brian tracy ช่วยเปลี่ยนชีวิต

11 ต.ค. 2552
Brian Tracy ช่วยเปลี่ยนชีวิต

โดย วรากรณ์ สามโกเศศ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มติชนรายวัน วันที่ 09 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10197

เมื่อเอ่ยชื่อ Brian Tracy ในบ้านเรา เฉพาะคนที่อยู่ในวงการที่สนใจการพัฒนาตนเอง ความสำเร็จในธุรกิจ และชีวิตเท่านั้นที่อาจรู้จัก แต่ถ้าบอกว่าเป็นคนเขียนหนังสือชื่อ 

Eat That Frog, 
Create Your Own Future, 
Change Your Thinking Change Your Life 

ฯลฯ คนจำนวนมากต้องร้องอ๋อแน่นอนเพราะเขามิใช่ธรรมดา เป็นทั้งนักเขียน และนักพูดระดับโลกชั้นยอด และกำลังจะมาพูดที่กรุงเทพฯ เป็นครั้งแรกในเร็วๆ นี้

Tracy เล่าว่า ชีวิตเขาเริ่มจากครอบครัวที่แทบไม่มีข้อได้เปรียบเหนือใครเลย เรียนหนังสือไม่เก่ง แถมยังเรียนไม่จบไฮสกูลด้วย 

ต้องทำงานเป็นกรรมกรเป็นเวลาหลายปี 

ตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น เขาโชคดีได้มีโอกาสทำงานเป็นลูกเรือเดินสมุทร เดินทางไปประเทศต่างๆ รวม 80 ประเทศ ใน 5 ทวีป เขาผ่านงาน 22 อย่างก่อนที่จะตั้งตัวได้และกลับไปเรียนหนังสือ

Tracy เรียนจนจบปริญญาตรีและโทด้านบริหารธุรกิจ พูดภาษาต่างประเทศได้ 3 ภาษา คือ 

ฝรั่งเศส 
เยอรมัน และ
สเปน

 ประสบความสำเร็จในการเป็นลูกจ้างและก่อตั้งหลายบริษัท ก่อนที่จะมาทำธุรกิจเป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ เป็นนักฝึกอบรม นักเขียน นักพูด

ปัจจุบัน ในแต่ละปีเขาพูดในที่ต่างๆ ทั่วโลกให้คน 300,000 คนฟัง บางครั้งมีคนมาฟังถึง 20,000 คน ผลิตวีดิทัศน์สำหรับหลักสูตรการเรียนกว่า 300 ชุด และเขียนหนังสือยอดนิยมกว่า 20 เล่ม และมีหลายเล่มที่ดังระเบิดโลก

งานที่เขาทำนอกจากงานใช้แรงงานแล้วก็คือขายของสารพัดด้วยการเคาะประตูบ้าน ในตอนแรกก็ขายได้ในระดับที่แทบเอาตัวไม่รอด วันหนึ่งจึงเริ่มคิดได้และถามตัวเองว่า 

"ทำไมคนอื่นจึงทำได้ดีกว่า?"

 และแล้วเขาก็ทำสิ่งที่เปลี่ยนแปลงชีวิตครั้งสำคัญนั่นก็คือเขาถามคนขายที่ประสบความสำเร็จว่าเขาทำได้อย่างไร เมื่อได้คำตอบก็พยายามเลียนแบบจนยอดขายพุ่ง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเขาก็ใช้กลยุทธ์เลียนแบบนักขายชั้นเซียนทั้งหลายจนกระทั่งได้ผลออกมาเหมือนกัน

กระบวนการเรียนรู้และนำมาประยุกต์ดังกล่าว เปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาอย่างสิ้นเชิง ภายในเวลาหนึ่งปีเขาทำยอดขายได้สูงสุด หนึ่งปีต่อมาได้เป็นผู้จัดการและ รองประธานกรรมการดูแลพนักงานขาย 95 คน ใน 6 ประเทศเมื่อเขามีอายุเพียง 25 ปี

