Outliers

22 ต.ค. 2552

Outliers : “คนจน” ก็รวยได้ ?

September 16, 2009

คือ สุดยอดหนังสือ How to ที่ช่วยเปิดโปงให้เห็นว่า เหตุใดคนที่ฉลาดเฉียบแหลมที่สุด จึงยังไม่ใช่ผู้ชนะตัวจริงของทุกสมรภูมิการแข่งขัน และหาก “ชัยชนะ” เป็นสิ่งหอมหวานยั่วยวนสำหรับคุณ ก็ต้องรู้จักเปิดหูเปิดตาเพื่อค้นหา “ปัจจัยซ่อนเร้น” ที่บางครั้งก็ธรรมดาสามัญมากๆ จนทุกคนมองข้ามไป และเมื่อสามารถเข้าไปยึดกุมปัจจัยทั้งหลายได้แล้ว “เทพีแห่งโชค” ย่อมยืนอยู่เคียงข้างคุณ
Malcolm Gladwell ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ คือ อัจฉริยะในการเล่าเรื่อง ที่ร้อยปียากพบพาน แต่น่าเสียดายที่ผู้เขียนเพียงแต่ชี้ให้เห็นถึง “ปัจจัย” มากมายที่มีผลต่อความสำเร็จ โดยไม่ได้บอกกล่าวถึง “วิธีการ” ในการครอบครองปัจจัยเหล่านั้น ซ้ำร้ายกว่านั้น ผู้เขียนยังมักจะโยนความผิดให้กับ “โชคชะตา” ที่ดลบันดาลให้คนบางคนได้รับปัจจัยเหล่านั้นมาโดยบังเอิญ
Outliers จึงเป็นเสมือน “สุดยอดคัมภีร์แห่งความสำเร็จ” เพียงครึ่งเล่ม ซึ่งเมื่ออ่านจบลงแล้ว บางคนอาจจะยิ่งท้อแท้หนักกว่าเดิม เพราะหลงเชื่อว่า “ปัจจัยชี้ขาด” ถูกกำหนดโดยโชคชะตาให้กับคนพิเศษเพียงบางคนเท่านั้น
เพื่อไม่ให้นิทานเรื่องนี้จบลงอย่างเศร้าสร้อยเกินไป จึงอยากนำเสนอ “Outliers ฉบับแฮปปี้เอนดิ้ง” ที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนไทยได้มองเห็นว่า “ความสำเร็จทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นได้ หากรู้จักวางกลยุทธ์”
1. คัดเลือก “สนามรบ” เพื่อฝึกฝนให้ครบ 10000 ชั่วโมง
Outliers ได้เผยให้เห็นว่า นักกีฬา นักดนตรี ที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าอาศัย “พรสวรรค์” เป็นใบเบิกทางนั้น แท้จริงแล้วเกิดจาก “โอกาส” ทั้งโดยบังเอิญและจงใจที่เอื้อให้ “พวกเขา” ได้รับ “สิทธิพิเศษ” ในการฝึกฝนจนครบ 10000 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำของผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน
แต่หากเราเกิดในช่วงปลายปีซึ่งทำให้ “เสียเปรียบ” ในการคัดเลือกตัวนักกีฬา และยังไม่มีโอกาสในการฝึกซ้อมดนตรีร่วมกันวันละ 8 ชั่วโมงในเมือง “ฮัมบูรก์” เหมือนวงดนตรี The Beatles เราควรจะทำอย่างไรกับชีวิตที่เต็มไปด้วยความเสียเปรียบเช่นนี้ ?
โชคดี ! ที่ฟ้าประทาน “โลกาภิวัตน์” ทำให้คนธรรมดามี “ทางเลือก” ในการแข่งขันได้มากมายเช่นนี้ คนที่เสียเปรียบในสนามแข่งขันอันหนึ่ง จึงสามารถเลือก “สนามอื่น” เพื่อฝึกฝนตนเองให้ครบ 10000 ชั่วโมง
กีฬาบางประเภทต้องเล่นเป็นทีม ดังนั้นจึงต้องพึ่งพาการคัดตัวของโรงเรียน เพื่อสร้างโอกาสในการฝึกฝนลับคมฝีมือ แต่ก็ยังมีกีฬาอีกมากมายที่สามารถฝึกฝนโดยใช้ความขยันหมั่นเพียรส่วนบุคคล เพื่อแซงหน้าเข้าสู่ทีมชาติในอนาคตได้
