ปลาไวกินปลาช้า

8 ก.พ. 2557
http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNNU1UYzROamc0Tnc9PQ==&sectionid=

8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 

ทวี มีเงิน

เมื่อสองวันก่อนมีข่าวช็อกนักอ่านเมื่อ "สรรสาระ" หรือ "รีดเดอร์ ไดเจสต์" ภาคภาษาไทยปิดตัวลงหลังเปิดตัวฉบับแรกในไทยตั้งแต่ปี 2539 รีดเดอร์ไดเจสต์เป็นนิตยสารที่ขายดีที่สุดในโลก แปลเป็นภาษาต่างๆ ทั่วโลก 22 ภาษา รูปเล่มขนาดพ็อกเก็ตบุ๊ก รวมบทความดีๆ แบบคัดย่อจากทุกมุมโลกมาให้อ่าน มีเรื่องราวหลากหลาย ทั้ง แง่คิด คำคม หลักดำเนินชีวิต การบริหารจัดการ แรงบันดาลใจ สุขภาพ ประสบการณ์ชีวิต

ก่อนนี้บริษัทแม่ก็มีปัญหาการดำเนินธุรกิจได้ยื่นขอ ล้มละลายมาแล้ว สาเหตุหนึ่งที่ทำให้นิตยสารเล่มเล็กๆ แต่มากด้วยคุณค่าต้องเผชิญมรสุมธุรกิจ เพราะคนรุ่นใหม่นิยมใช้บริการ "อินเตอร์เน็ต" มากขึ้น

โลกธุรกิจทุกวันนี้สลับซับซ้อนเพื่อความอยู่รอดต้องปรับตัวให้เร็วทันกับโลกที่เปลี่ยนไปดั่งภาษิตจีนบอก "ปลาไวกินปลาช้า" มีเรื่องเล่ากันสืบมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถังมีขุนนางชื่อ "เยาฉง" และ "จางชัว" เป็นคู่อริกัน ก่อนตายเยาฉงเป็นห่วงว่าเมื่อตนสิ้นไปแล้วจางชัวจะแก้แค้นลูกหลานของตนจึงเรียกทั้งหมดมาประชุมกันแล้วบอกว่าเมื่อตัวเองสิ้นไปแล้วก็ขอให้มีผู้อาวุโสเขียนคำนิยมไว้อาลัย เพื่อเป็นเกียรติ

คนแรกที่ต้องเชิญคือจางชัวเพื่อไม่ให้ถูกปฏิเสธก็ให้เอาของมีค่าวางไว้บนหิ้งบูชาหน้าโลงศพเมื่อจางชัวเขียนเสร็จให้รีบนำข้อความนั้นไปสลักบนศิลาจารึก แล้วไปกราบบังคมทูลพระจักรพรรดิโดยเร็วอย่าให้เปลี่ยนใจได้ทัน

เมื่อเยาฉงจากไป ลูกหลานก็ปฏิบัติตามคำสั่งเมื่อทุกอย่างเรียบร้อย จางชัวคิดได้ว่าเป็นแผนเยาฉง แต่ช้าไปเสียแล้วจักรพรรดิได้ทอดพระเนตรคำไว้อาลัยของตนแล้ว ซึ่งเท่ากับเป็นยันต์กันผี ปกป้องไม่ให้ลูกหลานของเยาฉงถูกรังแก

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า "การชิงลงมือก่อน" เป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ใครลงมือก่อนย่อมได้เปรียบ ความไวจึงเป็นตัวแปรในความสำเร็จ ทั้งในแวดวงธุรกิจ หรือแม้แต่ในการบริหารประเทศ หากผู้นำมีวิสัยทัศน์ก้าวไกล ใช้ความไวในการช่วงชิงโอกาส ก็จะเป็นประโยชน์กับประเทศ

ผู้นำหลายๆ คนก็ใช้กุศโลบาย "ปลาไวย่อมกินปลาช้า" ในการชิงความได้เปรียบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นล่าสุด

Recent Comments Widget