หน่อไม้..ไซยาไนด์ สารพิษร้ายใกล้ตัว

13 ม.ค. 2558
โดยไทยรัฐ เมื่อ 17 ก.ค.2555

ไซยาไนด์...สารพิษชนิดนี้ร้ายแค่ไหน

“สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ชาวยิวถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไปหลายล้านคน ก็เพราะถูกรมด้วยก๊าซพิษไซยาไนด์นี่แหละ”

นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยถึงพิษร้ายเฉียบพลันของไซยาไนด์ ที่คนยุคนี้อาจจะห่างเหินไม่ค่อยคุ้นเคย

แม้มีพิษร้ายแรง แต่ก็เป็นสารที่มีประโยชน์ในอุตสาหกรรมหลายประเภท ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต ไนลอน เส้นใยอะครีลิก เรซิน แยกแร่ทองคำ ชุบโลหะด้วยไฟฟ้า ทำโลหะให้บริสุทธิ์ รวมทั้งใช้เป็นยาปราบศัตรูพืชทั้งหลาย

นั่นเป็นสารพิษที่ใช้อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรม ผู้คนทั่วไปยากจะได้พบสัมผัส

แต่ยังมีไซยาไนด์อีกชนิด ใกล้ตัว ใกล้ปากคนไทย...ไซยาไนด์ที่ธรรมชาติซุกซ่อนไว้ในพืชผล

เมล็ดถั่วอัลมอนด์ มันสำปะหลัง ข้าวฟ่าง รวมทั้งหน่อไม้

พืชสำคัญที่คนไทยนิยมบริโภคเป็นอาหารมากเป็นพิเศษ ใช้ทั้งในการต้ม ผัด แกง จิ้มน้ำพริก...อุดมไปด้วยไซยาไนด์ เอามากินดิบๆ มีสิทธิ์เจ็บป่วยและตายได้

“ความร้ายแรงของไซยาไนด์ขึ้นอยู่กับปริมาณความเข้มข้นที่ได้รับ ถ้าได้รับในปริมาณเข้มข้นแบบที่ใช้สังหารหมู่ชาวยิว จะเสียชีวิตทันทีแบบไม่ทันรู้ตัว

แต่ถ้าได้รับจากการกินพืชที่มีไซยาไนด์ในปริมาณเล็กน้อย อาการเริ่มต้นระดับแรกจะรู้สึกปวดหัว หายใจยาก ความดันโลหิตต่ำ มึนงง หมดสติ และถ้าได้รับในปริมาณที่มากถึง 1.5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม จะมีผลทำให้เสียชีวิต

เนื่องจากไซยาไนด์จะเข้าไปจับเกาะธาตุเหล็กในกระแสเลือด ทำให้ธาตุเหล็กไม่สามารถนำพาออกซิเจนไปเลี้ยงสมองได้ เซลล์สมองจะหยุดการทำงาน และคนที่ได้รับพิษในปริมาณมาก การเสียชีวิตจะมีลักษณะเหมือนคนเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ”

ถึงพืชเหล่านี้จะมีไซยาไนด์ที่ทำให้คนตายได้ก็ตาม อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ย้ำว่า อันตรายนี้มีเฉพาะในกรณีที่กินแบบดิบๆ เท่านั้น ถ้าทำให้สุกก่อนจะไม่มีปัญหา เพราะไซยาไนด์สามารถกำจัดได้ด้วยความร้อน

“ใครที่เคยรับประทานต้มจืดซี่โครงหมูกับหน่อไม้ไผ่ตง ถ้าคนปรุงอาหารทำแบบต้มหน่อไม้แล้วไม่ยอมทิ้งน้ำแรก เราซดน้ำต้มจืดเข้าไปแล้ว รสชาติจะรู้สึกขมเฝื่อนๆ นั่นแหละรสชาติที่มีไซยาไนด์เจือปนอยู่

ถ้าต้มหน่อไม้ให้สุกแล้วทิ้งน้ำแรก รสชาติขมเฝื่อนของไซยาไนด์จะหายไป”

แต่เดิมนั้นในวงการแพทย์รู้กันอยู่แล้ว ในหน่อไม้นั้นมีไซยาไนด์ แต่ไม่เคยรู้ว่าในหน่อไม้ที่คนไทยนิยมบริโภคนั้น มีไซยาไนด์มากขนาดไหน...เพิ่งจะมาสนใจอย่างจริงจังเมื่อปี 2550

ด้วย 21 ก.ค. 2550 เกิดเหตุการณ์คนงานพลัดตกลงไปในบ่อหมักหน่อไม้ดองของโรงงานใน ต.อ่างทอง อ.เมือง จ.ราชบุรี...ทั้งคนงานที่พลัดตกลงไปและคนที่ลงไปช่วย หมดสติพร้อมกันถึง 8 ราย เสียชีวิตไป 2 คน

ในเบื้องต้นสันนิษฐานว่า บ่อหมักหน่อไม้ดองเป็นที่อับไม่มีที่ระบายอากาศ ออกซิเจนมีน้อย และน่าเป็นที่สะสมของก๊าซพิษหลายชนิด ทั้งก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือที่รู้จักว่าก๊าซไข่เน่า ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน จึงทำให้คนหมดสติและเสียชีวิต