หากไม่มีโอกาสที่เอื้ออำนวยให้ฝึกซ้อม “วงดนตรี” อย่างเอาเป็นเอาตายเหมือน The Beatles แต่ยุคสมัยนี้ก็สามารถฝึกฝนเพียงลำพังเพื่อให้ครบ 10000 ชั่วโมง เพื่อเป็น “ศิลปินเดี่ยว” ได้ไม่ยากนัก
แน่นอนว่า Bill Gates คือ ผู้โชคดีที่ได้เกิดในช่วงปี 1952-1958 ทำให้เหมาะสมในการบุกเบิกตลาดคอมพิวเตอร์ซึ่งจะเติบโตยิ่งใหญ่ในอนาคต แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า คนที่เกิดในช่วงเวลาที่ไม่อยู่ในเกณฑ์นี้ จะไม่สามารถร่ำรวยมหาศาลได้โดยการสร้างตัวจากอุตสาหกรรมประเภทอื่นที่ตนเองมีความถนัดมากกว่า
สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า คือ การมองหา “งานที่รัก” เพื่อให้สามารถ “จดจ่อ” ตัวเองในการฝึกฝนฝีมือจนครบ 10000 ชั่วโมง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยหากตัวเราไม่มีความหลงใหลอย่างเพียงพอ
ตัวเลข 10000 ชั่วโมง ยังมีความหมายที่ลึกซึ้งว่า มนุษย์มีความจำกัดที่จะเชี่ยวชาญได้เพียงไม่กี่เรื่อง ดังนั้น ก่อนที่จะตัดสินใจที่จะเติบโตในอาชีพใด ก็ควรที่จะคำนวณทางหนีทีไล่ให้ดีเสียก่อน หากค้นพบว่า ยังขาดคุณสมบัติที่เหมาะสม ก็ควรจะถอนตัวออกมาจากกิจกรรมนั้น เพื่อรักษา “เวลา” สำหรับฝึกฝน 10000 ชั่วโมงที่ตัวเราสามารถเป็น “เจ้าสนาม” ได้อย่างแท้จริง
2. สร้างประโยชน์จาก “เครือข่ายรอบตัว”
Chris Langan มีไอคิว 195 ซึ่งเหนือกว่า “ไอนสไตน์” ที่มีไอคิว 150 แต่คนทั้งโลกกลับรู้จักและยกย่องความอัจฉริยะของไอนสไตน์ ในขณะที่แทบจะไม่มีใครเคยได้ยินชื่อของ Chris Langan หากเขาไม่ได้คัดเลือกมาเล่นเกมโชว์ที่โด่งดังของอเมริกา
Chris Langan โชคร้าย ! ที่เกิดมาในสภาพแวดล้อมแห่งความยากไร้และขาดแคลน เขาจึงไม่มีโอกาสได้ฝึกฝน “ศิลปะการเล่าเรื่อง (Story Telling)” ที่ทำให้ Oppenheimer นักฟิสิกส์อัจฉริยะรุ่นเดียวกับไอนสไตน์ รอดพ้นจากการถูกไล่ออกจากโรงเรียน และสามารถใช้ “วาทศิลป์” ในการโน้มน้าวให้ “ผู้มีอิทธิพล” ในโครงการสร้างระเบิดปรมาณูแห่งสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่งตั้งเขาเป็นหัวหน้าโครงการ ทั้งๆที่อาจจะมีนักฟิสิกส์คนอื่นที่เหมาะสมกว่าก็ตาม
“ไอคิว 150 ก็เพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงโลกแล้ว” ที่เหลือล้วนแต่เป็นทักษะประเภทอื่น เช่น ศิลปะการเล่าเรื่อง ซึ่งกลายเป็น “ปัจจัยตัดสิน” ที่โน้มน้าวใจให้ “เครือข่ายรอบตัว” สนับสนุนทรัพยากรให้ตัวเราใช้เป็นทุนรอนในการสร้างฝันให้เป็นจริง
หากว่า Chris Langan ได้รับรู้ “สัจธรรม” ที่ล้ำลึกนี้ ตั้งแต่สมัยเป็นนิสิตนักศึกษา โลกใบนี้ก็อาจมี “ไอนสไตน์” คนที่ 2 ก็เป็นได้
