ การเรียกขานระบอบการเมืองของพลเอกเปรมว่า "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" ในความหมายที่ว่า ข้าราชการประจำมีอำนาจในระบบการเมืองควบคู่ไปกับการมีสถาบันการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง ก็ล้วนแต่เป็นการอ้างอิงถึงพลังในการอธิบายของตัวแบบอำมาตยาธิปไตยทั้งสิ้น (6) ภายใต้นัยยะว่า เหตุการณ์เดือนตุลาได้โค่นล้มอำมาตยาธิปไตยลงไป แต่อำมาตยาธิปไตยก็กลับเข้ามาอีกในรูปแบบที่ประนีประนอมมากขึ้นระหว่างพลังระบบราชการ กับพลังประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญและสร้างความสับสนในการใช้ตัวแบบเรื่องอำมาตยาธิปไตยมาอธิบายการเมืองไทยนั้นอยู่ตรงที่ นักรัฐศาสตร์จำนวนมากหมกมุ่นกับความพยายามในการนำตัวแบบดังกล่าวมาอธิบายสถานการณ์รายวัน ว่าตกลงข้าราชการยังมีบทบาททางการเมืองหรือไม่ แล้วมีพลังอะไรที่จะมาคัดง้างพลังของระบบราชการได้บ้าง (7)

โดยที่ลืมไปว่าจุดมุ่งหมายสำคัญของริกส์ผู้ให้กำเนิดตัวแบบดังกล่าวนั้น อยู่ตรงที่ความห่วงใยของริกส์ต่อลักษณะอันโดดเด่นของระบบราชการภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และภายใต้การก่อตัวของระบอบประชาธิปไตยซึ่งยังไม่ได้ลงหลักปักฐานอย่างจริงจัง

หมายถึงว่า หัวใจสำคัญของอำมาตยาธิปไตยนั้น ไม่ใช่แค่เรื่องการปกครองโดยเหล่าข้าราชการระดับสูง (อำมาตย์) แต่อยู่ตรงที่ว่าจะทำอย่างไรให้ระบบราชการนั้นสามารถ "รับผิด" (accountability) ต่อประชาชนและระบอบประชาธิปไตยในภาระหน้าที่ที่ตน "รับผิดชอบ"ได้ต่างหาก (8)

ดังนั้นประเด็นที่สำคัญในเรื่องของการปฏิรูประบบราชการในแง่ของ "การให้คำปรึกษา" ในแง่การจัดองค์กรของระบบราชการ หรือจัดหลักสูตรสอนข้าราชการในแง่ของเทคนิคการบริหาร ดังที่พูดกันอยู่และกระทำกันเป็นอุตสาหกรรม

แต่ต้องหมายถึงจะทำให้ระบบราชการนั้นถูกควบคุมโดยพลังประชาธิปไตยและระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร

เพราะระบบราชการนั้น จะในยุคไหนๆก็ตามไม่ได้เป็นองค์กรที่มีความเป็นประชาธิปไตยในตัวของมันเอง

หากแต่เป็นองค์กรที่มีหน้าที่ทำงานบางอย่างให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้แล้ว (9) และเป็นองค์กรที่จะต้องถูกควบคุมจากพลังจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์เหมือนในสมัยอดีต หรือ สถาบันการเมืองในระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบัน

เมื่อพิจารณากำเนิดของระบบราชการสมัยใหม่นั้น พบว่าระบบราชการนั้นเกี่ยวพันกับการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก และมีส่วนสำคัญเพราะระบบราชการเป็นเครื่องมือของระบอบการเมืองและรัฐ (10) ในการขยายภารกิจและดึงการสนับสนุนจากประชาชน ดังจะเห็นจากการเติบโตของระบบราชการในประเทศไทยในยุคการปฏิรูปประเทศ และในยุคการพัฒนา ในขณะที่ระบอบการเมืองและรัฐนั้นก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจและอิทธิพลของระบบราชการเช่นกัน ดังที่ตัวแบบอำมาตยาธิปไตยได้นำเสนอเอาไว้

