กลับหัวคิด 31: ทำงานด้วยวิธีเล่นๆ

3 ก.ย. 2556
โดยเกรียงไกร กาญจนะโภคิน นสพ.ไทยรัฐออนไลน์ เมื่อ 18 มิ.ย.2556

เวลาที่ผมได้รับเชิญไปบรรยายที่ไหน ผมมักจะถูกถามเสมอว่า “เคยคิดงานไม่ออกบ้างหรือไม่” “เคยตันบ้างหรือเปล่า” ผมก็จะตอบกลับไปว่า ไม่เคย ซึ่งเป็นคำตอบที่น่าหมั่นไส้มากครับ และผมก็ทราบดีว่าคำตอบของผมจะสร้างความรู้สึกแบบนั้นกับคนฟัง แต่ท่านผู้อ่านเชื่อไหมครับ ว่าผมไม่เคยคิดไม่ออกจริงๆ แต่สิ่งที่เราคิดออกในช่วงเวลานั้น มันก็อาจจะมีสิ่งดีกว่าก็เป็นได้

หลายๆ คนก็ถามผมต่อไปอีกว่า มีเคล็ดลับอะไรที่ทำให้ผมคิดมันออกได้ทุกครั้ง วิธีการของผม ซึ่งกลายไปเป็นวัฒนธรรมองค์กรด้วยก็คือ การสร้างบรรยากาศในองค์กร ในการประชุมให้สนุกที่สุด ไม่มีบรรยากาศของความเครียดเข้ามาสู่การประชุม แม้เรื่องที่คิดอยู่มันจะยากเย็นแสนเข็ญเพียงไรมันก็จะสามารถคิดออกมาให้ได้ โดยธรรมชาติของผมเป็นคนติดตลก ก็เลยไม่ชอบสร้างบรรยากาศในการทำงานให้มันเครียด

ผมชอบบรรยากาศห้องประชุมที่เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ เพราะสุดท้ายไอเดียดีๆ มันจะตามมาเสมอ อย่างตอนนี้ผมนั่งอยู่ที่สนามบิน Frankfurt เพื่อรอขึ้นเครื่องกลับประเทศไทย ผมมาดูงานกับคณะที่ผมไม่รู้จักใครเลยสักคนและเขาก็ไม่รู้จักผมด้วย ผมก็อาศัยความสนุกสนานของผม สร้างบรรยากาศจนทำให้บรรยากาศเครียดๆ ในคณะหมดไป และเมื่อเริ่มรู้ว่าผมทำงานอะไร ก็เริ่มมีคำถามที่เกี่ยวกับการมีที่มาของความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งผมก็บอกว่ามี

หนึ่งข้อคือ ผมไม่ชอบความเครียด ผมชอบสร้างความสนุกในห้องประชุม เพราะเมื่อบรรยากาศในห้องสนุก ทุกคนก็จะกล้าพูดมากกว่าในห้องประชุมเครียดๆ

ข้อสองคือ ผมเป็นคนไม่ถือตัว ผมจะสนิทกับน้องที่ทำงานมาก ไม่ได้วางตัวเป็นผู้บังคับบัญชา สามารถคุยเล่นกันได้อย่างเป็นกันเอง เพราะผมเชื่อว่าจะทำให้ทุกคนไม่เกร็ง ซึ่งแม้กระทั่งเด็กฝึกงานก็สามารถออกความคิดเห็นได้ ซึ่งผมก็เคยได้ไอเดียดีๆ มาจากเด็กฝึกงานและนำออกมาใช้ได้จริงมาแล้ว เพราะอย่างที่ผมเคยบอกครับ ไอเดียดีๆ ไม่ได้มาจากตำแหน่งหรืออายุ

ในคณะถามผมต่ออีกว่า แล้วการที่ผมสนิทกับเด็กๆ แบบนี้ จะไม่เสียการปกครองหรือ เพราะองค์กรแบบไทยๆ มักคำนึงถึงเรื่องแบบนี้เสมอ ผมเลยอธิบายต่อว่า เด็กใน Index บริษัทของผม ผมจะต้องทำให้เขาเคารพผม จากสิ่งที่ผมคิด จากสิ่งที่ผมทำ มากกว่าตำแหน่งที่ผมมี ดีกว่าที่จะเคารพกันที่ตำแหน่งครับ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีนะครับ เพราะนั่นเท่ากับเขายอมรับเราด้วยความรู้สึกยอมรับจริงๆ ไม่ใช่การยอมรับแค่หน้าที่เท่านั้น ซึ่งจะเป็นการยอมรับด้วยอารมณ์และหัวใจ

อย่างในประเทศทางยุโรป เขาจะสร้างอนุสาวรีย์ให้กับผู้คนที่สร้างผลงานดีๆ ให้กับคนของเขา ซึ่งเป็นการเกิดจากการยอมรับในงานที่เขาทำ ไม่ใช่ตำแหน่งที่เขามี หลายๆ คนสร้างผลงานที่เป็นงานด้านศิลปะ วรรณกรรม วิทยาศาสตร์ การแพทย์ โดยไม่ต้องมีตำแหน่งใหญ่โต แต่เขาก็สร้างอนุสาวรีย์ยกย่อง บ้านเราควรจะต้องหันมาดูใส่ใจเรื่องผลที่เขาทำมากกว่าตำแหน่งที่เขามี ผมอยากเห็นรูปปั้นศิลปินดังๆ นักกีฬา คนทำชื่อเสียงของบ้านเรามีอนุสาวรีย์บ้าง เพื่อจะได้เป็นแรงจูงใจให้เยวชนรุ่นหลัง อยากเป็น อย่างเก่งแบบเขาบ้าง

เขียนไปเขียนมามาลงเอยเรื่องนี้ได้อย่างไรก็ไม่ทราบ อย่างงี้เรียกว่านิ้วพาไปจริงๆ ครับ ซึ่งก็คงเป็นสไตล์ การเขียนของผม ซึ่งไม่เคยคิดทั้งเรื่องว่าจะเขียนอะไร คิดแค่ Topic เสร็จแล้ว ก็เขียนมันไปเรื่อยๆ ตามอารมณ์ตัวหนังสือจะพาไป นั่นก็คงเป็นวิธีการทำงานแบบของผม คือมีแค่เฟรมกว้างไว้แล้ว ข้างในจะเล่นอะไรขึ้นกับสมองของเราจะพาไป แต่มีเป้าหมายว่าต้องเป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ นี่ก็คือวิธีทำงานของผมครับ คือทำงานด้วยวิธีเล่นๆ และสนุกไปกับมัน แต่เป้าหมายชัดเจนว่าผลงานต้องออกมาดีที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นล่าสุด

Recent Comments Widget