Bill Gates ไม่ใช่ยอดฝีมืออันดับ 1 ด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ แต่เขามี “ทักษะอื่นๆ” ที่จำเป็นในการสร้าง “ไมโครซอฟต์” ให้กลายเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และยังทำให้เขาเป็นเศรษฐีอันดับ 1 ของโลกติดต่อกันหลายปี
“ไมโครซอฟต์” ไม่ได้ผลิตซอฟต์แวร์ที่ดีที่สุดในโลก แต่เป็นซอฟต์แวร์ที่ทำเงินที่สุดในโลก
ไทเกอร์ วูดส์ ในสมัยที่ยังไม่ได้ขึ้นแท่นเป็น “นักกอล์ฟอันดับ 1 ของโลก” ก็ยังสามารถทำเงินได้มากกว่าคนที่มีอันดับสูงกว่า เนื่องเพราะ “วงสวิง” ที่สวยงามของไทเกอร์วูดส์ถูกใจผู้ชมมากกว่านักกอล์ฟอื่นใด
ไมค์ ไทสัน ในยามตกอับก็ยังสามารถได้รับ “ค่าตัว” ที่สูงกว่า “แชมป์โลก” บางคน เนื่องเพราะลีลาการชกที่ดุดันและชื่อเสียงในอดีตของเขานั้น ได้ติดตราตรึงใจแฟนมวยมิรู้ลืม
10000 ชั่วโมงแรก ต้องเลือกที่จะทุ่มเทให้ “ทักษะเฉพาะทาง” หากทว่า 10000 ชั่วโมงถัดจากนี้ จะต้องบริหารให้ดีระหว่าง “ทักษะเฉพาะทาง” หรือ “ทักษะสนับสนุน” เพื่อให้ตัวเราสามารถบรรลุความฝันในสนามแข่งขันที่ได้เลือกเฟ้นมาอย่างดีแล้ว
3. สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการทำงานเป็นทีม
The Beatles โชคดี ! ที่ได้ไปเล่นดนตรีในเมือง “ฮัมบูร์ก” จึงสามารถฝึกฝนทักษะการเล่นดนตรีร่วมกันจนครบ 10000 ชั่วโมง
แต่เบื้องหลังความสำเร็จในการปลุกปั้น “4 เต่าทอง” จนบรรลุพรสวรรค์ล้ำเลิศในการเล่นดนตรีร่วมกัน คือ ยอดชายเหนือชายที่ชื่อ Brian Epstein ซึ่งรับหน้าที่ “ผู้จัดการทีม” ตั้งแต่ The Beatles ยังเป็นวงดนตรีข้างถนนอยู่ในเมืองลิเวอร์พูล
ภายหลังการเสียชีวิตของ Brian Epstein ในปี 1967 ได้ทำให้ The Beatles เกิดความระส่ำระสายครั้งใหญ่ ทั้งในเชิงการบริหารจัดการเงินและความรู้ด้านธุรกิจ แต่สิ่งที่สำคัญกว่า คือ การเป็น “พี่เลี้ยง” ที่เปรียบเสมือนเพื่อนและพ่อของ Brian Epstein ที่คอยเป็น “กาวใจ” ประสานให้ 4 หนุ่มแห่งเมืองลิเวอร์พูลสามารถทำงานกันได้อย่างรื่นรมย์
แน่นอนว่า The Beatles ได้ผ่านชั่วโมงบินมาเกิน 10000 ชั่วโมงไปไกลโขแล้ว จึงสามารถใช้ทุนรอนทางดนตรีส่วนตัวในการผลิตผลงานยิ่งใหญ่ไปได้อีกหลายเพลา แต่ถึงที่สุด พรสวรรค์ทางดนตรีของแต่ละคนก็ไม่สามารถที่จะเจิดจ้าถึงที่สุดในฐานะThe Beatles ได้อีกต่อไป จึงต้องอำลาจากกันอย่างขมขื่นในปลายปี 1969
สายการบิน Korean Air ได้ชื่อว่าเป็นสายการบินที่ประสบอุบัติเหตุสูงสุดแห่งหนึ่งของโลก ทั้งๆที่ทักษะของนักบินไม่ได้ด้อยกว่าสายการบินอื่นๆเลย
Outliers ได้สรุปให้เห็นอย่างน่าเชื่อว่า “วัฒนธรรมอำนาจ” ได้ขัดขวางการทำงานเป็นทีมของเหล่านักบิน จึงทำให้ “ความสามารถเฉพาะตัว” ของแต่ละคนไม่สามารถแสดงศักยภาพได้ตามที่ควรจะเป็น
การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร เช่น การบังคับให้พนักงานทุกคนใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร ได้ทำให้ลดช่องว่างในการสื่อสารตามลำดับชั้นตามแบบวัฒนธรรมเกาหลี จึงทำให้ความเชี่ยวชาญของแต่ละคนสามารถทำงานประสานเสริมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อัจฉริยภาพที่เกิดจากการฝึกฝน 10000 ชั่วโมง จะไม่สามารถบรรลุศักยภาพสูงสุดได้ หากไม่ละเอียดอ่อนเพียงพอที่จะมองเห็น “สายใยเล็กๆ” ที่เชื่อมร้อย 10000 ชั่วโมงของเรา ให้สั่นพ้องกับ 10000 ชั่วโมงของ “ผู้อื่น” ในทีมงานเดียวกัน
โชคร้าย ! คือ ทีมงานที่ดีมีจำกัด และบางครั้งเราอาจเป็นนักบินที่ต้องสังเวยชีวิต ก่อนที่ Korean Air จะเรียนรู้วิธีแก้ไขปัญหาง่ายๆเช่นนี้ ดังนั้น วิธีที่ฉลาดกว่า คือ การย้ายจาก Korean Air ไปทำงานในสายการบินที่มีสถิติของอุบัติเหตุน้อยกว่านี้
จงใช้ 10000 ชั่วโมงแห่งความชำนาญ ในการเจรจาต่อรองเพื่อพาตัวเองเข้าไปสู่ทีมงานที่มี “สายใยเล็กๆ” ซึ่งแข็งแกร่งเหนียวแน่นที่สุด
4. จงเป็น Outliers ในสาขาที่ Outliers
โชคร้าย ! ที่ภาษาอังกฤษ ไม่เอื้ออำนวยในการฝึกฝนวิชาคณิตศาสตร์ จึงทำให้คนจีนมีความสามารถด้านคณิตศาสตร์เหนือล้ำกว่าคนตะวันตก
แต่ความโชคร้ายนี้ ก็ไม่ควรทำให้ “ใคร” ต้องท้อถอย เพราะจะเห็นว่า การประสบความสำเร็จในชีวิตนั้น ไม่ได้ตัดสินชี้ขาดที่ “คณิตศาสตร์”
แน่นอนว่า Bill Gates ยอดชายที่รวยที่สุดในโลกอาจจะมีทักษะทางคณิตศาสตร์ดีเยี่ยม แต่สิ่งที่ทำให้เขารวยที่สุดในโลก คือ การเป็น Outliers ในอุตสาหกรรมไอที ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ Outliers ในการเติบโตและทำเงินที่สุดในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา
ยิ่งกว่านั้น เนื้อหาที่นำเสนอในหนังสือ “Outliers” ยังถูกโจมตีจาก “ผู้รู้” ในหลายสาขาวิชาว่าอาจจะไม่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริงทั้งหมด
ดังนั้น คุณูปการของหนังสือเล่มนี้ จึงไม่ได้อยู่ที่ความถูกต้องของเนื้อหา แต่อยู่ที่ “วิธีคิด” ในการมองโลกด้วยสายตาที่ “แตกต่าง” เพื่อจะค้นหา “ปัจจัยเล็กๆ” ที่ถูกละเลยมองข้ามไป ซึ่งอาจจะกำหนดชะตากรรมความสำเร็จล้มเหลวของชีวิตคุณ
หน้าที่ในการมองหา “กลยุทธ์” เพื่อนำพาชีวิตเข้าสู่การเป็น Outliers ไม่ใช่หน้าที่ของหนังสือ “Outliers” แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ไม่ยอมจำนนต่อ “โชคชะตา” หากปรารถนาจะลิ้มรสอันหอมหวานในการยกระดับชีวิตธรรมดาที่แสนน่าเบื่อให้กลายเป็น Outliers ที่คนทั้งโลกต้องจับตามองอย่างชื่นชม
--------------------------------------------------------------------------------------
กันยายน 22, 2009  Craving for success?