ในปัจจุบันเรามักมองแต่เรื่องการแต่งตั้งเครือข่ายของนักการเมืองในระบบราชการในด้านหนึ่ง หรือเชื่อผู้นำทางการเมืองประชานิยมว่าระบบราชการนั้นปรับตัวไม่ทันต่อนโยบายประชานิยมในอีกด้านหนึ่ง

จนเราลืมมองไปว่า การเมืองประชานิยมนั้นเกิดพร้อมกับการแปรสภาพทุนนิยมของไทยไปสู่ระบบใหม่ในการเกี่ยวข้องกับโลกและภูมิภาค ดังนั้นระบบราชการจึงเผชิญปัญหาใหญ่ของการปรับภารกิจ ทั้งการต้องให้บริการประชาชนมากขึ้น

และจากการต้องดำเนินนโยบายใหม่ๆต่อผู้นำทางการเมือง ซึ่งเป็นประเด็นในระดับโครงสร้าง ที่ใหญ่กว่าการอ้างถึงการทุจริตคอรัปชั่นของนักการเมือง หรือการพูดถึงผลประโยชน์ทับซ้อน (หมายถึงว่าระบบราชการตกอยู่ภายใต้แรงกดดันในเรื่องการปรับเปลี่ยนภารกิจทั้งต่อประชาชน และต่อระบบเศรษฐกิจในระดับโลกอยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามที่มากำหนดพวกเขา)

แต่เราจะกลับไปยืนในจุดที่ให้คนในระบบราชการหรืออดีตคนในระบบราชการมีอำนาจโดยไม่ต้องรับผิดต่อประชาชนเหมือนในอดีตอีกหรือไม่? เพราะจากอดีตที่ผ่านมานั้น ระบบราชการมักไม่ชอบรับผิดต่อประชาชนแล้วยังมักเป็นมิตรกับทุนบางกลุ่มอีกต่างหาก ... (11)

สรุปว่าจะรู้ทันประชานิยม รู้ทันทักษิณ แล้วต้องรู้ทันอำมาตยาธิปไตยด้วยครับผม

... หรือจะพูดอีกอย่างว่า ระหว่าง “ริกส์-คนมหากาฬ” กับ “ซุปเปอร์แมนรีเทิรน์” นั้น

ผมชอบดู “ริกส์-คนมหากาฬมากกว่า” ครับ : ) (12)

เชิงอรรถขยายความ

(1) Fred W. Riggs. 1997. Modernity and Bureaucracy. Public Administration Review. 57(4): 347-353. หน้า 349

(2) Fred W. Riggs. 1966. Thailand: The Modernization of a Bureaucratic Polity. Honolulu, Hawaii: East-West Center Press. งานของริกส์นั้นมาจากการวิจัยภาคสนามในประเทศไทย ในช่วง ค.ศ. 1957-8 ในฐานะส่วนหนึ่งของการศึกษาระบบการบริหารราชการแผ่นดินเปรียบเทียบในประเทศกำลังพัฒนา ส่วนงานของริกส์ที่เก่ากว่านั้นดูที่ Fred W. Riggs. 1964. Administration in Developing Countries: The Theory of Prismatic Society. Boston: Houghton-Mifflin.

Riggs นั้นเป็นหนึ่งในคณาจารย์ของ Indiana University ที่เข้ามามีบทบาทในการวางรากฐานในเรื่องของการรัฐประศาสนศาสตร์ (บริหารรัฐกิจ) และการบริหารการพัฒนา ทั้งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการก่อตั้งสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ สำหรับการศึกษาแนวคิดในเรื่องของการบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบในรายละเอียด ดูที่ ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. 2532. การบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบ: บทสำรวจพรมแดนแห่งความรู้แนววิพากษ์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

(3) Fred W. Riggs. 1966. Thailand: The Modernization of a Bureaucratic Polity. Honolulu, Hawaii: East-West Center Press. บทที่ 10: The Bureaucratic Polity as a Working System. หน้า -311-366. และบทสรุป หน้า 379

(4) ผมแปลคำว่า accountability ว่าการรับผิด ตามบทความของ อาจารย์ เกษียร เตชะพีระ. " ใน เกษียร เตชะพีระ. “เอวังธิปไตย”. มติชนรายวัน. 14 ก.ค. 2549. หน้า 6.