แต่เมื่อหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบอย่างละเอียด จึงได้รู้ว่า ก๊าซพิษที่ทำให้เสียชีวิตและหมดสตินั้นคือ...แก๊สไฮโดรเจนไซยาไนด์ ที่มาจากตัวหน่อไม้นั่นเอง

หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงลงมือศึกษาไซยาไนด์ในหน่อไม้...เก็บตัวอย่างหน่อไม้ที่คนไทยบริโภค จำนวน 496 ตัวอย่าง จากพื้นที่ทั่วประเทศ 31 จังหวัด

เป็น

หน่อไม้สด 199 ตัวอย่าง, 
หน่อไม้ดอง 149 ตัวอย่าง และ
หน่อไม้ต้ม 148 ตัวอย่าง
และเมื่อนำมาตรวจวิเคราะห์ในห้องทดลอง พบว่า...หน่อไม้สด ทั้ง 149 ตัวอย่าง มีปริมาณไซยาไนด์ เฉลี่ยอยู่ที่ 167 มิลลิกรัม ต่อ 1 กิโลกรัม

โดยมีค่าต่ำสุดอยู่ที่ 18 มิลลิกรัม ต่อ 1 กิโลกรัม ขึ้นไปจนสูงสุดมีค่าอยู่ที่ 943 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม แต่ต่างไปตามสายพันธุ์และพื้นที่เพาะปลูก

หน่อไม้ดองมีปริมาณไซยาไนด์เฉลี่ย 41.1 มิลลิกรัม ต่อ 1 กิโลกรัม...โดยมีค่าต่ำสุด-สูงสุด อยู่ที่ 10-261 มิลลิกรัม ต่อ 1กิโลกรัม

ส่วนหน่อไม้ต้มมีปริมาณไซยาไนด์ เฉลี่ย 19.2 มิลลิกรัม ต่อ 1 กิโลกรัม...มีค่าต่ำสุด-สูงสุด อยู่ที่ 10-92 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม

และเมื่อนำข้อมูลการบริโภคอาหารของคนไทย จัดทำโดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ที่ระบุว่า คนไทยที่รับประทานหน่อไม้ต้ม รับประทานเฉลี่ยวันละ 126.6 กรัม มาร่วมวิเคราะห์หาว่าคนไทยได้รับไซยาไนด์ในระดับอันตรายแค่ไหน

ที่ FAO และ WHO กำหนดให้ปริมาณการได้รับสารไซยาไนด์ในแต่ละวันได้ไม่เกิน 0.05 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม...ถ้าคนมีน้ำหนักตัว 60 กก. ต้องได้รับไซยาไนด์วันละไม่เกิน 3 มิลลิกรัม

คนไทยน้ำหนักเฉลี่ยอยู่ที่ 60 กก. รับประทานหน่อไม้ต้มวันละ 126.6 กรัม หรือวันละ 1 ขีดนิดๆ จะได้รับไซยาไนด์ประมาณ 2.43 มิลลิกรัม ถือว่าอยู่ในระดับที่ปลอดภัย...ร่างกายสามารถขับออกปัสสาวะได้หมด

แต่สำหรับคนที่อยู่ในกลุ่มชอบกินหน่อไม้มากเป็นพิเศษ ตามข้อมูลการบริโภคอาหารของคนไทย คนกลุ่มนี้รับประทานหน่อไม้ต้มมากถึงวันละ 283.5 กรัม หรือ วันละกว่า 2 ขีด...จะได้รับไซยาไนด์ 5.44 มิลลิกรัมต่อวัน

ถือเป็นระดับอันตรายที่สูงกว่าค่ามาตรฐานมากถึง 1.8 เท่า

แต่ตัวเลขความปลอดภัย ความเสี่ยงของการกินหน่อไม้นี้ วัดจากการกินหน่อไม้ต้มซึ่งมีค่าไซยาไนด์ต่ำกว่าหน่อไม้ดองและหน่อไม้สด ที่สำคัญยังเป็นตัวเลขจากค่าเฉลี่ยเท่านั้น...หน่อไม้ต้มบางพันธุ์มีค่าไซยาไนด์สูงกว่าค่าเฉลี่ย

จึงยังไม่อาจที่จะระบุได้ชัดว่า หน่อไม้สด-ดอง-ต้ม ที่ขายในท้องตลาดแบบไหน พันธุ์ไหนควรจะบริโภคเท่าไรถึงจะห่างไกลไซยาไนด์ได้มาตรฐาน

ฉะนั้น เพื่อความปลอดภัยที่แน่นอนที่สุด นพ.บุญชัย แนะ ไม่ว่าจะหน่อไม้สด-ดอง-ต้ม และไม่ว่าจะซื้อจากที่ไหนมาก็ตาม ให้นำไปต้มก่อนเป็นดีที่สุด

เพราะการศึกษาพบว่า ถ้านำไปต้มในน้ำเดือด 10 นาที ไซยาไนด์ที่ซุกอยู่ในหน่อไม้จะหายไป 91% ต้ม 20 นาที ไซยาไนด์จะหายไป 98%...และถ้า 30 นาที ไซยาไนด์จะเกลี้ยงไม่มีเหลือ

ต้มนานกลัวจะเละไป ไม่ถูกปาก...10 นาที มีไซยาไนด์หลงเหลือบ้าง แต่รับรองปลอดภัยได้มาตรฐานชัวร์.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นล่าสุด

Recent Comments Widget