ปกติเวลาเรากำลังคิดอะไรเครียดๆอยู่ เรามักจะมีหนังสือเล่มนึงเอาไว้อ่านเพื่อพักผ่อน ส่วนใหญ่จะเป็นนิยายสบายๆ แต่เดี๋ยวนี้เป็นอะไรก็ไม่รู้ อ่านนิยายไม่สนุกเลย แม้แต่เล่มที่น่าจะชอบมาก แต่เดี๋ยวนี้ก็ไม่ชอบแล้ว ตอนนี้ก็เลยใช้เล่มนี้เป็นเล่มพักผ่อน คุณ Gladwell เขาเขียนหนังสือสนุกใช้ได้เลย

ที่จริงเราว่าประเด็นของหนังสือเล่มนี้มันก็ไม่ได้โดดเด่น หรือแปลกแหวกแนวอะไร แต่วิธีการเล่าเรื่องของเขาสนุกดี นับว่าเป็นนักเขียนที่มีศิลปะในการเล่าเรื่องดีมากๆคนหนึ่งเลย, เคยเห็นไหม หนังสือสองเล่ม เล่าเรื่องเดียวกัน เล่มหนึ่งอ่านแล้วสนุก อิน อยากติดตามจนจบ หรือบางครั้งถึงขนาดทำให้อยากไปค้นคว้าหาประเด็นในเรื่องนั้นอ่านต่อไปอีก ในขณะที่อีกเล่มหนึ่ง อ่านไปสองสามแผ่นแล้วอยากเอาไปขว้างหัวหมาทันที เพราะเขียนได้น่าเบื่อเจียนตาย เรียกว่าเขียนหนังสือไม่เห็นใจคนอ่านเลยน่ะ (หนังสือปรัชญามีแบบนี้เยอะเลย โชคดีนะแถวนี้ไม่มีหมาเดินเพ่นพ่าน ฮ่าๆ) ซึ่งเราว่าคุณ Gladwell เขียนหนังสือได้สนุก ทำให้ประเด็นธรรมดาๆมันน่าสนใจขึ้นมาได้ (ในขณะที่ตัวเราเขียนได้น่าขว้างหัวหมา เริ่มรู้สึกสงสารคนอ่านบล็อกนี้แล้วสิ ฮ่าๆ)

ช่วงนี้ส่วนใหญ่อยู่คนเดียว ไม่ค่อยได้คุยกับใครเท่าไหร่ สมุดบันทึกก็เลยหมดไปอย่างรวดเร็ว เราว่าคนเราถ้าไม่ได้พูดและไม่ได้เขียนอะไรเลย คงรู้สึกแปลกมากๆเลยเนอะ เหมือนที่นักปรัชญาบางคนเค้าพูดเอาไว้ว่า คนที่เป็นทาสในสมัยก่อน กลับกลายเป็นคนที่มีความภูมิใจในตัวเองมากกว่าคนเป็นนาย เพราะทาสได้ทำงานสร้างอะไรบางอย่าง (ที่เจ้านายสั่ง) ขึ้นมา และงานที่ทำนั้นก็ทำให้เค้ารู้สึกมีตัวตน เหมือนเป็นผลงานที่ผลิตขึ้นมาจาก มือของเขาเอง และตัวตนของเขาก็แสดงออกมาในผลงานนั้น;ในขณะที่คนเป็นเจ้านายเพียงแค่ชี้ นิ้วสั่ง ไม่ได้มีผลงานของตัวเอง จึงรู้สึกไม่มีตัวตน ไม่มีความภูมิใจในตัวเอง และเป็นคนที่น่าสงสารยิ่งกว่าทาส, มาถึงสมัยนี้ เราคิดว่าคนที่บ้างาน ทำงานหนักมากๆ และมีผลงานเยอะแยะ ก็คงมีความรู้สึกเดียวกันนี้, บางคนอาจจะไม่ได้ต้องการความสำเร็จ แต่เพียงแค่ต้องการมีตัวตนในความรู้สึกของตัวเองเท่านั้น (เหมือนที่เรานั่งเขียนอะไรยิกๆในสมุดบันทึก ก็คงเพื่อความรู้สึกนี้ล่ะมั้ง)