Brian Tracy ได้ค้นพบว่าคนบางคนทำได้ดีกว่าคนอื่นเพราะเขาเหล่านั้นกระทำบางสิ่งแตกต่างจากคนอื่น และกระทำอย่างถูกต้องด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจัดการเรื่องเวลาได้ดีกว่าคนอื่นๆ โดยทั่วไป

ก่อนหน้าที่เขาจะได้คิดในขณะที่ยังเป็นผู้ใช้แรงงานอยู่นั้น เขาตกอยู่ในกับดักทางความคิด (เนื่องจากมาจากสิ่งแวดล้อมที่ด้อยและความรู้สึกลึกๆ ว่าตนเองต่ำต้อย) ว่าคนอื่นที่ทำได้ดีกว่าเขาก็เป็นเพราะว่าเก่งกว่าเขา ต่อมาเขาจึงได้เรียนรู้ว่ามันไม่จำเป็นต้องจริงเสมอไป คนเหล่านั้นเพียงแต่ทำบางสิ่งแตกต่างไปจากเขาและสิ่งที่ทำนั้นเป็นสิ่งที่เข้าท่า และสิ่งที่คนเหล่านั้นทำ เขาก็สามารถเรียนรู้ได้เช่นเดียวกัน

ข้อคิดที่ได้นี้มีผลกระทบต่อชีวิตของเขาเป็นอย่างมาก เขาตระหนักว่าเขาสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตตนเองได้ และสามารถบรรลุได้เกือบทุกสิ่ง ขอให้ได้รู้เถอะว่าเขาเหล่านั้นทำอย่างไรในเรื่องนั้นๆ เขาก็จะเลียนแบบทำสิ่งเดียวกัน และก็บรรลุอย่างเดียวกันและอาจดีกว่าด้วย

หนังสือที่ Brian Tracy เขียนเป็น

ประเภท Self-Help 

ชนิดตำรากับข้าว กล่าวคือระบุว่าหนึ่งสองสามต้องทำอะไร และอย่างไร บอกเป็นขั้นเป็นตอน อย่างโน้มน้าวจิตใจให้ทำตาม เขาบอกว่าความลับของความสำเร็จก็คือการลงมือปฏิบัติ มิใช่อ่านเฉยๆ ยิ่งเรียนรู้เร็วเท่าใดและนำไปประยุกต์ในชีวิตเร็วเท่าใดก็จะก้าวหน้าไปเพียงนั้น

หนังสือประเภท Self-Help มีมากมายในปัจจุบัน ไม่ว่าในเรื่องการเลี้ยงลูก การประกอบธุรกิจ การสร้างความร่ำรวย การแสวงหาความสงบแห่งจิตใจ เรียนภาษา รู้จักตนเอง การหาคู่ การวางแผนภาษี ฯลฯ หนังสือ Self-Help เล่มแรกมีชื่อว่า "Self-Help" เขียนโดย 

Samuel Smiles ตีพิมพ์ใน ค.ศ.1859 (พ.ศ.2402 ซึ่งอยู่ประมาณต้นรัชกาลที่ 4)

 ประโยคแรกของหนังสือก็คือ 

"สวรรค์ช่วยคนที่ช่วยตนเอง"

