ต้นกำเนิดนวัตกรรม (1) แค่ตั้งคำถาม ก็เปลี่ยนโลกได้

24 พ.ค. 2556
http://www.cglifeapp.com/index.php?option=com_content&view=article&id=293%3A-1--&catid=7%3Abooks-recommended&Itemid=81

โดย : วรวิสุทธิ์ ภิญโญยาง

ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อว่า "The Innovator’s DNA" ของกูรูชื่อดังก้องโลกด้านนวัตกรรม พบว่ามีหลายประเด็นที่น่าสนใจและน่าหยิบมาฝาก

เมื่อสุดสัปดาห์ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อว่า "The Innovator’s DNA" ของกูรูชื่อดังก้องโลกด้านนวัตกรรมและผู้ให้กำเนิดทฤษฎี "Disruptive Innovation" อย่าง ศาสตราจารย์เคลย์ตัน เอ็ม คริสเต็นเซ่น แห่ง Harvard Business School พบว่ามีหลายประเด็นที่น่าสนใจและน่าจะหยิบยกมาฝากท่านผู้อ่านคอลัมน์นี้

หนังสือเล่มนี้ เขียนโดยมีพื้นฐานมาจากงานวิจัยของศาสตราจารย์เคลย์ตัน ที่ต้องการค้นหาว่า แท้จริงแล้ว ต้นกำเนิดของนวัตกรรมต่างๆ นั้น มาจากคนประเภทไหน มีบุคลิก ลักษณะนิสัยเป็นอย่างไร และเขาเหล่านี้ แตกต่างจากบุคคลธรรมดาเช่นไร

งานวิจัยชิ้นนี้ เป็นการเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ ทำแบบสอบถาม จากกลุ่ม "นวัตกร" (Innovator) กว่า 500 คน และจากผู้บริหารระดับสูงมากกว่า 5 พันคนจาก 75 ประเทศทั่วโลก เพื่อกลั่นกรองหาคุณสมบัติร่วมของผู้ให้กำเนิดนวัตกรรม

ก่อนจะไปถึงคุณสมบัติที่ว่า มาลองดูครับว่างานวิจัยนี้มีประเด็นอะไรน่าสนใจบ้าง

ประเด็นแรก บริษัทที่มีนวัตกรรมที่โดดเด่น ทีมผู้บริหารจะต้องมีคนที่มีความคิดสร้างสรรค์สูงอยู่ในทีม ซึ่งเมื่อเทียบกับบริษัทปกติที่ทีมผู้บริหารเก่งแต่เฉพาะด้านการบริหาร จะไม่สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมอะไรออกมาได้เลย เพราะถนัดแต่การ "Execution" งานให้สำเร็จตามเป้าหมายที่ได้รับ

และไม่เพียงแค่ผู้บริหารเท่านั้นที่ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ที่ดี แต่ปัจจัยในองค์กร จะต้องเอื้ออำนวยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ผ่านการพัฒนาใน 3 แกนหลัก คือ

People (คน) 
Process (ขั้นตอนการทำงาน) และ 
Philosophies (ปรัชญาขององค์กร) 

โดยพนักงานจะต้องผ่านการฝึกอบรม เคี่ยวกรำอย่างจริงจัง ทักษะความคิดสร้างสรรค์ จึงจะมีโอกาสก่อกำเนิดขึ้นมา

ที่น่าสนใจ คือ ในการวิจัย ได้ตั้งคำถามไปยังผู้บริหารระดับสูงทั้งหลายว่า "ทำอย่างไรพนักงานจะเกิดความคิดสร้างสรรค์" ท่านผู้บริหารส่วนใหญ่ก็จะตอบกลับมาว่า ให้พนักงานหัด "คิดนอกกรอบ" (Think out of the box) กันเกือบหมด ซึ่งเป็นคำตอบที่พนักงานบริษัทหลายๆ คน ได้รับจากผู้บริหารของตัวเอง

และเมื่องานวิจัยถามต่อไปว่า "ทำอย่างไรจึงจะคิดนอกกรอบได้" พบว่าท่านผู้บริหารกว่า 5 พันคนทั่วโลกนี้ แทบจะส่งกระดาษเปล่า ไม่มีใครสามารถตอบได้ และมีจำนวนหนึ่ง ตอบกลับมาเพียงแค่ว่า "Be creative" เท่านั้น

นั่นหมายความว่า ผู้บริหารระดับสูงทั้งหลาย ขาดความเข้าใจ ขาดทักษะในเรื่องของการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ไม่สามารถบอกพนักงานของตัวเองได้ว่า จะสร้างความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ ให้แก่พนักงานในองค์กร ทำอย่างไร กลายเป็นคำพูดที่พูดลอยๆ เหมือนกันหมดทั้งโลกว่า ๐Think out of the box

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1977 การตั้งคำถามของ สตีฟ จ็อบส์ ว่า "ทำไมคอมพิวเตอร์ต้องมีพัดลม" (เพื่อระบายความร้อนที่สร้างขึ้นมาจากอุปกรณ์ภายในคอมพิวเตอร์และระบบจ่ายไฟ) และ "เราสามารถทำให้คอมพิวเตอร์เย็นโดยไม่ต้องใช้พัดลมได้รึเปล่า" ซึ่งมาจากสาเหตุเพียงเพราะจ็อบส์รู้สึกว่า เสียงดังของพัดลมในคอมพิวเตอร์ทำให้เขาเสียสมาธิ

จ็อบส์จึงหาคนที่จะมาออกแบบระบบจ่ายไฟ (Power Supply) แบบใหม่ ที่สร้างความร้อนน้อยลง และทิ้งการออกแบบระบบจ่ายไฟแบบเดิมๆ ที่ใช้กันมานานถึง 40 ปีไป ทำให้แอ๊ปเปิ้ล ทู เป็นคอมพิวเตอร์ตัวแรกของโลกที่ไม่มีพัดลมระบายความร้อน และกลายเป็นพีซีที่เงียบ และเล็กที่สุดในยุคนั้น

"การตั้งคำถาม" (Questioning) เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นคุณสมบัติแรกที่มีอยู่ในผู้ให้กำเนิดนวัตกรรมเกือบทุกคนที่อยู่ในงานวิจัย เช่น ปิแอร์ โอมิดยาร์ ผู้ก่อตั้งอีเบย์ มีคะแนนการตั้งคำถามสูงถึง 95% หรือจะเป็น ไมค์ ลาซาริดิส ซีอีโอของริม ผู้ผลิตแบล็คเบอร์รีก็เป็นคนที่มีทักษะการตั้งคำถามสูงถึง 96% เมื่อเทียบกับผู้บริหารทั่ว ๆ ไปที่มีทักษะการตั้งคำถามเฉลี่ยอยู่ที่ 40%

การตั้งคำถามเป็นทักษะง่ายๆ อย่างแรกที่จะช่วยให้คนเราคิดต่างไปจากเดิม เพราะคำถามที่ดี จะนำไปสู่คำตอบที่ใช่ ดังเช่นทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ที่มีผลการทดลอง พิสูจน์สมมติฐาน จนนำไปสู่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่างๆ มากมาย

สัปดาห์หน้า เรามาดูประเด็นที่น่าสนใจอื่นๆ ของหนังสือเล่มนี้ครับ

ติดตามอัพเดทใหม่ๆ เรื่องการตลาดและโซเชียลมีเดียได้ที่ www.facebook.com/MktHub และทวิตเตอร์ @worawisut นะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นล่าสุด

Recent Comments Widget