แต่คุณ Gladwell เขาเขียนเล่มนี้ขึ้นมาไม่ใช่เพียงเพื่อศึกษาการมี  ตัวตน อย่างที่เราอธิบายไป แต่เพื่อจะศึกษาเรื่องของความสำเร็จ จริงๆ เขาต้องการรู้ว่า คนที่ประสบความสำเร็จสูงๆนั้น ต้องมีปัจจัยอะไรบ้าง เราอ่านไปค่อนเล่มแล้ว เดี๋ยวจะสรุปให้ฟัง เผื่อคนที่สนใจอยากจะประสบความสำเร็จ หรือช่วยให้คนอื่นสำเร็จ จะได้เอาไปประกอบการคิดนะจ๊ะ:

*โดยใจความหลักของหนังสือ เขาต้องการบอกว่าคนที่ประสบความสำเร็จได้นั้น ไม่ใช่ว่าจะใช้เพียงพรสวรรค์ ความฉลาด(IQ) ความขยัน และความพยายามเท่านั้น เพราะว่ามันไม่พอ แต่ต้องประกอบไปด้วยปัจจัยอื่นๆอีกมากมาย

*ปัจจัยแรก คือ เวลาเกิด  Gladwell ยกตัวอย่างว่า นักกีฬาฮ้อกกี้ที่ประสบความสำเร็จจะต้องเกิดช่วงต้นปี เพราะตอนเด็กๆ (5-6 ขวบ) เวลาไปคัดตัวเป็นนักกีฬา เด็กที่เกิดก่อนจะตัวโตกว่า เล่นได้ดีกว่าและมักจะได้รับคัดเลือก ส่วนเด็กที่เล็กกว่ามักจะตกรอบไป และหมดโอกาสจะเป็นนักกีฬาอาชีพไปเลย นอกจากนักกีฬาแล้ว ในการเรียนก็เหมือนกัน เด็กที่เกิดช่วงต้นปี มักทำคะแนนได้ดีกว่าเด็กเล็ก (ในช่วงแรกของการเรียน) จึงมักได้รับโอกาสมากกว่าเสมอ และทำให้มีผลไปจนถึงตอนโต

*นอกจากเวลาเกิด ปัจจัยอื่นที่มีความสำคัญ ก็คือ โอกาสที่จะเจอสิ่งที่ตัวเองชอบโดยเร็ว และมีเวลาฝึกฝนกับสิ่งนั้นมากกว่า 10,000 ชั่วโมง ; ซึ่ง Gladwell บอกว่า คนที่ได้ฝึกฝน (หรือหมกมุ่น) อยู่กับสิ่งที่ตัวเองสนใจจนครบหมื่นชั่วโมง (หรือประมาณ 10 ปี) เท่านั้น จึงจะเชี่ยวชาญในสิ่งนั้นและประสบความสำเร็จได้ ดังนั้น คนที่มีโอกาสได้ฝึกฝนก่อน ก็จะสำเร็จก่อน เช่น บิล จอย นักโปรแกรมเมอร์ชื่อดัง ได้มีโอกาสเริ่มเล่นคอมพิวเตอร์ตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยปีหนึ่ง ด้วยความโชคดีที่มหาวิทยาลัยที่เขาอยู่มีคอมพิวเตอร์พอดี (ซึ่งที่อื่นยังไม่มี) ตอนนั้นคอมพิวเตอร์ยังเป็นเครื่องใหญ่มากๆ บิล จอย หมกมุ่น ฝึกฝนทักษะอยู่นาน จนกลายเป็นอัจฉริยะในการเขียนโปรแกรมในที่สุด Gladwell บอกว่า บิล จอย ได้เปรียบตรงโอกาส และเวลาในการฝึกฝนที่มากกว่าคนอื่น ทำให้เขาประสบความสำเร็จ

