Outliers โดย Malcolm Gladwell

26 ก.ค. 2553

โดย สฤณี อาชวานันทกุล www.fringer.org ในประชาชาติธุรกิจ เมื่อ 22 ม.ค.2552

ในชีวิตคนเราทุกคนคงมีมากกว่าหนึ่งครั้งที่จะอดคิดไม่ได้ว่า เพื่อนหรือคนใกล้ตัวที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงคนนั้นช่างโชคดีเหลือเกินที่เกิดมาพร้อมกับพรสวรรค์หรือมันสมองเหนือมนุษย์ที่ฟ้าประทานมาให้ เราคงต้องตายแล้วเกิดใหม่ถ้าอยากจะทำได้อย่างนั้นบ้าง

Outliers ผลงานล่าสุดของ Malcolm Gladwell นักเขียนหนังสือเบสต์เซลเลอร์เรื่อง The Tipping Point (และเล่มต่อชื่อ Blink ซึ่งสนุกน้อยกว่ากันมาก) จะทำให้ "คนธรรมดา" อย่างเราๆ ท่านๆ ทุกคนรู้สึกมีกำลังใจขึ้นบ้างว่า จริงๆ แล้วความสำเร็จในชีวิตไม่จำเป็นต้องใช้อะไรมากไปกว่าระดับสติปัญญาที่ "สูงพอ" ระดับหนึ่ง บวกด้วยความขยันหมั่นเพียรแบบเดียวกับที่พ่อแม่ทุกคนพร่ำสอนลูก ประกอบกับสถานการณ์ "เป็นใจ" ที่ทำให้ความขยันนั้นส่งผลดีเป็นทวีคูณ

Outliers เป็นหนังสืออ่านสนุกที่เต็มไปด้วยตัวอย่างน่าสนใจและสรุปงานวิจัยล่าสุดในสาขาสังคมวิทยาและจิตวิทยาสังคม ในทำนองเดียวกับที่ทำให้ The Tipping Point ได้รับความนิยมอย่างสูง ใน Outliers ผู้ประพันธ์คือ Gladwell ชี้ให้เห็นว่า ชีวิตของมนุษย์ทุกคนเป็น "ผลผลิต" ของบริบททางสังคม ภูมิศาสตร์ และสถานการณ์ พอๆ กับที่มันเป็นผลผลิตของเจตจำนงและอิสรภาพในฐานะปัจเจกชน กระทั่งปีเกิดและเดือนเกิดของเราก็มีความหมาย Gladwell แสดงให้เห็นว่า "พรสวรรค์" นั้นสำคัญน้อยกว่า "พรแสวง" ในการกำหนดว่าเราจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวในที่สุด ยกตัวอย่างเช่น แม้กระทั่งอัจฉริยะอย่าง Wolfgang Amadeus Mozart หรือโปรแกรมเมอร์ระดับ "เทพ" อย่าง Bill Joy ก็ต้องใช้เวลาเท่ากันกับคนธรรมดา คือกว่า 10,000 ชั่วโมงโดยเฉลี่ย ในการฝึกซ้อมสิ่งที่พวกเขาถนัด ก่อนที่จะได้รับการยกย่องว่าเป็น "ผู้เชี่ยวชาญ" ในสาขานั้นๆ

ตัวอย่างที่ผู้เขียนชอบเป็นพิเศษคือเรื่องราวของ The Beatles วงดนตรีร็อกในตำนานของอังกฤษ Gladwell อธิบายว่า จุดเปลี่ยนที่ทำให้ The Beatles เล่นเข้าขากันได้อย่างน่าทึ่งคือตอนที่พวกเขาถูกส่งไปแสดงในบาร์เขตเที่ยวผู้หญิงติดต่อกันหลายคืนในเมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี ต้องเล่นดนตรีคืนละหลายชั่วโมง พยายามดึงดูดความสนใจของลูกค้าบาร์ที่เดินเข้าๆ ออกๆ ตลอดเวลา เป็นโอกาสที่ทำให้ทุกคนในวงได้ฝึกฝนการแสดงสดอย่างหนักหน่วงและเคี่ยวกรำจนเข้าขากันได้ ราวกับเปลี่ยนเป็นคนละวงเมื่อพวกเขาเดินทางกลับอังกฤษ Gladwell ยกตัวอย่างเหล่านี้เพื่อบอกว่า คนเราสามารถประสบความสำเร็จได้แทบทุกคน ถ้าเราตระหนักว่าความสำเร็จเป็นเรื่องของความขยันมากกว่าความสามารถเฉพาะตัวที่ฟ้าดินมอบให้ตั้งแต่เกิด เราอาจต้องใช้เวลามากกว่าอัจฉริยะอย่าง Mozart ก่อนที่จะประสบความสำเร็จ แต่ถ้าเราหมั่นฝึกฝนจนครบ 10,000 ชั่วโมง ความสำเร็จก็น่าจะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

แต่บริบททางสังคมและโชคก็มีส่วนกำหนดเหมือนกันว่าเรามีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด หลังจากที่เรามุมานะฝึกฝนจนครบ 10,000 ชั่วโมงแล้ว ยกตัวอย่างเช่น นักธุรกิจผู้บุกเบิกวงการไอทีของอเมริกา เช่น Bill Gates, Steve Jobs และ Bill Joy ล้วนเกิดระหว่างปี 1953-1956 ซึ่งหมายความว่า พวกเขาเติบโตเป็นวัยรุ่นในยุคที่คอมพิวเตอร์แบบแบ่งเวลาได้ (time-sharing computer คือไม่ใช่แบบตอกบัตรแล้วต้องรอเวลาประมวลผลหลายชั่วโมง) เริ่มมีใช้ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยบางแห่ง และพวกเขาก็โชคดีที่ได้ฝึกเขียนโปรแกรมกับเครื่องคอมพิวเตอร์เหล่านี้ก่อนใครเพื่อน ทำให้มีแนวโน้มสูงกว่าคนอื่นว่าจะประสบความสำเร็จในวงการเกิดใหม่ที่กลายเป็นแมสในไม่กี่ปีต่อมา