(5) Fred W. Riggs. 1966. Thailand: The Modernization of a Bureaucratic Polity. Honolulu, Hawaii: East-West Center Press. หน้า 181-182 ตัวอย่างที่ริกส์ยกมาก็คือระบบสุขาภิบาล (ก่อนจะมีระบบองค์การบริหารส่วนตำบล) ซึ่งนายอำเภอเป็นประธานสุขาภิบาลโดยตำแหน่งนั่นเอง

(6) ตัวอย่างเช่น ลิขิต ธีรเวคิน. 2533 (1978). บทบาทของข้าราชการในการเมืองไทย. ใน การเมืองการปกครองของไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. หน้า 188-199. ลิขิต ธีรเวคิน. 2533. วิวัฒนาการการเมืองการปกครองไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. และ สุจิต บุญบงการ. 2531. การพัฒนาทางการเมืองของไทย: ปฏิสัมพันธ์ระหว่างทหาร สถาบันทางการเมือง และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

(7) ดูคำอภิปรายในรายละเอียดที่ James Ockey. 2004. State, Bureacracy and Polity in Modern Thai Politics. Journal of Contemporary Asia. 34(2). หน้า 143-162. และดูตัวอย่างได้จากงานของ เอนก เหล่าธรรมทัศน์. (Anek Laothamatas. 1992. Business Associations and the New Political Economy of Thailand: From Bureaucratic Polity to Liberal Corporatism. Boulder: Westview Press.)

(8) นั่นหมายความว่า สิ่งที่ริกส์ห่วงใยนั้นคือจะทำอย่างไรที่เราจะควบคุม ติดตาม ตรวจสอบ และ “ต่อรอง” กับระบบราชการได้ และทำได้อย่างเป็นระบบสืบเนื่อง (ที่เรียกว่าเป็นสถาบัน –institutionalized) ขณะที่ปรากฏการณ์ทางการเมืองนับตั้งแต่ 14 ตุลา เป็นต้นมานั้น เราอาจพบว่าเราสามารถ “ปะทะ” และ “โค่นล้ม” การครอบงำทางการเมืองของระบบราชการได้จากเหตุการณ์การลุกฮือและนองเลือดในหลายๆครั้ง แต่เราก็ยังไม่สามารถสถาปนาสถาบัน(หมายรวถึงแบบแผน พฤติกรรม) ต่างๆที่จะสามารถจัดระบบความสัมพันธ์ระหว่างระบบราชการกับพลังประชาธิปไตยได้อย่างยั่งยืนแต่อย่างใด

หมายความว่าถ้าเราพูดถึงพลังภายนอกที่สามารถปะทะกับระบบราชการนั้น เราอาจจะเห็นพลังประชาชน กลุ่มผลประโยชน์ หรือนายทุน แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเราพูดถึงการควบคุมระบบราชการในเชิงสถาบันเพื่อส่งเสริมให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยดำเนินไปได้ เราอาจจะยังไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่