*อีกอย่างที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ ความสามารถในการสื่อสารเพื่อที่จะได้มาซึ่งสิ่งที่ตัวเองต้องการ 1; Gladwell ยกตัวอย่างอัจฉริยะคนหนึ่ง ชื่อว่าChristopher Langan มีไอคิว 190 (ไอสไตน์ ยังแค่150) ตอนไปออกรายการเกมโชว์ เขาตอบคำถามได้หมดทุกข้อ และมีความจำดีเป็นเลิศ แต่กลายเป็นคนไม่ประสบความสำเร็จ (ตามมุมมองของ Gladwell) เนื่องจากเขาไม่มีพื้นฐานในการเจรจากับคนอื่นเพื่อต่อรองให้ได้ในสิ่งที่ควร ได้ เช่น ตอนยังเด็ก ที่จริงเขาควรได้ทุน แต่เพราะผิดพลาดทางเอกสารบางอย่าง ทำให้เขาไม่ได้ ถ้าเป็นคนอื่นโดนแบบนี้ ก็คงจะไปเจรจาต่อรองจนได้โดยไม่ยาก เพราะตามสิทธิก็ควรจะได้อยู่แล้ว แต่เพราะ Langan ขาดความสามารถและแรงจูงใจในด้านนี้ไป ทำให้เขาไม่ได้ทุน และไม่ได้เรียนต่อ พอโตขึ้นเขาก็พลาดโอกาสอื่นๆในชีวิตอีกมากมาย เพราะขาดการเจรจานี่เอง, Gladwell บอกว่า การมีไอคิวสูงมากๆไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่ทำให้คนๆหนึ่งประสบความสำเร็จ เพราะถ้าไอคิวตั้งแต่ 130 ขึ้นไป (จนถึง 200) มีโอกาสสำเร็จเท่าๆกันหมด จะต่างกันก็ตรงโอกาสและการต่อรองให้เป็นนั่นเอง

*และความสามารถในการเจรจา ก็มักมาจากการอบรมของครอบครัว โดย Gladwell บอกว่า เด็กที่เกิดมาในครอบครัวชั้นกลางและพ่อแม่มีการศึกษา จะรู้จักเรียกร้องสิทธิของตัวเอง รู้จักพูดความคิดเห็นของตัวเอง ในขณะที่เด็กในครอบครัวยากจนและพ่อแม่ไม่ค่อยมีการศึกษามากนัก มักจะมีนิสัยยอมๆ และไม่กล้ายืนขึ้นสู้เพื่อตัวเองมากนัก โดยเฉพาะถ้าต้องมีการต่อรองอะไรกับเจ้าหน้าที่, คล้ายๆกับ Gladwell จะบอกว่า คนในครอบครัวยากจนจะกลัวเจ้าหน้าที่ กลัวคน (รู้สึกว่าตัวเองมีศักด์ศรีน้อย) และถ่ายทอดกรอบความคิดอันนี้ไปยังลูกๆด้วย ทำให้ลูกๆไม่ค่อยประสบความสำเร็จ, คุณ Langan ก็เป็นหนึ่งในเด็กจากครอบครัวยากจน ที่ไม่มีทักษะในการต่อรอง แม้จะมีไอคิวสูงมาก แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

*จังหวะของสังคม ณ ขณะนั้นก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ  Gladwell เล่าให้ฟังถึงชายเชื้อชาติยิวคนหนึ่ง (พ่อแม่เป็นชาวยิวอพยพในอเมริกา) ซึ่งต่อมาได้เป็นนักกฏหมาย และจัดตั้ง law firm ชื่อดังในนิวยอร์กขึ้นมาได้ เรียกว่าประสบความสำเร็จมาก แต่ก็อีกนั่นแหละ ไม่ใช่เพราะความฉลาด หรือความสามารถของเขาอย่างเดียว แต่เพราะว่าสถานการณ์ในนิวยอร์กตอนนั้น ที่ law firms ดังๆของฝรั่ง (ผิวขาว มีตระกูล จบโรงเรียน กม ดีๆ) เริ่มมีราคาแพงเกินไป และเปิดโอกาสให้กับ law firms เล็กๆของประชากรอันดับสองอย่างคนยิวอพยพได้มีโอกาสเติบโตขึ้นพอดี, Gladwell บอกว่า นี่เป็นเพราะจังหวะ และโอกาสมากกว่าความสามารถ

*มีอีกหนึ่งบทใหญ่ๆในเล่ม ที่ Gladwell เขียนเล่าให้ฟังถึง การที่วัฒนธรรมเกาหลีมีผลทำให้เครื่องบินตกมากกว่าในวัฒนธรรมอื่น นั่นคือ ในสายการบินของเกาหลี ผู้ช่วยนักบินมักจะไม่กล้าแสดงความคิดเห็นกับกัปตันมากนัก หรือไม่ก็มีแต่พูดอ้อมๆ พูดเลี่ยงๆ กลัวๆ เหมือนเด็กพูดกับผู้ใหญ่ เหมือนนักเรียนพูดกับคุณครู ซึ่งถ้าขณะนั้นเป็นเวลาฉุกเฉิน และกัปตันกำลังเหนื่อยมาก และถ้าผู้ช่วยไม่กล้าพูด ไม่กล้าทำ เครื่องบินมักจะตก, Gladwell เล่าว่า สถิติการตกของสายการบินเกาหลีมีมากจนเขาต้องจ้างคนมาทำวิจัยหาสาเหตุ และได้พบว่า วัฒนธรรมนั่นเองที่เป็นสาเหตุหลัก เมื่อเปลี่ยนวัฒนธรรมแล้ว จำนวนเครื่องบินตกก็ลดลงมาก, นี่เป็นการแสดงให้เห็นว่า วัฒนธรรมเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้งานสำเร็จหรือไม่