 ซึ่งเป็นคำกล่าวที่รู้จักกันแพร่หลายจากหนังสือชื่อ 

Poor Richard"s Almanac ของ Benjamin Franklin เมื่อเกือบหนึ่งร้อยปีก่อน
หนังสือประเภทนี้ถูกวิจารณ์ว่าให้ "คำตอบที่ง่ายดาย" แก่ปัญหาส่วนตัวที่ซับซ้อนยากแก่การตอบ คนอ่านได้แค่ยาหลอกๆ ในขณะที่คนเขียนได้เงิน จนกระทั่งมีคำกระแหนะกระแหนว่า "ถ้าจะรวยจากหนังสือ Self-Help แล้วละก็ ต้องเขียนหนังสือแบบนี้สักเล่ม" นอกจากนี้ยังถูกวิจารณ์ว่าหนังสือ Self - Help สนับสนุนให้มองตนเองเป็นหลัก ถ้าเป็นเรื่องการพัฒนาก็จะเน้นไปที่การพัฒนาตนเองโดยมองข้ามการร่วมมือกันทางสังคมเพื่อแก้ไขปัญหา

ผู้สนับสนุนหนังสือ Self-Help โต้ตอบว่าผู้อ่านบางคนมองหา "คำตอบที่ง่าย" อยู่แล้ว หนังสือเพียงแนะนำหนทางเท่านั้น คนอ่านเท่านั้นที่จะเป็นคนนำไปปฏิบัติ คนอ่านบางคนที่มีความมุ่งมั่นในการนำไปปฏิบัติก็จะเกิดการพัฒนาตนเองขึ้น ถ้าหนังสือไม่ได้ผลก็เป็นเพราะผู้อ่านเพียงอ่านเฉยๆ และไม่นำไปปฏิบัติจึงมิใช่ความผิดของหนังสือ Self-Help

สำหรับหนังสือ Self-Help ของ Brian Tracy นั้นเน้นไปที่การสร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตให้ดีขึ้น ให้กำลังใจ เสริมสร้างประสิทธิภาพในการทำงานและให้ ประสบความสำเร็จในธุรกิจ ในชีวิต และมีความสุขมากขึ้น

คำพูดหนึ่งของเขาที่น่าสนใจก็คือ 

"ข้อเท็จจริงที่แสนเศร้าก็คือ มนุษย์ยากจนเพราะเขายังมิได้ตัดสินใจที่จะรวย คนที่น้ำหนักเกินและร่างกายไม่ฟิตก็เพราะเขายังมิได้ตัดสินใจที่จะผอมลงและทำให้ร่างกายฟิต คนที่ใช้เวลาอย่างไร้ประสิทธิภาพก็เพราะเขายังมิได้ตัดสินใจที่จะเป็นคนที่อุดมด้วยความสามารถในทุกสิ่งที่เขากระทำ"

 (Brian Tracy ยังไม่เคยมา ประเทศไทยที่คนยากจนจนไม่ใช่เพราะ ขี้เกียจและยังไม่ตัดสินใจว่าจะรวย หากขาดโอกาสที่จะทำให้ตนเองเท่าเทียมกับคนอื่นไม่ว่าในเรื่องสิทธิทางกฎหมาย การศึกษาและรายได้)

คำพูดข้างต้นตั้งใจกระตุ้นให้ผู้คนมีความมุ่งมั่นและทุ่มเทจิตใจอย่างแน่วแน่ ในการกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จ เช่นเดียวกับการที่จะต้องมีความสามารถในการมีวินัยควบคุมตนเอง อดกลั้นที่จะไม่รับความสุขสมในระยะสั้นเพื่อที่จะได้เก็บเกี่ยวรางวัลที่ยิ่งใหญ่กว่าในระยะยาวจึงจะประสบความสำเร็จได้

ในฐานะที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เป็นหนึ่งในผู้ร่วมจัดการพูดครั้งนี้ที่เชื่อว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบธุรกิจ ที่ต้องการเพิ่มยอดขาย และกำไร ตลอดจนบุคคลทั่วไปที่ต้องการกำลังใจ และมั่นใจว่าเขาพูดได้สนุกเร้าใจตามคำเล่าลือ ผมจึงขอประชาสัมพันธ์มาในโอกาสนี้ครับ Brian Tracy จะมาพูดในวันพฤหัสบดีที่ 2 มีนาคม 2006 ทั้งวัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นล่าสุด

Recent Comments Widget