ประเด็นของผมจึงไม่ได้อยู่ที่การวิพากษ์วิจารณ์ว่า Bureaucratic Polity นั้นเป็นตัวแบบที่ได้รับอิทธิพลของ Structural-Functional Approach ซึ่งอธิบายได้แต่การดำรงอยู่ของระบบการเมือง แต่อธิบายการเปลี่ยนแปลงของระบบการเมืองไม่ได้(มากไปกว่า การบอกว่าระบบการเมืองนั้นไม่สามารถทำหน้าที่ของมันได้) ซึ่งเป็น “คำวิจารณ์มาตรฐาน” ของนักวิชาการสำนัก Neo Marxism ในอดีต (ดู Kevin Hewinson. 1989.Bankers and Bureaucrats: Capital and the Role of the State in Thailand. Yale University Southeast Asia Studies Monograph Series 34. New Heaven, CT: Yale Center for International and Area Studies. หน้า 7-13 และ Chairat Charoensin-o-larn. 1985. Understanding Postwar Reformism in Thailand: A Reinterpretation of Rural Development. Ph.D. Dissertation. University of Hawaii. หน้า 32 และ 112-116 งานของไชยรัตน์นั้นเชื่อว่าปัญหาของวิธีคิดในงานของริกส์ ที่เชื่อในเรื่องการบริหารการพัฒนา (development administration) การพัฒนาสังคมและการเมือง (political development) ความเชื่อในการเมืองแบบเสรีนิยมแบบอเมริกันชนของสาขารัฐศาสตร์ (pluralist tradition in American political science) ที่เชื่อในการที่กลุ่มผลปะรโยชน์อื่นๆสามารถคัดง้างกับระบบราชการและทำให้ระบบราชการรับผิดได้ และความเชื่อในเรื่องการเมืองในฐานะการต่อสู้กันของกลุ่มของประโยชน์อันมีรากฐานมาจากการปกป้องผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคล (methodological individualism) มากกว่าการเข้าใจว่านโยบายสาธารณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของ “ภาพใหญ่” ในระดับโครงสร้างของสังคมเศรษฐกิจ (totality) นั้นส่งผลสำคัญให้แนวคิดของริกส์ถูกนำไปใช้สนับสนุนความเข้มแข็งของระบบราชการในการบริหารการพัฒนา มากกว่าการเข้าใจโครงสร้างการสถาปนาสังคมทุนนิยมหลังสงครามโลกในสังคมไทยที่กว้างขวางและลึกซึ้งไปกว่าการเข้าใจว่ากลุ่มผลประโยชน์ใดนั้นอ่อนแอและเข้มแข็งเพียงพอในการต่อสู้กับระบบราชการได้บ้าง

เมื่อเวลาผ่านไป ผมกลับเห็นเราอาจจะต้องกลับมาทำความเข้าใจเสียใหม่กับสิ่งที่ริกส์ “ห่วงใย” มากกว่าสิ่งที่ริกส์ “อธิบาย” ในแง่ของการพยายามทำอย่างไรให้ระบบราชการนั้นสามารถรับผิดได้ และอยู่ภายใต้การกำกับของ “พลังประชาธิปไตย” ซึ่งงานของ Neo Marxism นั้นไม่ได้สนใจปัญหานี้อย่างจริงจัง แต่กลับวิพากษ์งานของริกส์ในลักษณะของการแขวนป้ายทางอุดมการณ์เสียมากกว่า ซึ่งประเด้นที่ท้าทายในงานของริกส์นั้นก็ยังทรงพลังอยู่ดี ในแง่ที่ว่าเราจะทำอย่างไรให้ระบบราชการสามารถจะถูกควบคุมโดยพลังประชาธิปไตย ซึ่งในความเข้าใจใหม่นี้ พลังประชาธิปไตยอาจจะมีความกว้างขวาง ลึกซึ้งกว่าความเข้าใจในแบบเดิม ที่หมายถึงกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ (ดู Chai-anan Samudavanija and David Morell. 1981. Political Conflict in Thailand: Reform, Reaction, Revolution. Cambridge, Mass.: Oelgeschlager, Gunn & Hain และ Anek 1992) หรือชนชั้น มาสู่ขบวนการทางสังคม และความหลากหลายทางสังคม ที่เป็นประเด็นในระดับโครงสร้างที่ลุกซึ้งกว่าการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์เฉพาะหน้าของกลุ่มตน เพราะประเด้นเรื่องการรับผิดของระบบราชการนั้นเป็นเรื่องใหญ่เสมอ (Lenin (1917) เองยังถึงกับต้องอุทิศพื้นที่จำนวนมากในงาน State and Revolution ในการพูดถึงระยะเปลี่ยนผ่านและการทำให้ระบบราชการนั้นถูกแปรสภาพจากสังคมทุนนิยมเพื่อเข้าสู่คอมมิวนิสต์ ก่อนที่รัฐจะสลายตัวไป (บทที่ห้า The Economic Basis of the Withering Away of the State ในhttp://www.marxists.org/archive/lenin/works/1917/staterev/index.htm)