*ถ้าให้สรุป ก็อาจจะพูดสั้นๆได้ว่า สำหรับ Gladwell คนที่จะประสบความสำเร็จนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติในตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมากับดวง ด้วย เพราะเวลาเกิด, โอกาสที่สังคม สิ่งแวดล้อมและสถานการณ์โลกมอบให้, รวมถึงลักษณะครอบครัว และวัฒนธรรม, ต่างไม่ใช่ปัจจัยที่เราจะกำหนดเองได้เลย เรามีส่วนในการกำหนดก็เพียงแค่ส่วนเล็กๆ (เช่น ความขยัน ความพยายาม) นอกนั้นล้วนเป็นสิ่งที่โลกกำหนดไว้ให้เราหมดแล้ว

สิ่งที่ Gladwell เขียนมาฟังดูมีเหตุผลดี และทำให้คนธรรมดาอย่างเราๆที่ไม่ได้ประสบความสำเร็จอะไรมากมาย รู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น, อย่างน้อยก็ได้รู้ว่ามีปัจจัยมากมายเลยล่ะนะ ที่เราควบคุมไม่ได้, และคนที่สำเร็จ ก็ไม่ใช่เพราะว่าเขาเก่งกว่าเรานักหรอก แต่เพราะว่าเขามากับดวง!! (เข้าข้างตัวเองเกินไปไม๊??)

น่าเสียดายว่า Gladwell เขาไม่ได้นิยามคำว่าความสำเร็จเอาไว้เลย ว่ามันคืออะไร เกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง เช่น ต้องรวยขนาดไหน ต้องมีคนยอมรับในผลงานขนาดไหน ต้องมีอำนาจ มีชื่อเสียงขนาดไหน หรือ ต้องอยู่ในสังคมระดับไหน และตัวอย่างที่เขายกมาแต่ละคนก็ไม่ใช่แบบเดียวกันเลย (นักกีฬา โปรแกรมเมอร์ นักกฏหมาย นักบิน หรือเขาหมายถึงแค่คนดัง??) ดังนั้น ที่เขาพูดว่าคนอัจฉริยะ (อย่าง Langan) ที่ตอนหลังใช้เวลาส่วนใหญ่ นั่งคิดฟิสิกส์อยู่คนเดียวที่บ้านไร่ และยังไม่ได้เผยแพร่ผลงานเลย เรียกว่าเป็น failure เราก็ยังสงสัยอยู่ว่าเขาเอาอะไรมาวัดบ้าง

แล้วความสำเร็จมันขึ้นอยู่กับความพอใจของคนๆนั้น หรือขึ้นกับมาตรฐานสังคมกันแน่?

ปล เดี๋ยวนี้ไม่ชอบอ่านนิยายแล้ว แต่ดันเขียนพล็อตนิยายไว้อย่างยาว—เขียนจากความฝันน่ะ เพราะเราชอบฝันอะไรแปลกๆ พิศดาร

ปล2 เคยฝันเห็นคนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนไหม เราว่ามันน่าแปลกมากเลย ที่จิตใต้สำนึกของเรามันสามารถสร้างตัวคนที่มีบุคลิกลักษณะที่ชัดเจนขึ้นมา ได้ ทั้งๆที่ไม่เคยเจอ และไม่ได้มีการวางแผนไว้ก่อน

ปล3 หมู่นี้ชาวบล็อกเกอร์แถวๆนี้ค่อนข้างเงียบๆน้อ ไม่ค่อยเขียนเท่าไหร่เลย เอ้า คึกคักหน่อยพวกเรา!! (ทำเป็นปลุกระดม ตัวเราก็เงียบไปนานเหมือนกัน ฮ่าๆ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นล่าสุด

Recent Comments Widget