สินค้าไทยชนะ สินค้าจีนแน่แล้ว

11 ต.ค. 2552
ในขณะนี้ผู้บริหารประเทศต่างๆ กังวลเกี่ยวกับการยึดครองโลกของสินค้าจีน เรามักจะได้ยินคนพูดกันบ่อยว่า "ไม่ว่าคนในโลกนี้จะใส่เสื้อยี่ห้อใดก็ตาม จีนต้องมีเอี่ยวในเสื้อตัวนั้นเสมอ" นี่เป็นความจริงที่ทุกคนยากจะปฏิเสธได้ แต่ขณะเดียวกันถ้าเราไปถามคนจีนถึงความภูมิใจในการได้ใช้สินค้าจีน โดยเฉพาะแบรนด์ของจีนแล้ว เราจะพบว่าความภูมิใจไม่สูงมากนัก

คำถามที่เราจะต้องตอบตัวเองแล้วว่า ทำไมคนนอกบ้านถึงชื่นชมกับของในบ้านเรา ผมเคยสัมภาษณ์คนทำบะหมี่ขายที่กรุงปักกิ่ง ถึงความสำเร็จของเขาที่มีคนจีน และนักท่องเที่ยวเข้าไปนั่งกินบะหมี่ในร้านของเขาแน่นเกือบทุกวัน

แต่ที่น่าตกใจก็คือ เจ้าของเป็นฝรั่งจากแคลิฟอร์เนียที่ไม่เคยมีความรู้ในธุรกิจร้านอาหารเลย เพียงแต่ว่ามีหัวการค้าในรูปแบบที่ทันสมัย จึงทำให้เขาออกแบบร้านที่มีรูปลักษณ์ที่ทันสมัย ทั้งๆ ที่บะหมี่เป็นของที่ตกทอดมาแต่โบราณ

วิธีการเช่นว่านี้ MK ของเราก็เอาชนะคู่แข่งมาแล้ว จนในปัจจุบันยังไม่มีคู่แข่ง หรือผู้ท้าชิงคนใดเลยที่จะจับเอาหัวใจ หรือจิตวิญญาณของการแข่งขันของ MK หรือร้านบะหมี่ดังกว่านี้เลย
ผมลองสมมติว่าถ้าร้านบะหมี่ดังในฮ่องกง หรือจากไทยไปจะสู้กับร้านบะหมี่ที่ขายดิบขายดีของฝรั่งในกรุงปักกิ่งได้อย่างไร ผมค่อนข้างมั่นใจว่า ร้านบะหมี่ของเราเหนือกว่าของเขาค่อนข้างมากในด้านรสชาติ และราคาถูกมาก (วิธีคิดที่ว่าราคาถูกกว่า หรือจ้องแต่จะแข่งด้วยราคาเป็นปัจจัยหลักแล้วย่อมนำไปสู่การแข่งขันที่ไม่มีวันชนะ หรืออาจจะถึงกับกอดคอกันตายหมู่)

แต่จะแพ้เขาในหลายด้านถ้าเราไม่มีการวิเคราะห์ให้จริงจังว่า "อันการสงครามนั้นหากรู้เขารู้เรารบร้อยครั้งก็ชนะร้อยครา" อาทิ ภาชนะที่ใช้ วิธีจัดโต๊ะให้รู้สึกว่าน่านั่งโปร่งโล่ง ถูกอนามัย การบริการตั้งแต่จดรายการอาหาร ไปจนถึงการนำอาหารมาส่งลูกค้าที่มักใจจดใจจ่อจะเอาเร็ว หากเราทำอาหารขายที่ต้องการความรวดเร็ว แล้วแม่ครัวเรามัวแต่ประดิดประดอยก็ทำให้ลูกค้าโมโหหิวได้อย่างง่ายๆ คนเราเข้าร้านอาหารสิ่งแรกก็คือ ความอร่อยที่คงเส้นคงวา (ไม่ใช่ไปขอป้ายชวนชิมด้วยเงินเป็นแสน แล้วจะเป็นยันต์ศักดิ์สิทธิ์ได้)

ต่อมาก็คือความรวดเร็วในการบริการ และถ้าตั้งใจสักนิด ก็คือเก็บรายละเอียดต่างๆ ที่จะทำให้ลูกค้ามั่นใจว่าอาหารเราสะอาด หากเป็นครัวเปิดก็จะช่วยได้มาก ดังที่อาหารซีฟู้ด ในซอยสุขุมวิท 24 ที่โด่งดังไปทั่วโลก ทั้งๆ ราคาค่อนข้างสูง (เขาไม่ได้แข่งด้วยราคา)

ถ้าร้านอาหารฝีมือดีของไทยไปบุกจีน หรือบุกตลาดโลกเราคงต้องลงรายละเอียดค่อนข้างมากทีเดียว จนถึงบัดนี้ ผมมั่นใจว่าเจ้าของ หรือคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเป็นเถ้าแก่ใหม่ที่สามารถต่อกรกับนักธุรกิจรุ่นเดอะที่มากด้วยอำนาจทางการเงินและพรรคพวก ย่อมต้องถามตัวเองว่า ที่จะเข้ามาในสนามรบนี้ด้วยจิตวิญญาณที่แรงกล้าของตนเอง (ไม่ใช่เพราะหลวงให้เงินเลยขอลองดู) สมองและแรงกายที่ประสานเป็นหนึ่งเดียวหรือไม่