อีกกรณีหนึ่งที่ Gladwell หยิบมาเล่าอย่างสนุกสนานใน Outliers คือความสำเร็จของบริษัทกฎหมายธุรกิจของทนายเชื้อชาติยิวในกรุงนิวยอร์ก รุ่นที่จบปริญญาไปเป็นทนายหลังช่วงเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง (Great Depression ในทศวรรษ 1930) โดย Gladwell เล่าว่า ก่อนราวทศวรรษ 1970 ภาคการเงินของอเมริกาคือ Wall Street ดูถูกการซื้อกิจการแบบไม่เป็นมิตร (hostile takeover) ว่าเป็นพฤติกรรมที่สุภาพบุรุษไม่ทำกัน และในขณะเดียวกันสำนักงานกฎหมายดังๆ ในเมืองก็ไม่อยากว่าความคดีเหล่านี้เพราะมองว่า "ต่ำต้อย" เกินไปสำหรับพวกเขา และไม่ค่อยว่าจ้างทนายเชื้อสายยิวเพราะมองว่าไม่ใช่ "ชนชั้น" เดียวกัน ด้วยเหตุนี้ทนายชาวยิวหลายคนจึงต้องร่วมกันก่อตั้งสำนักงานกฎหมายขึ้นมาเอง ว่าความคดีที่ทนายคนอื่นๆ มองว่าต่ำต้อย ดังนั้นเมื่อสภาพการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนไป ภาคธุรกิจเริ่มมองการซื้อกิจการแบบไม่เป็นมิตรว่าเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการขยายธุรกิจที่ไม่มีอะไรเสียหาย สำนักงานกฎหมายของทนายเชื้อสายยิวหลายแห่งจึงรุ่งเรืองอย่างรวดเร็วและมีงานทำไม่ขาดมือ เพียงเพราะว่าพวกเขาได้สั่งสมประสบการณ์มาแล้วมากมายในสาขาบูมซึ่งเคยเป็นที่รังเกียจของ "ทนายผู้ดี" ในทศวรรษก่อนหน้านั้น

นอกจากจะพิสูจน์ให้เห็นว่าบริบททางสังคมมีความสำคัญเพียงใดต่อชีวิตคนแล้ว Gladwell ยังชี้ให้เห็นว่าภาครัฐหรือโรงเรียนสามารถปรับเปลี่ยนนโยบายในทางที่จะช่วยเหลือผู้โชคร้ายที่เสียเปรียบจากบริบททางสังคมได้อย่างไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรารู้การกำหนดวันหมดเขตคัดตัวนักเรียนเข้าทีมกีฬานั้น ทำให้เด็กที่เกิดต้นปีได้เปรียบเด็กที่เกิดปลายปี (เพราะเด็กที่เกิดต้นปีตัวใหญ่กว่า จึงมีโอกาสเล่นกีฬาได้ดีกว่าเด็กที่เกิดปลายปี) เราก็สามารถแก้ไขความได้เปรียบที่ไม่เป็นธรรมนี้ได้ด้วยการเปลี่ยนกฎการรับสมัคร ถ้าเรารู้ว่าลำดับขั้นทางสังคมและภาษาที่สืบทอดกันมาเป็นประเพณีนั้น ทำให้กัปตันเครื่องบินไม่ได้รับคำเตือนทันเวลา และดังนั้นจึงเพิ่มความเสี่ยงสำหรับผู้โดยสาร บริษัทก็สามารถจ้างคนนอกให้ฝึกฝนและฝึกอบรมพนักงานเสียใหม่ แบบที่สายการบิน Korean Airlines ทำ และท้ายที่สุด Gladwell เสนอว่า ถ้าเด็กชาวอเมริกันโดยเฉพาะในเขตยากจนในตัวเมืองเรียนไม่ทันเพื่อนร่วมชั้นชาวเอเชีย โรงเรียนก็ควรพิจารณาขยับขยายระยะเวลาของปีการศึกษาออกไปให้นานกว่าเดิม

แน่นอนว่าใครก็ตามที่ชื่นชอบส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างการเล่าเรื่องราวกับหลักวิชาสังคมศาสตร์ใน The Tipping Point จะต้องชอบ Outliers - หนังสือดีอ่านสนุกที่จะเปิดโลกและเปิดใจผู้อ่านให้ตระหนักอีกครั้งหนึ่งว่า การถกเถียงกันว่านิสัยและแบบแผนของชีวิตมนุษย์ขึ้นอยู่กับอะไรมากกว่ากัน ระหว่างพันธุกรรมกับการเลี้ยงดูนั้น บางทีอาจจะเป็นการถกเถียงที่ไร้คำตอบและไม่สำคัญเท่าไรนักในภาพรวม เพราะท้ายที่สุดแล้วชีวิตของคนเราทุกคนย่อมไม่ได้ขึ้นอยู่กับพันธุกรรมและการเลี้ยงดูเพียงสองอย่างเท่านั้น หากขึ้นอยู่กับการกระทำของตัวเราเองเป็นสำคัญ :D (หน้าพิเศษ D-Life)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นล่าสุด

Recent Comments Widget