สรุปว่าข้อห่วงใยในแบบเสรีนิยมของริกส์นั้นยังคงเป็นประเด็นที่น่าสนใจอยู่มิใช่น้อย โดยเฉพาะเมื่อเราสนใจการตั้งคำถามในเรื่องของการต่อรองและสถาปนา แบบแผน พฤติกรรม สถาบัน และโครงสร้างความสัมพันธ์ที่จะควบคุมระบบราชการให้อยู่ในมือของประชาชนนั่นแหละครับ

(9) Max Weber ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องของกำเนิดของระบบราชการกับรัฐและระบบสังคมเศรษฐกิจสมัยใหม่ ซึ่งควบคู่ไปกับระบบเหตุผลสมัยใหม่ที่เน้นการบรรลุเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ ดูประเด็นดังกล่าวใน Max Weber (1921/1946). Politics as a Vocation. (http://www2.pfeiffer.edu/~lridener/DSS/Weber/polvoc.html ) และ Bureaucracy (http://www2.pfeiffer.edu/~lridener/DSS/Weber/BUREAU.HTML)

(10) การแบ่งแยกระบบราชการออกจาก รัฐ และ ระบอบการเมืองนั้น ได้อิทธิพลจากแนวคิดของ Kevin Hewison (1993) ในงานของเขาที่ชื่อว่า Of Regimes, State and Pluralities: Thai Politics Enters the 1990s. in Kevin Hewison, Rechard Robinson, and Gary Rodan. 1993. eds. Southeast Asia in the 1990s: Authoritarianism, Democracy and Capitalism. NSW: Allen & Unwin.

Hewison ได้รับอิทธิพลจากงานของ James Petras. (1989) ในการแบ่งแยกรัฐบาล รัฐ และระบอบการเมืองออกจากกัน และในการอธิบายโครงสร้างและสถาบันทางการเมืองดังกล่าวกับพัฒนาการของทุนนิยม รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างกันของ รัฐบาล รัฐ และระบอบการเมือง ในลาตินอเมริกาโปรดดูเพิ่มเติมจาก James Petras. 1989. State, Regime and the Democratization Muddle. Journal of Contemporary Asia. 19(1): 26-32.

(11) ถ้าอยากเห็นตัวอย่างด้วยตัวท่านเอง มากกว่าที่นักวิชาการเขาวิเคราะห์กัน ก็รบกวนไปเปิดหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ หน้าธุรกิจเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2549 ดูแล้วจะพบภาพข่าวภาพหนึ่งที่น่าสนใจครับผม

อนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มทุนกับเหล่าอำมาตย์นั้นจะเปลี่ยนไปในรูปแบบใด จะแตกต่างจากข้อเสนอของริกส์(pariah entrepreneurship) ที่มองว่าข้าราชการสามารถหาประโยชน์จากธุรกิจโดยการดำเนินการเองและมีอำนาจเหนือกว่ากลุ่มนักธุรกิจในแง่การอนุมัติ เป็นเรื่องที่ยังต้องแสวงหาคำตอบกันต่อไป

(12) อนึ่ง บทความชิ้นนี้มิได้พิจารณา งานเขียนในส่วนหลังของบทความของริกส์ในปี 1997 ในส่วนของ(เชื้อ)ชาตินิยม กับความเป็นตัวแทนของระบบราชการต่อความหลากหลายทางเชื้อชาติวัฒนธรรม ซึ่งไม่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับประเด็นที่กล่าวถึงในบทความชิ้นนี้ของผมครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นล่าสุด

Recent Comments Widget