อย่าหาญกล้าเข้ามาเพราะคนอื่นเขาทำแล้วได้เงิน หรือเขาบอกว่าดี หรืออย่างลองแบบหมูไม่กลัวน้ำร้อน หรือเขามาเพราะสามารถขโมยสูตรเขาได้ หรือด้วยเหตุใดก็แล้วแต่ที่ไม่ใช่เหตุ และปัจจัยแห่งการแข่งขัน หรือปัจจัยในการสร้างความเป็นเศรษฐีที่เป็นสัจธรรม (ไม่ใช่สัจนิยมนะครับ) คือ

1) ความขยันเหนือคนอื่นเขาในการทำมาหากิน อย่าสนใจว่ากฎหมายแรงงาน กำหนดค่าแรงขั้นต่ำเท่าใด (เราต้องหาขั้นสูง ไม่ใช่ขั้นต่ำ)

2) เก็บออมเงินทองที่หามาได้ให้ดี คือ หากทำธุรกิจใดก็ตามอย่างพยายามสร้างหนี้สินในอัตราส่วนที่สูงกว่าทุนที่มีอยู่

3) คบหาพันธมิตรทางธุรกิจที่เป็นกัลยาณมิตร หรือมิตรแท้ ไม่ใช่หาแต่คนรวยมาเป็นหุ้นส่วน

4) ต้องใช้ชีวิตอย่างเหมาะสม และมีดุลยภาพ

เรากลับมาสู่ประเด็นที่ว่า สินค้าไทยชนะสินค้าจีนด้วยปรัชญา ยุทธศาสตร์ และวิธีการใดได้บ้าง จีนก็เหมือนประเทศไทยหรือประเทศใด ๆ ในโลกนี้ที่ไม่สามารถทำสินค้าให้สามารถแข่งขันได้ในทุกสินค้า หรือในทุกกลุ่มสินค้า ดังนั้นซุนหวู่จึงสอนไว้ว่า "จงมองหาจุดอ่อนในจุดแข็งของข้าศึก แล้วเข้าตีตรงจุดนั้น จะทำให้เราได้ชัยเป็นแม้นมั่น"

จุดแข็งของอุตสาหกรรมสิ่งทอของจีนอยู่ที่ไหน คำตอบที่เราได้ฟังมา จนชาชินแล้วก็คือ ค่าแรงราคาถูก และเขามีอุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ อย่างครบถ้วน ดังที่มีการศึกษาและอ่านเกมกันมาตลอด ตามวิธีการที่เรียกว่า SWOT Analysis (strengths, weaknesses, opportunities and threats) แต่เรามักจะหยุดอยู่เพียงแค่นั้น

คราวนี้เรามาดูจุดอ่อนในจุดแข็งของขุมกำลังของจีนในยุทธจักรเครื่องนุ่งห่ม และเสื้อผ้าของจีน เราจะมองเห็นว่าความแตกต่างในระดับคุณภาพของแรงงานยังมีอยู่มาก หากมองลงไปในตลาดที่ต้องการแรงงานฝีมือเฉพาะอย่างเรายังสู้ได้อยู่ การออกแบบเพื่อกำหนดทิศทางของแฟชั่นซึ่งเป็นส่วนที่มีการสร้างมูลค่าเพิ่มสูงสุดนั้น จีนก็ทำได้ไม่ดี และจะมีโอกาสเพลี่ยงพล้ำที่สูงทีเดียว เพราะผู้บริหารที่ยังหลงระเริงกับความสำเร็จในเชิงปริมาณ และความเชี่ยวชาญในกรอบการแข่งขันเดิมๆ ที่ตลาดส่วนใหญ่ของโลกที่มุ่งแข่งด้วยราคา

คำถามต่อมาว่า หากนักออกแบบของไทยร่วมมืออย่างแน่นแฟ้น กับนักธุรกิจไทยเพื่อทำการออกแบบไปสู้ในตลาดจีนจะชนะไหม ผมต้องสารภาพว่า ไม่มั่นใจ แต่ถ้าเราผนึกกำลังกับนักออกแบบของโลกจากอิตาลี และฝรั่งเศส เพื่อการเรียนรู้ซึ่งกันละกัน กล่าวคือ เราให้ความรู้เขาในเรื่องละเอียดอ่อนทางศิลปะ และจิตวิญญาณของตะวันออก (ไม่ใช่เฉพาะของไทย และไม่ใช่มองข้ามของไทยไปเลย แต่ต้องมีการทำความเข้าใจแล้วผสมสานให้เนียน) หากเป็นเช่นนี้ผมค่อนข้างจะมั่นใจว่าเราจะชนะอย่างยั่งยืน

ยุทธศาสตร์ของเราคือ การสู้ด้วยจิตวิญญาณตะวันออก และ DNA ที่ฝังลึกอยู่ในคนไทยที่สามารถเอาใจคนได้เก่งที่สุดในโลก ซึ่งจะเป็นปัจจัยการแข่งขันที่ยั่งยืน เมื่อผสมผสานกับความใจถึงของรัฐบาลในการทุ่มงบประมาณลงมาก็จะทำให้เราแข็งขึ้น

แต่ถ้าเราเอางบประมาณเป็นตัวตั้งแล้ว ก็พอเห็นผลลัพธ์แล้วว่าจะสำเร็จได้ยากยิ่ง เพราะผมยังไม่เคยเห็นบริษัทที่ยั่งยืนได้เพราะมีงบสนับสนุนมาก แต่ที่ยังยืนได้เพราะเขาสู้ด้วยความรู้ที่แท้จริงในการอ่านสภาพแวดล้อมการแข่งขัน อ่านใจลูกค้าได้แม่นยำ และอ่านใจคู่ต่อสู้ได้ดี

ที่มา : ธุรกิจไทยสู้โลก : เกียรติศักดิ์ จีรเธียรนาถ กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2548

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นล่าสุด

Recent Comments Widget